20 ธันวาคม 2551

คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ จ.นครสวรรค์

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้เปิดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ ในพระราชานุเคราะห์ฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2552 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 ณ โรงเรียนบ้านหนองดู่ ม. 5 ต.ทุ่งทอง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา (วันที่ 9 ธันวาคม)

นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ซึ่งรับผิดชอบคลินิกพืช ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านพันธุ์พืช ได้แก่ มันสำปะหลังพันธุ์ดี ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวพันธุ์นครสวรรค์ 3 และนิทรรศการด้านพืชชนิดอีกหลายชนิด เช่น ข้าวโพดหวาน การปลูกพืชผัก โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่มาขอรับการปรึกษาปัญหาการผลิตพืช ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการใช้พันธุ์มันสำปะหลังไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ผลผลิตข้าวโพดคุณภาพต่ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ผลการดำเนินงาน มีเกษตรกรเข้าร่วมงานทั้งสิ้นประมาณ 800 ราย เข้ารับคำปรึกษาปัญหาด้านการผลิตพืชในคลินิกพืช จำนวน 55 ราย











2 ธันวาคม 2551

เตือนภัย...การระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพดหวาน

โรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพดหวาน มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Exserohilum turcicum โรคนี้ระบาดทั่วไปโดยเฉพาะในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพดหวานติดต่อกันหลายปี เช่น ในจังหวัดทางภาคเหนือ และจังหวัดอื่นๆ เช่น กาญจนบุรี ตาก และในอีกหลายพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ ปัจจัยที่เอื้อให้การระบาดมีความรุนแรง ได้แก่ สภาพอากาศที่หนาวเย็น มีน้ำค้างแรงในตอนกลางคืน เมื่อข้าวโพดหวานเป็นโรคใบไหม้แผลใหญ่จะกระทบต่อผลผลิตและคุณภาพอย่างมาก




ลักษณะของเชื้อราสาเหตุ Exerohilum turcicum
ลักษณะอาการ
เกิดโรคได้กับทุกส่วน โดยเฉพาะบนใบ นอกจากนี้พบที่กาบใบ ลำต้น และฝัก โดยเกิดเป็นแผลมีขนาดใหญ่สีเทา หรือสีน้ำตาล มีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย อาการจะเกิดกับใบล่าง ๆ ก่อน แผลมีขนาดยาว 2.5-15 ซม. ใบที่มีอาการรุนแรงแผลจะขยายตัวรวมกันเป็นแผลใหญ่ทำให้ใบไหม้และแห้งตายในที่สุด
แผลรูปกระสวย ยาวตามเส้นใบ พันธุ์อ่อนแอต่อโรคแผลลามติดกันทำให้ใบไหม้ทั้งใบ
โรคใบไหม้แผลใหญ่ทำให้ผลผลิตเสียหายมากกว่า 50 % ในด้านคุณภาพพบว่าทำให้ฝักข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ฝักบิดเบี้ยว การติดเมล็ดไม่เต็ม

การแพร่ระบาดเชื้อราจะสร้างสปอร์บนแผล และสปอร์ก็จะแพร่ไปโดยลม ฝน เมื่อมีความชื้นสปอร์จะงอกเข้าทำลายใบข้าวโพดและแสดงอาการของโรคในส่วนอื่น ๆ ต่อไป เชื้อจะสร้างสปอร์จำนวนมากในสภาพความชื้นสูง และมีอุณหภูมิระหว่าง 18-27 องศาเซลเซียส ถ้าข้าวโพดเกิดโรคก่อนออกไหมทำให้ผลผลิตลดได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูในเศษซากข้าวโพด

การป้องกันกำจัด1. หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอ ตั้งแต่ระยะกล้า เมื่อพบโรคในระยะเริ่มแรก ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้
· โพรพิโคนาโซล อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
· คาร์เบนดาซิม + อีพอกซี่โคนาโซล อัตรา 25 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
· โพรพิโคนาโซล + ไดฟีโนโคนาโซล อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
การพ่นด้วยสารกำจัดโรคพืชให้พ่น 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน ไม่ควรใช้สารชนิดเดียวกันเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้เชื้อสาเหตุเกิดการดื้อต่อสารป้องกันกำจัดโรค

*** การควบคุมโรคด้วยสารเคมีกำจัดโรคพืชจะให้ผลดีเมื่อพ่นในระยะที่ข้าวโพดเริ่มแสดงอาการ ***

2. ทำลายข้าวโพดที่เป็นโรคและเศษซากของข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว เพราะเชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูบนเศษซากข้าวโพดได้

3. หลีกเลี่ยงฤดูปลูกให้ไม่ตรงกับช่วงที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการระบาดของโรค

19 พฤศจิกายน 2551

เตือนภัย...การระบาดของแมลงศัตรูพืชในหน้าแล้ง

เมื่อถึงฤดูแล้ง สภาพบรรยากาศมีความชื้นต่ำติดต่อกันหลายเดือน เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดและเพิ่มปริมาณของแมลงศัตรูพืชซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ชนิดของแมลงศัตรูที่พบระบาดในหน้าแล้ง ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว และไรแดง สามารถทำความเสียหายให้กับพืชที่ปลูกได้ เกษตกรควรหมั่นตรวจสอบพืชของตนเอง หากพบการระบาดในระยะเริ่มแรกซึ่งยังมีปริมาณน้อย ให้กำจัดโดยวิธีกล เช่น ใช้มือขยี้ทำลาย หรือฉีดพ่นด้วยน้ำ หากปล่อยให้มีการเพิ่มปริมาณมากจะทำให้การป้องกันกำจัดไม่ได้ผล เช่น การระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังขณะฝนทิ้งช่วงในบางท้องที่ ทำให้เกิดความเสียหายมาก

สำหรับมันสำปะหลังมีแมลงศัตรูที่พบระบาด และมีลักษณะการทำลายและการป้องกันกำจัดดังต่อไปนี้

เพลี้ยแป้งลาย

เพลี้ยแป้งลาย เป็นแมลงปากดูด ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด และส่วนตา

ลักษณะของเพลี้ยแป้ง
ตัวเต็มวัย มีลักษณะตัวบนหลังและด้านข้างมีแป้งปกคลุมมาก มีทั้งชนิดอกลูกเป็นไข่ และออกลูกเป็นตัว

