23 มีนาคม 2559

เตือนภัย การระบาดของไรแดงในมันสำปะหลัง

ช่วงนี้ของทุกๆ ปี มีสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เหมาะสมต่อการระบาดของไรแดง ซึ่งเริ่มพบแล้วในหลายพื้นที่ เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการทำลายของไรแดงตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ป้องกันกำจัดทันก่อนที่จะมีการระบาดรุนแรงซึ่งสามารถทำความเสียหายต่อผลผลิต


ไรแดง เป็นศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลัง ที่มักระบาดในฤดูแล้ง หรือ เมื่อฝนทิ้งช่วง โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้สูญเสียคลอโรฟิลล์ หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น ทำให้ผิวใบด้านบนเป็นจุดด่างประสีเหลืองซีด ยอดไหม้ ใบเหี่ยวแห้ง และร่วง หากเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดไรได้ทัน ก็จะสามารถยับยั้งการระบาดได้


ในสภาพธรรมชาติ แปลงมันสำปะหลังจะมีศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายแมลงศัตรูพืชอยู่มาก แต่ระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย ประกอบกับปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการระบาด จึงมีการทำลายของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง ไรแดง และแมลงหวี่ขาว รุนแรงมากขึ้น


กรณีที่ไรแดงระบาดรุนแรง กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำชนิดและอัตราของสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการกำจัด ดังนี้


- ไพริดาเบน (pyridaben) 20% ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร


- เฟนบูทาติน ออกไซด์ (fenbutatin oxide) 55% เอสซี อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร


- สไปโรมีซิเฟน (spiromesifen) 24% เอสซี อัตรา 6 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร


- เตตราไดฟอน (tetradifon) 7.25% อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

- อามีทราซ (amitraz) 20% อีซี อัตรา 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร


ในการใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานต่อสาร


ลักษณะการทำลายของไรแดง


ภาพที่ 1 อาการเริ่มแรกที่เกิดจากการทำลายของไรแดง ใบเกิดจุดประสีขาว


ภาพที่ 2 พลิกดูใต้ใบจะเห็นตัวไรแดง ลักษณะเป็นจุดแดงขนาดเล็ก


ภาพที่ 3 ไรแดงทำลายอย่างรุนแรง ใบเริ่มเป็นสีน้ำตาล


ภาพที่ 4 หากไม่มีการป้องกันกำจัดไรแดงที่เหมาะสมทำให้ใบไหม้ แห้ง



ข้อมูล:กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

เนื้อหา