27 สิงหาคม 2553

ฝนตกชุก...โรคกาบและใบไหม้ของข้าวโพดระบาดรุนแรง

สภาพที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน ส่งผลให้มีความชื้นสูง มักพบการระบาดของโรคกาบและใบไหม้ (banded leaf and sheath blight) ค่อนข้างรุนแรง

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani Kuhn.

ลักษณะอาการ
กาบหุ้มที่โคนต้นมีรอยฉ่ำน้ำสีเขียวอมเทา เน่ากลายเป็นสีน้ำตาล ลุกลามไปยังกาบของลำต้นที่อยู่สูงขึ้นไป และขยายไปสู่โคนใบ ทำให้ใบไหม้ขยายไปตามทางยาวของใบ เมื่อแสงแดดจัด ความชื้นน้อยเชื้อราก็จะหยุดการเจริญ จึงเห็นเป็นแผลแห้งเหมือนแดดเผา มีขอบสีน้ำตาลขวางตามใบเป็นชั้น ๆ เมื่อถึงเวลากลางคืนอากาศเย็นความชื้นสูง แผลก็ขยายไหม้ลามต่อไปตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา จึงเห็นใบข้าวโพดที่เป็นโรคนี้เป็นลายคราบตามขวางของใบเป็นชั้นคล้ายคราบงู จะพบเส้นใยของเชื้อราบนส่วนที่เป็นโรค

การแพร่ระบาด
สาเหตุของการเกิดโรคและแพร่ระบาดคือเม็ดสเคลอโรเทีย (sclerotia) ของเชื้อซึ่งอยู่ในดินและซากหญ้า พืชอาศัยที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียงข้าวโพด การระบาดของโรคไปยังต้นอื่นๆ โดยการสัมผัสของใบที่เป็นโรคกับส่วนต่าง ๆ ของต้นปกติ
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ พบการเกิดโรคน้อย

การป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์และปราศจากโรค
2. หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอในระยะต้นข้าวโพดอายุได้ 40-50 วัน เมื่อพบโรคระบาดให้ถอนและเผาทำลาย ในระยะออกฝัก หากพบฝักเป็นโรคมีเม็ดเชื้อราสาเหตุลักษณะคล้ายเม็ดผักกาด เมื่อเก็บไปทำลายพยายามอย่าให้เม็ดเชื้อราร่วงหล่นในแปลงเพราะจะแพร่โรคต่อไป
3. ทำลายเศษเหลือของต้นข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว ก่อนปลูกฤดูต่อไปให้ไถพลิกดินขึ้นมาตากแดดหลาย ๆ ครั้ง เติมอินทรีย์วัตถุในแปลงปลูก เตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี
4. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่น  วางแนวของแถวปลูกทิศทางเดียวกับลม เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
5. ลดการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง
ุ6. ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัย พืชอาศัยของโรคนี้ได้แก่ ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วต่าง ๆ และอ้อย
7. เพิ่มอินทรีย์วัตถุในแปลงปลูกและเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น Trichoderma harzianum จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถเจริญแข่งขันและย่อยสลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคนี้ได้


เชื้อสาเหตุ : Rhizoctonia solani






การระบาดของโรคสู่ต้นข้างเคียง โดยใบจากต้นเป็นโรคสัมผัสกับใบของต้นปกติ





ในสภาพที่ความชื้นสูง จะพบเส้นใยของเชื้อสาเหตุบนส่วนเป็นโรค แล้วพัฒนาเป็น sclerotia ซึ่งเป้นส่วนขยายพันธุ์  ตกค้างอยู่ในดิน


ลักษณะ sclerotia ของเชื้อสาเหตุ

- - - - -
ข้อมูล:เอกสารวิชาการโรคข้าวโพด กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร

24 สิงหาคม 2553

ฝนตกชุก..ระวังการระบาดของโรคใบไหม้ในมันสำปะหลัง

สภาพภูมิอากาศในช่วงนี้ที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน ส่งผลให้มีความชื้นในบรรยากาศสูง เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรคใบไหม้ในมันสำปะหลัง ซึ่งได้รับรายงานการระบาดในหลายพื้นที่
ลักษณะอาการเริ่มแรก ใบเป็นจุดเหลี่ยม ฉ่ำน้ำ ต่อมาใบไหม้แห้ง ถ้ารุนแรงยอดจะแห้งตาย ทำให้ผลผลิต เปอร์เซ็นต์แป้ง และคุณภาพท่อนพันธุ์ลดลง
สภาพแวดล้อมมีผลต่อการระบาดของโรคใบไหม้เป็นอย่างมาก ปีที่มีฝนตกชุกหนาแน่น โรคจะระบาดรวดเร็วและรุนแรง นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังขึ้นกับพันธุ์มันสำปะหลัง พันธุ์ระยอง 5 ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรค แต่ไม่ถึงกับทำให้ต้นตาย
เมื่อพ้นฤดูฝนการระบาดของโรคจะลดลง การป้องกันกำจัดให้ทำลายเศษซากพืชโดยการเผาหรือฝัง ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของโรค ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด





16 สิงหาคม 2553

ถั่วเหลืองฝักสด แหล่งโปรตีน ราคาถูก

โดย นัฐภัทร์ คำหล้า

ในยุคที่สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ราคาปรับตัวสูงขึ้นแบบรายวันเช่นนี้ การหารายได้เพิ่มจากการปลูกพืช น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากพืชผักที่เห็นปลูก และขายกันเกลื่อนเมืองแล้ว มีพืชไร่อายุสั้นอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นพืชทางเลือกใหม่ที่จะเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรในระยะสั้น นั่นคือ ถั่วเหลืองฝักสด

ถั่วเหลืองฝักสด หรือ “ถั่วแระญี่ปุ่น” เป็นถั่วเหลืองที่มีฝักขนาดใหญ่ บริโภคในระยะที่ฝักเริ่มแก่ เมล็ดโตเต็มที่ นั่นคือเมล็ดมีความเต่งและมองเห็นเมล็ดเต็มฝัก ในขณะที่ฝักยังคงมีสีเขียว รสชาติหวานบริโภคได้ทั้งฝักสดหรือต้มรับประทาน

การปลูกถั่วเหลืองฝักสด ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการปลูกถั่วเหลืองไร่ เพียงแต่เก็บเกี่ยวในช่วงระยะที่มีฝักถั่วเต่งเต็มที่ประมาณร้อยละ 80 ในขณะที่ฝักยังมีสีเขียวสด อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 62-68 วัน โดยมีพันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ พันธุ์เอจีเอส 292 และ NO.75 ซึ่งนิยมปลูกเพื่อการส่งออก ส่วนพันธุ์ที่ปลูกแล้วบริโภคภายในประเทศได้แก่พันธุ์เชียงใหม่ 1 และนครสวรรค์ 1 ปกติการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองฝักสดควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า โดยใช้เคียวเกี่ยวต้นถั่วทั้งต้น แล้วนำไปวางในที่ร่มเพื่อเด็ดใบและก้านออก ให้
เหลือเฉพาะต้นและฝัก จากนั้นจึงมัดต้นถั่วเป็นมัด ๆ ละ 5 กิโลกรัม เพื่อรอการส่งตลาด จำหน่ายต่อไป

อนึ่ง ช่วงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองฝักสดที่เหมาะสม และมีคุณภาพดี จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 2 - 3 วันเท่านั้น หลังจากนั้นฝักถั่วจะแก่เกินไป ดังนั้น การปลูกถั่วเหลืองฝักสดจึงต้องมีการวางแผนการปลูก การเก็บเกี่ยวและการตลาดที่ดี จึงจะได้ผลผลิตถั่วเหลืองฝักสดที่มีคุณภาพดีตามความต้องการของลูกค้า

ถั่วเหลืองฝักสด นับว่าเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก เมื่อเทียบกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจากนี้ยังมีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก ลดอาการวัยทอง มีใยอาหารสูง มีวิตามิน A B และ C และแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ เช่น เหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเบต้าแคโรทีน

เห็นสรรพคุณมากมายแล้ว วันนี้คุณกินถั่วเหลืองหรือยัง ?