ลักษณะการทำลายเพลี้ยแป้งถ่ายมูลของเหลวทำให้เกิดราดำ (Sooty Mold) บนใบและส่วนอื่นๆ ของต้นพืช ซึ่งมีผลให้พืชสังเคราะห์แสงได้น้อย การดูดกินน้ำเลี้ยงของเพลี้ยแป้งทำให้การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ ยอดและใบบิดเบี้ยว ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม และอาจมีผลกระทบต่อการสร้างหัวหากพืชยังเล็ก ลำต้นมันสำปะหลังที่มีราดำขึ้นปกคลุมเมื่อนำไปใช้เป็นท่อนพันธุ์อาจทำให้ความงอกลดลงการแพร่ระบาดเพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น ซอกใบ ใต้ใบมันสำปะหลัง ปริมาณจะเพิ่มขึ้นจนเต็มข้อ ตามลำต้น ส่วนใบ ส่วนยอด เพลี้ยแป้งชนิดออกลูกจะเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่าชนิดวางไข่ หากสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จะขยายปริมาณอย่างรวดเร็ว ตัวอ่อนวัย 1 เป็นวัยที่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เป็นวัยสำคัญในการแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่น โดยการติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลมมันสำปะหลังพันธุ์แนะนำ เช่น ระยอง 90 ไม่มีการทำลายของเพลี้ยแป้งในระดับที่ความเสียหาย

แนวทางในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง
1. หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่พืชยังเล็กจะกระทบกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายปริมาณเพลี้ยแป้ง ใช้พันธุ์ที่ทางรัฐบาลแนะนำ
2. เก็บส่วนของพืชที่มีเพลี้ยแป้งออกจากแปลง เผาหรือทำลาย และทำความสะอาดแปลงเก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังเก็บเกี่ยวแล้ว
3. เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติ ทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ
4. ควรใช้สารฆ่าแมลงเมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุ่นแรง พืชเริ่มแสดงอาการถูกทำลาย พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลง ระยะที่เหมาะสมเป็นระยะที่เพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1-2 เนื่องจากยังไม่มีแป้งเกาะตามลำตัว เพราะแป้งจะเป็นเกราะกำบังสารฆ่าแมลงได้อย่างดี พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลงเท่านั้น

แมลงหวี่ขาว

แมลงหวี่ขาว Bemisia tabaci (Aleyrodidae : Homoptera)ทำลายพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด การระบาดตลอดทั้งปี และระบาดรุนแรงในฤดูแล้ง และต้นฤดูฝน ซึ่งมีอากาศร้อน แห้งแล้ง

ลักษณะของแมลงหวี่ขาว

ลักษณะของแมลงหวี่ขาวตัวเต็มวัยเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลืองหรือสีขาว มีปีก 1 คู่ เคลื่อนไหวเมื่อถูกรบกวน วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือชิดติดกันที่ด้านใต้ใบพืช ไข่มีสีเหลืองอ่อนลักษณะยาวเรียวและมีก้านสั้น ๆ ยึดติดกับใบพืช ตัวอ่อนมีรูปร่างคล้ายรูปไข่ ขอบด้านข้างลาดลง สีเหลืองปนเขียว ตัวอ่อนวัยที่ 1 เคลื่อนไหวได้ ตัวอ่อนที่มีอายุมากขึ้นจะเกาะนิ่งอยู่ด้านใต้ใบพืชและดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบเป็นอาหาร

การทำลาย

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ ทำให้ใบเหลืองซีด ถ้าระบาดมากในระยะแรกของการเจริญเติบโต จะทำให้ต้นแคระแกร็น สามารถถ่ายมูลหวานบนใบพืชเช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง และเพลี้ยอ่อน ทำให้เกิดราดำ มีผลทำให้พืชสังเคราะห์แสงลดลง

การป้องกันกำจัดในมันสำปะหลัง
ไม่แนะนำให้พ่นสารกำจัดแมลง เนื่องจากเพิ่มต้นทุนการผลิต และไม่คุ้มทุน หากมีฝนตกปริมาณและความรุนแรงในการระบาดจะลดลง การทำลายของแมลงหวี่ขาวขึ้นกับพันธุ์มันสำปะหลัง ถ้ามันสำปะหลังอายุ 7 เดือนขึ้นไปจะไม่กระทบต่อผลผลิต

ไรแดง

ไรแดงที่ทำลายมันสำปะหลังพบ 2 ชนิด คือ ไรแดงหม่อน และไรแดงมันสำปะหลัง ไรแดงหม่อนทำความเสียหายดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบส่วนล่าง ๆ ของมันสำปะหลัง และขยายปริมาณขึ้นสู่ส่วนยอด ส่วนไรแดงมันสำปะหลังดูดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบส่วนยอด และขยายปริมาณลงสู่ส่วนล่างของลำต้น

ลักษณะของไรแดง

ตัวเต็มวัยมีขา 8 ขา ลำตัวสีแดงเข้ม ส่วนขาไม่มีสี ไรแดงอยู่รวมเป็นกลุ่ม ทำลายทั้งใต้ใบ และบนหลังใบ ตัวเมียขยายพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ (Parthenogenesis) ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ชีพจักรสั้น ตัวเมียวางไข่ได้ 4-13 ฟอง เฉลี่ย 4.79 ฟองต่อวัน ปกติไรแดงจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวไปไกล ๆ โดยใช้เส้นใยสีขาวคล้ายใยแมงมุม ซึ่งใช้เป็นส่วนป้องกันไข่จากศัตรูธรรมชาติ การแพร่กระจายโดยอาศัยกระแสลม การทำความเสียหายจะเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ แล้วกระจายออกเป็นบริเวณกว้าง หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม




การทำลาย

ดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบและใต้ใบ ทำให้ใบมันสำปะหลังเหลืองซีดเป็นรอยขีด ใบม้วนงอและร่วง ส่วนยอดที่ถูกทำลายงองุ้ม ตาลีบ

การป้องกันกำจัด
หากมีการระบาดรุนแรง และมีฝนทิ้งช่วงยาวนาน ควรพ่นด้วย อมิทราช หรือไดโค
ฟอล โดยพ่นเฉพาะต้นที่แสดงอาการ

4 พฤศจิกายน 2551

การปลูกมันสำปะหลังในชุดดินตาคลี

ปัจจุบันมันสำปะหลังเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก พื้นที่ปลูกขยายเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงจูงใจด้านราคา ในการปลูกบางครั้งเกษตรกรขาดความเอาใจใส่ในเรื่องของการเลือกท่อนพันธุ์ที่จะนำมาปลูก และการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก จึงทำให้เกิดปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูที่ติดมากับท่อนพันธุ์ ตลอดจนการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของมันสำปะหลัง

ชุดดินตาคลีเป็นอีกชุดดินหนึ่งที่ใช้ในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ชุดดินตาคลี และชุดดินบึงชนัง มีวัตถุต้นกำเนิดดินมาจากการสลายตัวของหินปูนและหินอัคนีเนื้อละเอียด และเกิดจากมาร์ล จัดอยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 52 เป็นดินตื้นถึงตื้นมาก พบก้อนปูนหรือปูนมาร์ลปนอยู่ในเนื้อดินมากในระดับความลึก 50 เซนติเมตรจากผิวดิน เนื้อดินชั้นบนเป็นดินร่วนเหนียวหรือดินเหนียว ดินชั้นล่างเป็นดินเหนียวปนก้อนปูนหรือปูนมาร์ล มีปฏิกิริยาดินเป็นกลางถึงด่างแก่ มีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 7.0-8.5 มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง มีความลาดเทระหว่าง 1-5 เปอร์เซ็นต์ พบก้อนปูนกระจัดกระจายที่ผิวดินแต่ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มชุดดินที่ 52 แพร่กระจายอยู่ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 1.62 ล้านไร่ โดย 85 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มชุดดินนี้กระจายอยู่ในสี่จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ ปราจีนบุรี กาญจนบุรี และลพบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในปี 2550 รวมกันประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ ถึงจะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่หากมีการจัดการการดินที่เหมาะสมในกลุ่มชุดดินนี้ ก็จะช่วยยกระดับผลผลิตโดยรวมของมันสำปะหลังขึ้นมาได้อีก

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
โดยทั่วไปกลุ่มชุดดินที่ 52 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่และพืชผักหลายชนิด แม้หน้าดินจะตื้นแต่มักจะมีหน้าดินหนามากกว่า 15 เซนติเมตร นอกจากจะมีความอุดมสมบูรณ์สูงแล้วยังมีลักษณะทางกายภาพดีเป็นส่วนใหญ่

ปัญหาและข้อจำกัดในการปลูกพืช
· เนื่องจากเป็นดินตื้นถึงตื้นมาก มีเศษหินปูนหรือก้อนปูนปะปนอยู่กับเนื้อดินและเป็นชิ้นหนา ยากในการที่รากพืชจะชอนไชไปหาอาหาร และยากในการเตรียมดินปลูก
· ดินเป็นด่างจัด ทำให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชบางชนิดถูกตรึงอยู่ในรูปที่ไม่ละลายมาเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส และจุลธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง สังกะสี และโบรอน เป็นต้น
· ดินขาดน้ำและความชื้นไม่พอเพียงในหน้าแล้ง

ข้อแนะนำในการจัดการดินเพื่อให้เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลัง
ดินชุดนี้มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่รากตื้นและพืชผักได้เป็นอย่างดี ถ้าชั้นดินบนไม่มีปูนปะปนอยู่มาก และมีความหนามากกว่า 15 ซ.ม. จากการประเมินชั้นความเหมาะสมของดินกลุ่มนี้โดยกรมพัฒนาที่ดินในการปลูกมันสำปะหลัง พบว่ามีความเหมาะสม เท่ากับ 1 ในดินที่มีหน้าดินหนามากกว่า 25 ซ.ม. และเท่ากับ 1g ในดินที่มีหน้าดินหนาน้อยกว่า 25 ซ.ม. หมายความว่า มีความเหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลัง แต่ถ้ามีหน้าดินหนาน้อยกว่า 25 ซ.ม. มักจะมีชั้นเศษหิน กรวด หรือลูกรังอยู่ตื้น เป็นอุปสรรคต่อการเจริญของรากพืช
ดังนั้นหากต้องการปลูกมันสำปะหลังในกลุ่มชุดดินที่ 52 ควรเลือกดินที่มีหน้าดินหนากว่า 15 ซ.ม. ไม่มีก้อนปูนหรือเศษหินปะปนอยู่มาก

นอกจากนี้การปรับปรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นสิ่งจำเป็น ถึงแม้ว่าชุดดินนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เมื่อเพาะปลูกไปนาน ๆ ความอุดมสมบูรณ์ย่อมลดลง ควรจัดระบบปลูกพืชบำรุงดิน พืชปุ๋ยสดที่แนะนำ ได้แก่ ปอเทือง นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 0.5-1.0 ตันต่อไร่ ช่วยให้ดินร่วนซุยมากขึ้น
การจัดการอีกอย่างหนึ่งคือคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่สามารถขึ้นได้ดีในดินที่เป็นด่างมาปลูกก็จะทำให้การใช้กลุ่มดินชุดที่ 52 มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ลักษณะอาการผิดปกติที่พบในการปลูกมันสำปะหลังในชุดดินตาคลี
จากการปลูกทดสอบมันสำปะหลังในชุดดินตาคลีที่มีเม็ดปูนปนอยู่ในดินชั้นบนมาก ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ต.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ พบว่า ในด้านการเจริญเติบโต มันสำปะหลังเริ่มแสดงอาการผิดปกติเด่นชัดเมื่ออายุ 2 สัปดาห์หลังปลูก โดยมีอาการใบเหลืองซีดที่ใบบน บางพันธุ์แสดงอาการใบเหลืองซีดร่วมกับอาการใบไหม้ และจะแสดงอาการรุนแรงในมันสำปะหลังบางพันธุ์ อาการผิดปกติดังกล่าวเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก จากการสังเกตพบว่าพันธุ์ระยอง 9 จะแสดงอาการรุนแรงที่สุด โดยใบทุกใบเหลืองซีด ใบไหม้และแห้งตายจากใบล่างขึ้นมาใบบน ทำให้มีจำนวนต้นตายสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์อื่น พันธุ์ที่อาจมีความเสี่ยงเมื่อปลูกในดินชุดนี้อีกพันธุ์หนึ่งคือระยอง 7 ซึ่งแสดงอาการใบซีดและใบไหม้ตลอดระยะการเจริญเติบโต พันธุ์ที่พบว่าค่อนข้างทนต่อการปลูกในดินชุดตาคลี  ได้แก่ พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 11 มีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่นำมาทดสอบ ใบมีสีเขียวเกือบปกติ ไม่มีต้นตาย

