12 ตุลาคม 2552

มารู้จัก..โรคราสนิมของข้าวโพด

โรคราสนิม (southern corn rust)
โรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อ Puccinia polysora Underw พบครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาโดย Underwood โดยเข้าทำลายพืชที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับข้าวโพดคือ Tripsacum dactyloides ในรัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา ต่อมาพบในพืช Erianthus ซึ่งเป็นพืชตระกูลหญ้าซึ่งมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับอ้อย ส่วนการเข้าทำลายข้าวโพดครั้งแรกรายงานโดย Cummins ( Orian, 1954; Ullstrup, 1950) โรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora ระบาดแพร่หลายในเขตร้อนชื้น (tropical) และกึ่งร้อนชื้น (subtropical) ในปี ค.ศ. 1949 พบการระบาดที่อัฟริกา (Robinson, 1973) ปี 1949 เริ่มระบาดแถบ corn belt หลังจากนั้นเริ่มกระจายออกไปในหลายพื้นที่ปลูก 

สำหรับประเทศไทยโรคราสนิมมีความสำคัญยิ่งโรคหนึ่ง มีรายงานการระบาดของโรคราสนิม ในปี พ.ศ. 2527 โดยสร้างความเสียหายให้กับข้าวโพดในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (อุดม, 2529) นอกจากนี้ยังพบการระบาดในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง เช่น การปลูกข้าวโพดหวานเพื่ออุตสาหกรรม อีกประการหนึ่งคือการกระจายของน้ำฝนไม่สม่ำเสมอ ทำให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีหลายฤดูปลูก จึงมีพืชอาศัยของโรคตลอดทั้งปีเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่ต้นที่ปลูกภายหลัง ปลายฤดูฝน (สิงหาคม-พฤศจิกายน) เป็นช่วงที่เกิดโรครุนแรงที่สุด (ประชุม และคณะ, 2546) การเขตกรรมและพันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกมีผลต่อการระบาดของโรคราสนิม (southern rust) (Futrell, 1975) ปัจจุบันแหล่งที่พบว่ามีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ได้แก่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เลย เชียงใหม่ ตาก และ สงขลา (ชุติมันต์ และเตือนใจ, 2545) 



อาการของโรค ลักษณะอาการของโรคราสนิม (Southern rust) จะเกิดตุ่มนูนของสปอร์ (pustule) ขนาด 0.2-1.3 มิลลิเมตร ตุ่มสปอร์ของโรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora ต่างจากตุ่มสปอร์ที่เกิดจากเชื้อรา P. sorghi ทั้งขนาด รูปร่าง และสี นอกจากนี้ลักษณะแตกต่างที่สำคัญคือโรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora จะมีความรุนแรงมากกว่า สามารถทำให้ข้าวโพดแห้งตายได้ (Rodriguez-Ardon et al., 1980) ตุ่มของสปอร์ของโรคราสนิมเกิดได้ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ แต่จะพบมากด้านบนของใบ โรคราสนิมสามารถเกิดได้ทุกส่วนของพืช ไม่ว่าบนใบ กาบใบ ลำต้น กาบหุ้มฝัก และช่อดอกตัวผู้ ระยะแรกตุ่มสปอร์จะมีสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อตุ่มสปอร์แตกออกจะพบผงสีสนิมเหล็ก เป็นหน่วยสืบพันธุ์ของเชื้อที่เรียกว่า uredospore 

