7 สิงหาคม 2551

สัมมนาเกษตรกรต้นแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์


นายบุญเกื้อ ภูศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ การสร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 ณ ห้องประชุม อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ให้แก่เกษตรกรที่เป็นผู้นำในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 84 ราย กิจกรรมในภาคเช้า มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อสัมมนาในแปลงต้นแบบด้านการจัดการดิน ด้านเขตกรรม และด้านพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของการดูงานภาคสนามศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์เปิดให้ชมแปลงสาธิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ดีเด่นของกรมวิชาการเกษตรและพันธุ์ลูกผสมของบริษัทเอกชน เพื่อประเมินความพึงพอใจในพันธุ์ข้าวโพด กิจกรรมช่วงบ่ายมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง การสร้างเครือข่ายเกษตรกร โดย ดร. ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ จากมูลนิธิพลังนิเวศน์และชุมชน หลังจากนั้น นายชลวุฒิ ละเอียด นักวิชาการเกษตร 8ว หัวหน้าโครงการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบและเครือข่ายเกษตรกรในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำทีมนักวิชาการเกษตรอภิปรายกลุ่มร่วมกับเกษตรกร ในหัวข้อ เทคนิคการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นายชลวุฒิ ละเอียด ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การสัมมนาครั้งนี้นอกจากให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้วยังเป็นการระดมความรู้และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากเกษตรกรผู้นำ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยและจากเกษตรกรที่หลากหลาย
การสัมมนากลุ่มย่อยด้านเขตกรรม
ชมแปลงสาธิตด้านการจัดการเขตกรรม


สัมมนากลุ่มย่อยด้านพันธุ์ข้าวโพด

สัมมนากลุ่มย่อยด้านการจัดการดิน
บรรยายพิเศษ โดย ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์


เกษตรกรให้ความสนใจซักถาม

1 สิงหาคม 2551

การระบาดของโรคใบไหม้มันสำปะหลัง

สถานการณ์การระบาด
ช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม ในปีที่มีฝนตกติดต่อกัน มักพบการระบาดของโรคใบไหม้ในหลายพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากมีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเกิดโรค ปีนี้ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้รับแจ้ง ให้เข้าไปตรวจสอบลักษณะอาการผิดปกติในแปลงเกษตรกรประมาณ 20 ราย นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งว่ามีการระบาดของโรคใบไหม้ในพื้นที่ อ.แม่วงก์ และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อีกด้วย

หลังจากเข้าไปตรวจสอบ พบการระบาดรุนแรงในมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ทางศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ได้อธิบายและทำความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสมแก่เกษตรกร ซึ่งแม้ว่าพันธุ์นี้เป็นโรคได้ง่ายกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่อาการไม่รุนแรงถึงกับทำให้ตาย

โรคใบไหม้ (Cassava Bacterial Blight : CBB)

  • เกิดจาก
    เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. manihotis
มีรายงานการพบครั้งแรกในประเทศบราซิลในปี 2455 หลังจากนั้นมีรายงานการแพร่ระบาดเกือบทุกประเทศที่มีการปลูกมันสำปะหลังทั้งทวีปเอเชีย และลาตินอเมริกา
ในประเทศไทยพบครั้งแรกที่จังหวัดระยอง เมื่อปี 2518 และต่อมาพบทั่วทุกภาค ระดับความเสียหายเนื่องจากโรคนี้มีตั้งแต่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้ท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรคและใช้ต้นพันธุ์ที่เป็นโรคติดต่อกัน 3 ถึง 4 ปี โดยไม่มีการป้องกันกำจัด อาจมีความเสียหายถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ระดับความเสียหายจะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การใช้ท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อปะปนมา (Contaminated cutting) ปลูกในแปลงและความเสียหายอาจรุนแรงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ความเสียหายจากโรคใบไหม้ในประเทศไทยจัดอยู่ในระดับปานกลาง
  • ลักษณะอาการ
เริ่มแรกแสดงอาการใบจุดเหลี่ยม ฉ่ำน้ำ ใบไหม้ ใบเหี่ยว ยางไหลจนถึงอาการยอดเหี่ยวและแห้งตายลงมา นอกจากนี้ยังทำให้ระบบท่อน้ำอาหารของลำต้นและรากเน่า

แผลฉ่ำน้ำ รูปร่างเหลี่ยมตามเส้นใบ



ใบมันสำปะหลังเป็นแผลสีน้ำตาล อาจลามติดกันทำให้ใบไหม้แห้ง



การระบาดของโรคในสภาพไร่
  • การสังเกตอาการเมื่อใช้ท่อนพันธุ์ที่ติดโรคมาปลูก
ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค แสดงอาการ คือ ยอดที่ผลิตใหม่ เหี่ยว มียางไหล และมีอาการแห้งตายจากยอดอย่างรวดเร็ว และแพร่ระบาดไปยังต้นข้างเคียง ซึ่งมักจะแสดงอาการเป็นจุดช้ำเล็กที่ต้น แล้วแผลขยายใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มลุกลามเป็นแผลใหญ่ บางครั้งจะพบวงสีเหลือง (yellow halo) ลามเป็นใบไหม้ และใบร่วง ลำต้นแห้งตาย เมื่อผ่าดูระบบท่อน้ำและอาหารทั้งของลำต้น และราก จะมีสีคล้ำ เนื่องจากเนื้อเยื่อของส่วนนี้ถูกทำลาย ในบางครั้งจะพบอาการยางไหลบนส่วนลำต้นที่ยังอ่อนหรือก้านใบ และแผลจุดบนใบ พบระบาดมากได้ในช่วงฤดูฝน
  • การแพร่ระบาด
การแพร่ระบาดของโรคที่สำคัญ คือ ติดไปกับท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค แพร่กระจายไปโดยฝนหรือกับดิน หรือกับเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร เช่น มีดที่ใช้ในการตัดท่อนพันธุ์ ในบางประเทศมีรายงานว่า แมลงเป็นตัวการในการแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุของโรคสามารถอยู่รอดในดินบนเศษซากพืชได้นานกว่า 2 ปี
  • การป้องกันกำจัด
    1. ใช้พันธุ์ต้านทาน พันธุ์ที่แนะนำในปัจจุบัน มีความต้านทานต่อโรคปานกลาง
    2. ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อ
    3. ปลูกพืชอายุสั้นเป็นพืชหมุนเวียน หรือหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในแปลงที่ระบาดรุนแรงนาน 6 เดือน
ข้อมูลจาก http://210.246.186.28/fieldcrops/cas/pest/p01.HTM

เนื้อหา