นอกจากนี้การปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่ไม่ทนต่อชุดดินตาคลีที่มีเม็ดปูนปนอยู่มากและหน้าดินตื้น จะมีผลทำให้ต้นมันสำปะหลังแคระแกร็น ทรงพุ่มเล็ก ต้นตาย ทำให้จำนวนต้นต่อพื้นที่ลดลง ดังนั้นต้นมันสำปะหลังที่เหลืออยู่จึงไม่สามารถแข่งขันกับวัชพืชที่ขึ้นอย่างหนาแน่นได้ การกำจัดวัชพืชต้องทำบ่อยครั้งขึ้น และอาจไม่คุ้มกับผลผลิตที่จะได้


ภาพที่ 1 ลักษณะการเจริญของมันสำปะหลังในดินที่มีเม็ดปูนปะปนในดินชั้นบน


ภาพที่ 2 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 อายุ 2 เดือน


ภาพที่ 3 ความแตกต่างของมันสำปะหลังแต่ละพันธุ์เมื่อปลูกในชุดดินตาคลี แปลงย่อยที่ใบยังเขียวคือพันธุ์ระยอง 5


ภาพที่ 4 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 อายุ 11 เดือน


ภาพที่ 5 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7 อายุ 11 เดือน


ภาพที่ 6 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 อายุ 11 เดือน

ข้อมูลดิน: กรมพัฒนาที่ดิน

23 กันยายน 2551

ดูงาน National Institute of Science สาธารณรัฐเกาหลี

เมื่อวันที่ 3-9 กันยายน 2551 คณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ จำนวน 3 ราย ได้เดินทางไปดูงานที่หน่วยงายวิจัยด้านการเกษตร National Institute of Crop Science , RDA ของสาธารณรัฐเกาหลี



7 สิงหาคม 2551

สัมมนาเกษตรกรต้นแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์


นายบุญเกื้อ ภูศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ การสร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 ณ ห้องประชุม อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ให้แก่เกษตรกรที่เป็นผู้นำในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 84 ราย กิจกรรมในภาคเช้า มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อสัมมนาในแปลงต้นแบบด้านการจัดการดิน ด้านเขตกรรม และด้านพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของการดูงานภาคสนามศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์เปิดให้ชมแปลงสาธิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ดีเด่นของกรมวิชาการเกษตรและพันธุ์ลูกผสมของบริษัทเอกชน เพื่อประเมินความพึงพอใจในพันธุ์ข้าวโพด กิจกรรมช่วงบ่ายมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง การสร้างเครือข่ายเกษตรกร โดย ดร. ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ จากมูลนิธิพลังนิเวศน์และชุมชน หลังจากนั้น นายชลวุฒิ ละเอียด นักวิชาการเกษตร 8ว หัวหน้าโครงการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบและเครือข่ายเกษตรกรในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำทีมนักวิชาการเกษตรอภิปรายกลุ่มร่วมกับเกษตรกร ในหัวข้อ เทคนิคการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นายชลวุฒิ ละเอียด ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การสัมมนาครั้งนี้นอกจากให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้วยังเป็นการระดมความรู้และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากเกษตรกรผู้นำ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยและจากเกษตรกรที่หลากหลาย
การสัมมนากลุ่มย่อยด้านเขตกรรม
ชมแปลงสาธิตด้านการจัดการเขตกรรม


สัมมนากลุ่มย่อยด้านพันธุ์ข้าวโพด

สัมมนากลุ่มย่อยด้านการจัดการดิน
บรรยายพิเศษ โดย ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์


เกษตรกรให้ความสนใจซักถาม

1 สิงหาคม 2551

การระบาดของโรคใบไหม้มันสำปะหลัง

สถานการณ์การระบาด
ช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม ในปีที่มีฝนตกติดต่อกัน มักพบการระบาดของโรคใบไหม้ในหลายพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากมีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเกิดโรค ปีนี้ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้รับแจ้ง ให้เข้าไปตรวจสอบลักษณะอาการผิดปกติในแปลงเกษตรกรประมาณ 20 ราย นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งว่ามีการระบาดของโรคใบไหม้ในพื้นที่ อ.แม่วงก์ และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อีกด้วย

หลังจากเข้าไปตรวจสอบ พบการระบาดรุนแรงในมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ทางศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ได้อธิบายและทำความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสมแก่เกษตรกร ซึ่งแม้ว่าพันธุ์นี้เป็นโรคได้ง่ายกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่อาการไม่รุนแรงถึงกับทำให้ตาย

โรคใบไหม้ (Cassava Bacterial Blight : CBB)

  • เกิดจาก
    เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. manihotis
มีรายงานการพบครั้งแรกในประเทศบราซิลในปี 2455 หลังจากนั้นมีรายงานการแพร่ระบาดเกือบทุกประเทศที่มีการปลูกมันสำปะหลังทั้งทวีปเอเชีย และลาตินอเมริกา
ในประเทศไทยพบครั้งแรกที่จังหวัดระยอง เมื่อปี 2518 และต่อมาพบทั่วทุกภาค ระดับความเสียหายเนื่องจากโรคนี้มีตั้งแต่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้ท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรคและใช้ต้นพันธุ์ที่เป็นโรคติดต่อกัน 3 ถึง 4 ปี โดยไม่มีการป้องกันกำจัด อาจมีความเสียหายถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ระดับความเสียหายจะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การใช้ท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อปะปนมา (Contaminated cutting) ปลูกในแปลงและความเสียหายอาจรุนแรงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ความเสียหายจากโรคใบไหม้ในประเทศไทยจัดอยู่ในระดับปานกลาง
  • ลักษณะอาการ
เริ่มแรกแสดงอาการใบจุดเหลี่ยม ฉ่ำน้ำ ใบไหม้ ใบเหี่ยว ยางไหลจนถึงอาการยอดเหี่ยวและแห้งตายลงมา นอกจากนี้ยังทำให้ระบบท่อน้ำอาหารของลำต้นและรากเน่า

แผลฉ่ำน้ำ รูปร่างเหลี่ยมตามเส้นใบ



ใบมันสำปะหลังเป็นแผลสีน้ำตาล อาจลามติดกันทำให้ใบไหม้แห้ง



การระบาดของโรคในสภาพไร่
  • การสังเกตอาการเมื่อใช้ท่อนพันธุ์ที่ติดโรคมาปลูก
ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค แสดงอาการ คือ ยอดที่ผลิตใหม่ เหี่ยว มียางไหล และมีอาการแห้งตายจากยอดอย่างรวดเร็ว และแพร่ระบาดไปยังต้นข้างเคียง ซึ่งมักจะแสดงอาการเป็นจุดช้ำเล็กที่ต้น แล้วแผลขยายใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มลุกลามเป็นแผลใหญ่ บางครั้งจะพบวงสีเหลือง (yellow halo) ลามเป็นใบไหม้ และใบร่วง ลำต้นแห้งตาย เมื่อผ่าดูระบบท่อน้ำและอาหารทั้งของลำต้น และราก จะมีสีคล้ำ เนื่องจากเนื้อเยื่อของส่วนนี้ถูกทำลาย ในบางครั้งจะพบอาการยางไหลบนส่วนลำต้นที่ยังอ่อนหรือก้านใบ และแผลจุดบนใบ พบระบาดมากได้ในช่วงฤดูฝน
  • การแพร่ระบาด
การแพร่ระบาดของโรคที่สำคัญ คือ ติดไปกับท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค แพร่กระจายไปโดยฝนหรือกับดิน หรือกับเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร เช่น มีดที่ใช้ในการตัดท่อนพันธุ์ ในบางประเทศมีรายงานว่า แมลงเป็นตัวการในการแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุของโรคสามารถอยู่รอดในดินบนเศษซากพืชได้นานกว่า 2 ปี
  • การป้องกันกำจัด
    1. ใช้พันธุ์ต้านทาน พันธุ์ที่แนะนำในปัจจุบัน มีความต้านทานต่อโรคปานกลาง
    2. ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อ
    3. ปลูกพืชอายุสั้นเป็นพืชหมุนเวียน หรือหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในแปลงที่ระบาดรุนแรงนาน 6 เดือน
ข้อมูลจาก http://210.246.186.28/fieldcrops/cas/pest/p01.HTM

23 มิถุนายน 2551

การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายสีธรรมชาติเพื่อหัตถกรรมสิ่งทอ

ปริญญา สีบุญเรือง

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ผ้าฝ้ายทอมือตากฟ้า
ผลแห่งความสำเร็จจากงานวิจัย ของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ในปี 2544 ส่งผลให้ฝ้ายพันธุ์ใหม่ ที่มีเส้นใยยาวในชื่อว่า “ตากฟ้า 2” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
แต่กลับไม่ได้รับการต้อนรับที่ดี เมื่อราคารับซื้อฝ้ายในปีนั้นต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีแนวความคิดที่สอดคล้องกันจากบุคคลหลายฝ่ายที่จะนำฝ้ายพันธุ์ใหม่นี้ มาปั่นเป็นเส้นด้ายด้วยมือและนำไปทอเป็นผืนผ้า เพื่อยกระดับมูลค่าของผลผลิต โดยได้รับความช่วยเหลือและร่วมมือร่วมใจกันจากสมาคมอุตสาหกรรมฝ้ายไทย พัฒนาชุมชนอำเภอตากฟ้า และโครงการฝ้ายแกมไหมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เกิดกระบวนการผลิต “ผ้าฝ้ายทอมือตากฟ้า” ขึ้นมา โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของการปลูกฝ้าย การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวปุยฝ้าย จนกระทั่งการนำปุยฝ้ายไปหีบเพื่อแยกปุยออกจากเมล็ด
จากนั้นจึงนำปุยฝ้ายที่ได้ไปทำการปั่นเป็นเส้นด้ายด้วยเครื่องเมเดลรีจักราที่พัฒนาโดยโครงการฝ้ายแกมไหม จากเส้นด้ายนำไปสู่กระบวนการทอเป็นผืนผ้า เป็นการสร้างงานให้กับชุมชนในหลายหมู่บ้านของหลายอำเภอ ในจังหวัดนครสวรรค์
จากการผลิตที่ชุมชนมีส่วนร่วม และด้วยความสวยงามของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผ้าฝ้ายทอมือตากฟ้า ได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว ประจำจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นกระบวนการปั่นเส้นด้ายจากพันธุ์ฝ้ายเส้นใยยาว “ตากฟ้า 2“ โดยเครื่องเมเดลรีจักราก็เป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับ และแพร่หลายจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหลายหมู่บ้าน หลายตำบล หลายอำเภอ และหลายจังหวัด แต่พื้นที่การปลูกฝ้ายพันธุ์นี้กลับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ความต้องการเส้นใยจากฝ้าย
ถึงแม้ว่าฝ้ายจะยังคงเป็นพืชเส้นใยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการใช้เป็นวัตถุดิบหลัก สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในประเทศ ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันสิ่งทอจากเส้นใยประดิษฐ์จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่สิ่งทอจากฝ้ายซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดเช่นเดิม และยังขยายไปสู่หัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้านที่ทำรายได้ให้แก่ชุมชนในรูปของหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แต่พื้นที่การปลูกฝ้ายของประเทศกลับลดลงมาโดยตลอด ส่งผลให้ผลผลิตฝ้ายของประเทศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ภายในประเทศ ทำให้ไทยติดลำดับหนึ่งในสิบของประเทศผู้นำเข้าฝ้ายมากที่สุดเของโลก โดยในปี 2550 มีการนำเข้าฝ้ายถึง 398,840 ตัน คิดเป็นมูลค่า 18.86 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาสำคัญคือแมลง โดยเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้าย ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เข่น อ้อย และ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่ายกว่า แต่ให้
ผลตอบแทนที่สูงกว่า

เพิ่มคุณค่าฝ้ายไทย...การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายสีธรรมชาติ
ดังนั้นสิ่งที่จะจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกฝ้ายจึงควรมุ่งไปที่การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หรือหัตถกรรมสิ่งทอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงาม และมีความทันสมัยดึงดูดใจผู้บริโภค
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์จึงได้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ฝ้ายของไทยให้มีคุณภาพเส้นใยที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่สีตามธรรมชาติของเส้นใย สำหรับเป็นทางเลือกใหม่ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตฝ้ายให้แก่เกษตรกร และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลอดจนยกระดับหัตถกรรมสิ่งทอของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการลดมลภาวะน้ำเสียที่เกิดจากการฟอกย้อม โดยทำการผสมพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 2 กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว เป็นคู่ผสมที่1 และทำการผสมพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 2 กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาล เป็นคู่ผสมที่ 2 ในปี 2543 และทำการผสมกลับ 4-5 ชั่ว ระหว่างปี 2545-2546 โดยในการผสมกลับแต่ละครั้งจะทำการเก็บเกี่ยวเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียวในคู่ผสมแรก และ ให้เส้นใยสีน้ำตาลในคู่ผสมที่ 2 จากนั้นทำการปลูกคัดเลือกเพื่อให้ได้ฝ้ายสายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะเหมือนพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่โดดเด่นกว่า คือมีเส้นใยสีเขียว 1 พันธุ์ และสีน้ำตาลอีก 1 พันธุ์ เพื่อนำไปประเมินผลผลิต และการยอมรับของเกษตรกรตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแนะนำและเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรต่อไป

ในระหว่างที่ขั้นตอนการพัฒนาพันธุ์ยังไม่สิ้นสุด กระบวนการทดสอบความต้องการของตลาด และการยอมรับในฝ้ายเส้นใยสีเขียว และสีน้ำตาล สำหรับหัตถกรรมสิ่งทอก็ได้ดำเนินการควบคู่กันไปกับการพัฒนาพันธุ์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับกลับมาปรับปรุงแก้ไข สำหรับพัฒนาพันธุ์ฝ้ายให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ด้วยการนำผลผลิตฝ้ายที่ได้มาจากการคัดเลือกปีแล้วปีเล่า ทั้งฝ้ายเส้นใยเขียว และฝ้ายเส้นใยน้ำตาลไปมอบให้แก่กลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอ เพื่อนำไปทดลองปั่นเป็นเส้นด้าย และนำเส้นด้ายไปทอเป็นลวดลาย หรือเป็นผืนผ้าต่อไป

เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือด้วยการออกร้านเดินสายทั่วประเทศในรูปของ OTOP ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มผู้ทอผ้ามีความตื่นตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร แต่ในขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม ทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์แห่งความเป็นผ้าฝ้ายทอมือตามธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่เสน่ห์จากการปั่นเส้นด้ายหรือการเข็นฝ้ายที่ยังคงสืบทอดประเพณีอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน การแลกเปลี่ยนความรู้ในขบวนการอิ้ว เพื่อแยกเอาปุยฝ้ายออกจากเมล็ด จากนั้นนำปุยฝ้ายไปผึ่งแดด แล้วจึงดีดปุยฝ้ายให้ฟูด้วยไม้ธนู และนำมาม้วนเป็นลูกหลี เพื่อส่งให้ฝ่ายเข็นฝ้ายทำหน้าที่เข็นด้วยเครื่องมือโบราณที่เรียกว่า“ ไน “ ให้ปุยฝ้ายจากก้อนลูกหลีกลายเป็นเส้นด้ายที่เรียบ ละเอียด สวยงาม ก่อนที่จะนำมาทอเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายงดงาม

ในช่วงที่ผ้าฝ้ายทอมือกำลังได้รับความนิยม จึงเป็นโอกาสอันดีที่ฝ้ายเส้นใยเขียว และฝ้ายเส้นใยน้ำตาลจะสามารถเข้ามาสร้างสีสรรที่เป็นเสน่ห์แห่งสีของเส้นใยฝ้ายที่ได้ตามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีในการฟอกย้อม ให้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือจากเส้นใยฝ้ายสีธรรมชาติ ทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอ เปอร์เซ็นต์การตอบรับของผู้ผลิตจึงค่อนข้างดี เนื่องจากปัญหาของกลุ่มผู้ผลิตคือไม่สามารถผลิตผ้าทอจากฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ ได้เนื่องมาจากประการแรก ขาดแคลนเส้นใยฝ้ายเพราะขาดผู้ปลูกฝ้าย และประการที่สองไม่มีเมล็ดพันธุ์ฝ้าย ดังนั้นเมื่อมีการนำเส้นใยฝ้ายสีธรรมชาติมาเสนอถึงแหล่งที่ต้องการ ผู้ใช้ก็ย่อมพอใจเป็นธรรมดา และนักวิจัยก็ปลื้มใจที่ผลงานได้รับการต้อนรับ เนื่องจากผู้ใช้กำลังขาดแคลนวัตถุดิบพอดี เมื่อความต้องการของทั้งสองฝ่ายมาพ้องกัน จากเหตุอันจะนำไปสู่ผล จึงทำให้ได้แนวคิดและแนวทางการพัฒนาพันธุ์ฝ้าย ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคที่มักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เนื่องจากมีกลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอจำนวนมาก จึงมีการแข่งขันกันสูงตามไปด้วย
ฝ้ายในวันนี้อาจเป็นพืชที่ดูแลรักษายากเกินไปเมื่อปลูกในพื้นที่มากกว่า 5 ไร่ และให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพืชไร่ชนิดอื่น แต่ในอนาคตการปลูกฝ้ายแปลงเล็กๆ เพียงไม่กี่ไร่ของกลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอ แต่ละกลุ่ม สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าฝ้ายทอมือสีธรรมชาติ อันมีลวดลายสดสวย งดงาม ที่มีสีเขียวของเส้นใยฝ้ายจากธรรมชาติ สอดสลับกับสีน้ำตาลธรรมชาติ น่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกฝ้ายกันอีกครั้งด้วยจุดประสงค์และมุมมองที่เปลี่ยนไป

19 มิถุนายน 2551

ฝ้ายเส้นใยสั้น

นัฐภัทร์ คำหล้า



ที่เรียกว่าฝ้ายเส้นใยสั้นนั้น เรียกกันตามความยาวของเส้นใยฝ้ายนั่นเอง โดยที่ ฝ้ายเส้นใยสั้น หมายถึง ฝ้ายที่มีความยาวของเส้นใยประมาณ 1 นิ้ว หรือ ต่ำกว่า 1 นิ้ว

การนำไปใช้ประโยชน์
เหมาะแก่การนำไปผลิตเป็นผ้าทอมือ เนื่องจากสะดวก และ ง่ายต่อการดีดให้ฟู แล้วปั่นเป็นเส้นด้าย ในกรณีที่ไม่มีเครื่องจักร

พันธุ์ฝ้ายเส้นใยสั้น
มีด้วยกันหลายพันธุ์ แต่ที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ตุ่นน้ำตาล ตุ่นขาว ตุ่นนวล พวงมะไฟ และพันธุ์พื้นเมือง เป็นต้น ซึ่งพันธุ์เหล่านี้มีอายุค่อนข้างยาว สามารถทะยอยเก็บผลผลิตปุยได้นานถึง 8 เดือน

ลักษณะที่ดีของฝ้ายเส้นใยสั้น
คุณสมบัติที่น่าสนใจของพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสั้น คือ ที่ใบมักจะมีขน จึงทำให้ทนต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง โดยเฉพาะแมลงจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยจักจั่น นอกจากนี้ยังทนต่อสภาพการฉ่ำน้ำของดินทราย

ในด้านการดูแลรักษาค่อนข้างง่าย มีการดูแลน้อยกว่าฝ้ายเส้นใยยาว หรือ ฝ้ายที่เส้นใยยาวปานกลาง ( เช่น ฝ้ายพันธุ์ศรีสำโรง 60 ศรีสำโรง 2 และ ตากฟ้า 2)

อย่างไรก็ตามผลลิตของฝ้ายเส้นใยสั้นมักจะไม่สูงนัก ผลผลิตจะต่ำกว่าฝ้ายเส้นใยยาวปานกลาง หรือ ฝ้ายเส้นใยยาว

การปลูกฝ้าย
โดยทั่วไป ชาวบ้านนิยมปลูกกันตามหัวไร่ ปลายนา ในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ถ้าหากจะปลูกเป็นแปลงใหญ่ อาจจะมีปัญหาการระบาดของแมลง จึงต้องมีอุปกรณ์ และแรงงานเพียงพอสำหรับการพ่นสารกำจัดแมลง โดยเฉพาะแมลงหวี่ขาว

ฤดูปลูกที่เหมาะสม
อยู่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม- กรกฎาคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝน เก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

วิธีการปลูก
ควรปลูกเป็นแถวเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา เนื่องจากฝ้ายเส้นใยสั้นมีทรงพุ่มที่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีระยะปลูกระหว่างหลุมประมาณ 80 ซ.ม. ระยะระหว่างแถว 150 ซ.ม. หยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด (ใช้เมล็ด 1.5 ก.ก ต่อไร่)

หลังจากงอกได้ 20 วัน ถอนแยกให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม เมื่อฝ้ายอายุครบ 1 เดือน จึงถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม

ในระยะแรกของการปลูกจะมีปัญหาเรื่องวัชพืชมาก จึงต้องกำจัดวัชพืชในช่วงแรก

การใส่ปุ๋ย
ใส่เมื่อฝ้ายมีอายุ 1 เดือน อาจใช้ปุ๋ยเคมี (สูตร 15-15-15 อัตรา 50 ก.ก. ต่อไร่) ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ก็ได้ ใส่เพียงครั้งเดียว หากใส่มากจะทำให้ลำต้นฝ้ายอวบ แมลงเข้าทำลายได้ง่าย

การกำจัดวัชพืช
กำจัดในช่วงแรกของการเจริญเติบโต โดยใช้แรงคนดายด้วยจอบ หลังจากนั้นจึงใส่ปุ๋ย
ภาพการปลูกฝ้ายเส้นใยสั้น และการนำไปใช้ประโยชน์
การปลูกฝ้ายเส้นใยสั้น ที่ จ.เลย
ปุยฝ้าย
ปั่นเป็นเส้นด้าย...ชาวบ้านได้ทำงานที่บ้าน
พอใจกับผลงาน
ทอเป็นผืนผ้า
หลากหลายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ

17 มิถุนายน 2551

การปลูกมันสำปะหลังข้ามปี

วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ

การเพิ่มผลผลิตและปริมาณแป้งโดยการปลูกมันสำปะหลังข้ามปี

  • ปลูกมันสำปะหลังข้ามปีเพิ่มผลผลิตได้อย่างไร

การปลูกมันสำปะหลังในช่วงต้นฤดูฝน แล้วมาเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง มันสำปะหลังมีโอกาสได้รับน้ำฝนเพียง 5-6 เดือนเท่านั้น ทำให้ผลผลิตไม่สูงเท่าที่ควร ถ้ามีการจัดระบบการผลิตใหม่ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยปล่อยไว้ในแปลงข้ามปีทั้งช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนของปีถัดไป มันสำปะหลังจะได้รับปริมาณน้ำฝนมากขึ้นอีกประมาณ 8 เดือน ผลผลิตจะสูงกว่าการปลูกมันสำปะหลังปีเดียวถึง 2.5 เท่าเป็นอย่างต่ำ

การผลิตมันสำปะหลังข้ามปีโดยทำการเก็บเกี่ยวที่อายุ 16-18 เดือน นอกจากจะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกมันสำปะหลังปีเดียวแล้วที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนการเตรียมดิน การปลูก การกำจัดวัชพืชในปีที่ 2 ได้อีกด้วย



ภาพที่ 1 ก. และ ข. หัวมันสำปะหลังที่อายุ 18 เดือน

  • ปริมาณแป้งในหัวมันสำปะหลังที่ปลูกข้ามปี

ในส่วนของปริมาณแป้งในหัวสดจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเดือนที่เก็บเกี่ยว โดยมีปริมาณแป้งสูงที่สุดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ในเดือนมีนาคมมันสำปะหลังเริ่มแตกยอดทำให้ปริมาณแป้งลดลง และมีปริมาณต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นปริมาณแป้งจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น แม้ในช่วงเดือนกันยายนที่มีฝนตกหนัก ยังมีปริมาณแป้งสูงถึง 25 % และปริมาณจะขึ้นสูงสุดที่เดือนกุมภาพันธ์อีกครั้ง



30 พฤษภาคม 2551

วัตถุอันตรายปลอม

สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจค้นสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายปลอม และสุ่มเก็บตัวอย่างจากในท้องตลาด พบวัตถุอันตรายปลอม ดังรายการต่อไปนี้
  1. ชื่อการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ ไกลโฟเซต อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 48% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 521/2548 ผู้จัดจำหน่าย บริษัท ยูคอนอะโกร จำกัด ไม่ระบุชื่อผู้ผลิต
  2. ชื่อการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ ไกลโฟเซต อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 48% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 2989/2549 ผู้ผลิต บริษัท อัลฟ่าอะโกรเทค จำกัด ผู้จัดจำหน่าย บริษัท นูคอลอะโกรเทค จำกัด
  3. ชื่อการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ ไกลโฟเซต อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 48% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 2975/2549 ผู้ผลิต บริษัท อัลฟ่าอะโกรเทค จำกัด ผู้จัดจำหน่าย บริษัท พี.เค.ซี. จำกัด
  4. ชื่อการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ ไกลโฟเซต อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 48% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 1572/2544 ผู้ผลิต บริษัท อัลฟ่าอะโกรเทค จำกัด ผู้จัดจำหน่าย บริษัท พี.เค.ซี. เคมีคอล จำกัด
  5. ชื่อการค้า พาราควอท ชื่อสามัญ พาราควอท คลอไรด์ อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 27.6% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 2950/2549 ผู้ผลิต บริษัท อัลฟ่าอะโกรเทค จำกัด ผู้จัดจำหน่าย บริษัท นูคอลอะโกรเทค จำกัด

26 พฤษภาคม 2551

พิษของสารกำจัดวัชพืชบางชนิดต่อมันสำปะหลัง

โดย ศิวิไล ลาภบรรจบ

การปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชจากแหล่งที่มีการพ่นสารไปสู่พื้นที่ข้างเคียง ที่พบเป็นปัญหามากเป็นการปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชจากไร่อ้อย และจากการใช้สารกำจัดวัชพืชในไร่ข้าวโพด แล้วปลิวไปสู่แปลงที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดปัญหากับพืชใบกว้างชนิดอื่นๆ มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ได้รับผลกระทบ และได้รับความเสียหายมาก

สารกำจัดวัชพืชที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่อมันสำปะหลังและพืชใบกว้างชนิดอื่น และมีผลต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง มีดังต่อไปนี้

2,4-ดี
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ทำให้มันสำปะหลังใบยอดไม่เจริญ ใบเหลือง ใบไหม้ กิ่งบวม กิ่งแตก ยอดแห้งตาย ระดับความเสียหายขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ อาการผิดปกติในมันสำปะหลังที่มีรูปแบบจำเพาะ (Typical symptom) ที่เป็นผลมาจาก 2,4-ดี และสารกำจัดวัชพืชในกลุ่ม growth regulator คือ ก้านใบบิดทำให้ใบพลิกหงายขึ้น มุมระหว่างก้านใบกับลำต้นแคบลงกว่าปกติทำให้ก้านใบลู่ลงเกือบแนบลำต้น ส่วนยอดโค้ง กิ่งบวม และมีรอยแตกตามยาวลำต้น


ภาพที่ 1 : (2,4-ดี) ทำให้ยอดบิด โค้งงอ



ภาพที่ 2: (2,4-ดี) ใบยอดไม่คลี่


ภาพที่ 3: (2,4-ดี) ใบเหลือง ใบไหม้ ร่วง ก้านใบลู่ลง


ภาพที่ 4: (2,4-ดี) ยอดไหม้ กิ่งบวม มีรอยแตกตามยาวของกิ่ง หรือลำต้น

อามีทริน
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง จนถึงใบไหม้ โดยอาการเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ ถ้าได้รับสารปริมาณมากทำให้ใบไหม้เป็นสีน้ำตาลแดง ต้นตายได้ มันสำปะหลังจะอ่อนแอต่อสารอามีทรินในระยะที่แตกใบหลังงอกจนอายุประมาณสองถึงสามเดือน มันสำปะหลังต้นโตหากได้รับละอองสารในปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้ ใบร่วงทั้งต้น แต่สามารถแตกใบใหม่ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน ดินที่มีละอองสารอามีทรีนปกคลุมอยู่ในปริมาณมาก เมื่อฝนตกลงมาสารจะซึมลงดิน รากจะดูดซึมขึ้นมา ทำให้มันสำปะหลังเกิดอาการใบไหม้โดยเริ่มจากใบล่างขึ้นมาใบบน


ภาพที่ 5 (อามีทริน) ทำให้ใบเหลืองซีด


ภาพที่ 6 : (อามีทริน) ถ้ามันสำปะหลังได้รับสารปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้จากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ



ภาพที่ 7: (อามีทริน) มันสำปะหลังได้รับสารอามีทรินในปริมาณมาก ทำให้ใบไหม้

อทราซีน
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
มีผลทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง จนถึงใบไหม้ โดยอาการเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ ถ้าได้รับปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้ ต้นตาย มันสำปะหลังจะอ่อนแอต่อสารอทราซีนในระยะที่แตกใบหลังงอกจนอายุประมาณสองถึงสามเดือน


ภาพที่ 8: (อทราซีน) ทำให้ใบมันสำปะหลังเหลืองซีด ถ้าได้รับปริมาณมากทำให้ใบไหม้ ลักษณะคล้ายกับอาการที่เกิดจากการได้รับสารอามีทริน

ไกลโฟเซท
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ต้นมันสำปะหลังที่ได้รับสาร ทำให้ใบมีขนาดเล็กลงมาก แผ่นใบแต่ละหยักจะแคบลง มีลักษณะเรียวเล็กเป็นเส้น และบิด ต้นแคระแกร็น โตไม่ทันต้นอื่น


ภาพที่ 9: (ไกลโฟเซท) ทำให้ใบเรียวเล็ก คล้ายเชือก


ภาพที่ 10: (ไกลโฟเซท) ต้นมันสำปะหลังแคระแกร็น (ต้นด้านซ้ายมือ) โตไม่ทันต้นอื่น


ภาพที่ 11 (ไกลโฟเซท) หยักใบเรียวเล็ก

พาราควอท
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
การได้รับสารพาราควอทในอัตราเข้มข้น มีผลทำให้มันสำปะหลังเกิดจุดตาย (necrotic) บนใบ หากพ่นโดนส่วนยอดเจริญทำให้ยอดและใบแห้งตาย การใช้สารพาราควอทในไร่มันสำปะหลังควรพ่นเมื่อลมสงบ กดหัวพ่นให้ต่ำ การใช้เครื่องพ่นแบบแรงดันมีผลทำให้สารฟุ้งกระจายสัมผัสส่วนต่างๆ ของพืชได้มาก


ภาพที่ 12 (พาราควอท) การใช้พาราควอทในไร่เกษตรกรโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม ในขณะทีลมแรง ทำให้มันสำปะหลังใบแห้งตาย



ภาพที่ 13 (พาราควอท) ส่วนของพืชที่ได้รับสารแสดงอาการไหม้


ภาพที่ 14 (พาราควอท) มันสำปะหลังกำลังแตกยอดใหม่ จากส่วนโคนของกิ่งที่แห้งตาย

เนื้อหา