จากพันธุ์ฝ้ายสู่เส้นด้ายและผืนผ้า

โดย ปริญญา สีบุญเรือง

พื้นที่ปลูกฝ้ายหายวับไปกับตามาหลายปีแล้ว
....... กลับมาพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ฝ้ายกันเถิด

อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากจะเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ที่มีความรับผิดชอบในเรื่องเรื่องงานวิจัยฝ้ายแล้ว ยังเคยเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายแหล่งใหญ่ของประเทศ

ฝ้าย...พืชต้นเล็กๆ แต่ปลูกและดูแลรักษายาก ต้องการความเอาใจใส่จากเจ้าของมากกว่าพืชชนิดอื่น จนมีคำกล่าวกันว่าหากเกษตรกรคนไหนเคยปลูกฝ้ายมาแล้ว ก็จะสามารถปลูกพืชได้ทุกชนิด ดังนั้น พื้นที่การปลูกฝ้ายของประเทศที่มีนับแสนไร่ ในช่วงปี 2540-2545 จึงค่อยๆเลือนหายไป จนเหลือเพียงไม่ถึงหมื่นไร่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากราคาฝ้ายที่ไม่แน่นอน และมีพืชแข่งขันชนิดใหม่ ๆ ที่ดูแลง่ายกว่า แต่ทำรายได้ที่ดีกว่า

ไทยจึงเป็นประเทศผู้นำเข้าฝ้ายมากอันดับที่ 6 ของโลก ฉะนั้นผู้ที่เคยปลูกฝ้ายมาแล้วควรภูมิใจ ที่ได้ช่วยประเทศในการรักษาเงินตรา มิให้รั่วไหลไปกับการซื้อปุยฝ้ายจากต่างประเทศ เพื่อผลิตเครื่องนุ่งห่มของเรา โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มที่อยู่ในวิถีการผลิตจากหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย แต่กลับไม่ได้ใช้ปุยฝ้ายที่ผลิตมาจากชุมชนของตนเอง

ในความจริงแล้ว เรายังมีฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 3 ซึ่งคัดเลือกมาจาก ฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่ง่ายต่อการปลูก และดูแลรักษา เนื่องจากมีลักษณะต้นขนไปขน และต่อมพิษที่มีจำนวนมาก ทำให้สามารถป้องกันแมลงศัตรูบางชนิดได้ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงตลอดฤดูปลูกเหมือนการปลูกฝ้ายทั่วไป จึงเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ปลูกฝ้าย และกลุ่มผู้ปั่นด้าย เพื่อผลิตวัตถุดิบให้แก่กลุ่มผู้ทอผ้าในหมู่บ้านเดียวกันหรือต่างหมู่บ้าน

จากวิกฤตการณ์โลกร้อน ซึ่งร้อนจนสามารถสัมผัสได้ถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติในชีวิตประจำวัน ผ้าฝ้ายคือวัสดุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำวัน ทั้งนี้เพราะผ้าฝ้ายสามารถดูดซับเหงื่อได้ดี และสามารถระบายความร้อนออกจากเส้นใยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดการหมักหมมที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองผิวหนังผู้สวมใส่ อีกทั้งผ้าฝ้ายที่ย้อมด้วยคราม หรือต้นฮ่อมจนเป็นสีน้ำเงิน สามารถปกป้องรังสียูวีจากแสงแดดได้ดีที่สุด

เกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใด สนใจที่จะปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 3 สามารถติดต่อสอบถามและเยี่ยมชมแปลงฝ้าย พร้อมกระบวนการปั่นด้าย ทอผ้า ได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

เนื้อหา