13 สิงหาคม 2557

โรครากเน่า หัวเน่า ระบาดหนักในไร่มันสำปะหลัง

เตือนภัยโรครากเน่าหัวเน่าในมันสำปะหลัง ขณะนี้พบการระบาดรุนแรงในพื้นที่ อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี กินพื้นที่ไปกว่า 10,000 ไร่

ดร.จรรยา มณีโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าโครงการวิจัยการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการในมันสำปะหลัง ซึ่งได้ทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวทช. บอกว่า จากการตรวจวินิจฉัย โดย นายรังษี เจริญสถาพร นักวิชาการโรคพืช กรมวิชาการเกษตร พบสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา (Phythopthora meadii) เป็นเชื้อราในดิน และเหง้ามันที่สามารถอยู่ได้ข้ามฤดู ซึ่งสามารถสร้างสปอร์ที่ว่ายน้ำได้ จึงแพร่ระบาดในหน้าฝนได้อย่างรวดเร็ว

มันสำปะหลังจะแสดงอาการตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป...โดยเชื้อจะเข้าสู่โคนต้นก่อน ทำให้เกิดอาการบวมพองและมีปุ่มรากที่โคนต้นเหนือผิวดิน จากนั้นเชื้อจะลามลงไปที่รากและก้านขั้วหัวมัน

ส่วนอาการเหนือดินสังเกตได้จากใบเริ่มซีดเหลือง จากนั้นใบล่างเริ่มแสดงอาการเหี่ยวและแห้งคาต้น เมื่อถอนต้นรากและหัวเน่า แต่ลำต้นยังเป็นปกติ เกษตรกรจึงตัดต้นไปขายเป็นท่อนพันธุ์ จึงทำให้เชื้อสามารถแพร่ขยายได้ในวงกว้าง...ยิ่งพื้นที่ อ.เสิงสาง และ อ.น้ำยืน เป็นแหล่งผลิตท่อนพันธุ์สำคัญของประเทศ ยิ่งทำให้เชื้อสามารถกระจายโรคไปสู่แหล่งปลูกจังหวัดอื่นๆ และประเทศเพื่อนบ้าน

“จากการลงพื้นที่สำรวจ เราพบปัจจัยการระบาดมาจากใช้พันธุ์ ซึ่งอ่อนแอต่อโรค ดินระบายน้ำไม่ดี การปลูกมันระยะชิดเกินไป รวมทั้งเมื่อขุดมันไปขาย มีการทิ้งเหง้าเป็นโรคไว้ในแปลง จึงกลายเป็นแหล่งสะสมโรค และการระบาดจะเกิดมากกับมันสำปะหลังพันธุ์ 89, ระยอง 11, ห้วยบง 60 และเกษตรศาสตร์ 50 แต่พันธุ์ระยอง 72 ที่ปลูกในแหล่งระบาดกลับไม่แสดงอาการของโรคให้เห็น”

วิธีแก้ปัญหา ดร.จรรยา บอกว่า จากการทดลองด้วยการนำท่อนพันธุ์ชุบด้วยสาร ฟอซีทิล อลูมินัม (fosetyl aluminium) ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 10 นาที เพื่อกำจัดโรคที่ติดมากับท่อนพันธุ์ และใช้สาร fosetyl aluminium ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นอายุ 3 เดือน ที่มีอาการใบเหลืองทุก 1 เดือน ติดต่อกัน 4 ครั้ง...สามารถลดจำนวนต้นเป็นโรคได้ 75%

ส่วนมาตรการป้องกัน...ควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อราไฟทอปธอรา เช่น ข้าวโพด อ้อย...หากต้องการปลูกมัน ควรปรับฤดูปลูกไปช่วงฤดูแล้ง เพื่อเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฝนตกชุก...หลังเก็บเกี่ยว เก็บเหง้า ตอ และต้นมันสำปะหลังออกจากแปลง และเผาเพื่อฆ่าเชื้อ

ไถระเบิดดินดานเพื่อให้ดินระบายน้ำดี...ควรปลูกแบบยกร่องตามแนวลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลออกได้เร็ว ไม่ขังในช่วงฤดูฝน...ใช้พันธุ์ทนทานต่อโรค ระยอง 72...ใช้ท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งที่ไม่เป็นโรค หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสาร fosetyl aluminium ก่อนปลูก สามารถแช่พร้อมกับสารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้

ใช้ระยะปลูก 80× 100 ซม. เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง...ไม่ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพราะทำให้ดินสะสมความชื้นมากเอื้อต่อการเจริญของเชื้อรา และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ต้นเป็นโรคได้ง่าย

หากเกษตรกรสงสัยว่าพบโรครากเน่าหัวเน่า ติดต่อขอคำปรึกษาได้จาก คุณรังษี เจริญสถาพร สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน โทร.08-1874-1804.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/442798

เนื้อหา