ความเสียหายที่เกิดจากโรคราสนิม เมื่อเชื้อสาเหตุโรคราสนิมเข้าทำลายข้าวโพดจะทำให้พื้นที่ใบสูญเสียการสังเคราะห์แสง เกิดอาการใบซีด (chlorosis) และใบแก่เร็วขึ้นทำให้การสร้างเมล็ดไม่สมบูรณ์จึงมีผลต่อผลผลิต ความเสียหายของผลผลิตมีมากขึ้นเมื่อข้าวโพดถูกทำลายเมื่อข้าวโพดยังเล็กและโรคราสนิมลามขึ้นไปถึงใบที่อยู่เหนือฝัก (Biswanath, 2008) ความเสียหายของผลผลิตข้าวโพดเนื่องมาจากการทำลายของโรคราสนิมนอกจากจะขึ้นกับอาการของโรคแล้ว ยังขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ข้าวโพด ตลอดจนปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเจริญของข้าวโพด เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้นในดิน ซึ่งจะทำให้ข้าวโพดที่เป็นโรคระดับเดียวกันเป็นโรครุนแรงต่างกันได้ Pataky และ Eastburn (1993) รายงานความเสียหายในข้าวโพดหวานที่มีระดับความต้านทานแตกต่างกัน ในข้าวโพดหวานพันธุ์ต้านทานที่เป็นโรคราสนิม 1-20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผลผลิตลดลง 0-12 เปอร์เซ็นต์ พันธุต้านทานปานกลางที่เป็นโรค 8-30 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตจะลดลง 5-18 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์อ่อนแอปานกลางที่เป็นโรครุนแรง 15-40 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตจะลดลง 9-24 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์อ่อนแอที่เป็นโรครุนแรง 25-75 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตลดลง 15-45 เปอร์เซ็นต์ 

การป้องกันกำจัด การจัดการโรคทำได้หลายวิธีการตั้งแต่การใช้พันธุ์ต้านทาน การใช้สารเคมีและการจัดการด้านเขตกรรม ปกติโรคที่เข้าทำลายข้าวโพดในระยะออกดอก หรือหลังออกดอก แนวทางการแก้ไขคือต้องปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานต่อโรคนี้ (ประชุม et al., 2549) ซึ่งจะมีการคัดเลือกเชื้อพันธุกรรมข้าวโพดที่มีลักษณะต้านทานทั้งแบบคุณภาพและปริมาณ (Chavez-Medina et al., 2007) มาใช้เป็นแหล่งในการสร้างพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานต่อโรค ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันโรคนี้ไว้ด้วยสำหรับแก้ปัญหาในระยะสั้น

ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเมื่อพบโรคราสนิมในข้าวโพด มีข้อควรพิจารณาหลายประการ เช่น ความคุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ การใช้สารเคมีควรคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ ควรพ่นเมื่อเริ่มมีอาการของโรคในพันธุ์อ่อนแอที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตและผลตอบแทนคุ้มค่า เช่น ในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม หรือแปลงผลิตสายพันธุ์แท้ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ-แม่ และตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิ และความชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการแพร่ระบาดของโรคด้วย หากมีสภาพแวดล้อมต่อการเกิดโรคเหมาะสม ควรพิจารณาป้องกันกำจัด 

การป้องกันกำจัดให้พ่นด้วยสารกำจัดโรคพืช ไดฟีโนโคนาโซล (difenoconazole) หรือ ไซโปรโคนาโซล (cyproconazole) เมื่อข้าวโพดเริ่มแสดงอาการจึงจะได้ผลดี (สมเกียรติ และดิลก, 2533) นอกจากนี้ยังพบว่า ไดฟีโนโคนาโซล 15% + โพรพิโคนาโซล 15% อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีที่สุดและให้ผลผลิตสูงที่สุด (ประชุม et al., 2549) 

คำแนะนำสำหรับการป้องกันกำจัดโรคราสนิมของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีเนื่องจากเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติและไม่คุ้มต่อการลงทุน ดังนั้นการแนะนำให้เกษตรปลูกพันธุ์ต้านทานต่อโรคเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด (เบญจพรรณ, 2546)

ตุ่มสปอร์ (pustule) บนใบข้าวโพด เมื่อแตกออก จะ เห็น uredospores จำนวนมาก

ลักษณะ uredospore ของเชื้อรา P. polysora

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา