30 เมษายน 2563

โรคใบจุดกราฟิโอล่าในอินทผลัม

โรคใบจุดกราฟิโอล่า (Graphiola leaf spot หรือ False smut ) เกิดจากเชื้อรา Graphiola phoenicis พบระบาดทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกอินผลัม

เชื้อราเข้าทำลายอินทผลัมในสภาพที่มีความชื้นสูง ลักษณะอาการของโรคสังเกตได้ง่าย เกิดกับใบล่าง อาการเริ่มแรกเกิดจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลขนาดเล็ก ต่อมาผิวใบปริออก เห็นโครงสร้างขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุ (sori) ที่มีลักษณะตรงส่วนฐานสีดำ คล้ายถ้วยนูนขึ้นมาบนผิวใบพืชและมีเส้นสายของสปอร์สีเหลืองอ่อน พัฒนาการของโรคตั้งแต่เชื้อเริ่มเข้าทำลายจนถึงสร้างสปอร์ ใช้เวลากว่า 10-11 เดือน

การป้องกันกำจัด ตัดใบล่างไปทำลายเพื่อลดการแพร่ระบาด แต่หากอินทผลัมแสดงอาการขาดธาตุโพแทสเซียม ไม่แนะนำให้มีการตัดใบล่างที่เป็นโรคทิ้ง จะทำให้อาการขาดธาตุรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโต

สารเคมีป้องกันกำจัดที่ใช้พ่นทางใบเพื่อป้องกันการเข้าทำลายในใบที่ยังไม่เป็นโรค เช่น ไธโอฟาเนต เมธิล, สารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ หรือ สารคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์













29 เมษายน 2563

แมลงศัตรูพืชผักสวนครัว

ผักสวนครัวที่ปลูกในกระถาง หรือในสวนหลังบ้าน อาจมีแมลงรบกวน หากมีแค่เล็กๆ น้อยๆ เราใช้มือบี้ทำลายได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี แต่หากปลูกในพื้นที่ใหญ่ขึ้นสำหรับขาย อาจจะต้องใส่ใจดูแลมากเป็นพิเศษ พอเห็นแมลงเริ่มมารบกวน จำนวนยังไม่มาก ถ้าจัดการได้เร็ว อาจจะไม่ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง หรือใช้เท่าที่จำเป็น ยุคนี้ต้องประหยัด ลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญต้องปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน หากใช้สารเคมี ให้เว้นระยะอย่างน้อย 7 วัน ก่อนเก็บผลผลิตไปขาย

สะระแหน่  : หนอนห่อใบ (Syngamia abruptalis Walker) เริ่มแรกทำลายกัดกินใบสะระแหน่ที่บริเวณผิวใบด้านใต้ใบ ต่อมาทำให้ใบขาดทะลุ  มักพบหนอนชักใย ดึงใบมาห่อหุ้มตัว








มะเขือ/มะระจีน : เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เป็นแมลงปากดูด ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอด เริ่มแรกทำให้ใบเหลือง ต่อมาใบไหม้ ถ้าพบอาการใบเหลืองระหว่างเส้นใบ ให้พลิกดูใต้ใบ  มักพบเพลี้ยจักจั่นหลบอยู่ตามซอกเส้นใบ เมื่อโดนรบกวนจะเคลื่อนที่ทะแยงไปด้านข้าง

หากจำเป็นต้องพ่นสารเคมี เลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้  ไซเปอร์เมทริน/ไฟซาโลน  (พาร์ซอน) 6.25% อีซี/22.5% อีซี อัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูไซโคลซูรอน (แอนดาลิน) 25% อีซี อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้าย มากกว่า  1 ตัวต่อใบ พ่นซ้ำตามความจำเป็น งดพ่นก่อนเก็บผลผลิต 7 วัน







กะเพรา/โหระพา : มวนปีกแก้ว เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ตัวสีดำ ปีกใส โปร่งแสง มีจุดสีดำที่กลางปีก ทำลายพืชโดยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบกะเพรา เฉา ใบไหม้ ยอดไหม้ หากพบให้ใช้มือบี้ทำลาย




เนื้อหา