5 ตุลาคม 2563

มันสำปะหลังอายุเก็บเกี่ยวสั้น พันธุ์ระยอง 15

         " ระยอง 15 "  (OMR45-27-76) ผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง เป็นมันสำปะหลังอายุเก็บเกี่ยวสั้น ได้จากการผสมเปิดของมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ที่ให้ผลผลิตสูงและปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ในปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นไม่เกิน 8 เดือน และให้ผลผลิตแป้งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 5  ระยอง 7 และระยอง 72 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ดำเนินการทดลองตั้งแต่ปี 2545-2558 จำนวน 40 แปลงทดลอง ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 17 จังหวัด ได้แก่จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อุบลราชธานี นครราชสีมา

การเก็บเกี่ยวที่อายุ 8 เดือน มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 ให้ผลผลิตหัวสดสูง เฉลี่ย 4,632 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5  ระยอง 7  ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 คิดเป็นร้อยละ 10  18  5 และ 4 ตามลำดับ นอกจากนี้ พันธุ์ระยอง 15 มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง เฉลี่ย 29.2 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5  ระยอง 7 และระยอง 72 คิดเป็นร้อยละ 4  1 และ 5 ตามลำดับ ระยอง 15 ให้ผลผลิตแป้งสูงเฉลี่ย 1,355 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 5  ระยอง 7  ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 คิดเป็นร้อยละ 13  18  10 และ 2 ตามลำดับ 

จากการสำรวจการเข้าทำลายของแมลงศัตรูมันสำปะหลัง ภายใต้สภาพไร่ในช่วงฤดูแล้ง พบว่า มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 มีการเข้าทำลายของไรแดงน้อยกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 และระยอง 72 และทุกพันธุ์มีการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งและแมลงหวี่ขาวเล็กน้อย การประเมินความต้านทานโรคใบไหม้ภายใต้สภาพโรงเรือน พบว่า มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15  เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้ เช่นเดียวกับพันธุ์ระยอง 5  ระยอง 72  ระยอง 9 และเกษตรศาสตร์ 50       

การผลิตมันสำปะหลังในสภาพการจัดการระบบการปลูกพืชที่ต้องการใช้พื้นที่ปลูกพืชหมุนเวียน หรือ หากเกษตรกรต้องการมีรายได้ที่เร็วขึ้น การปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 ซึ่งมีผลผลิตแป้งสูง อายุการเก็บเกี่ยวสั้นที่ 8 เดือน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกร

ผลงานวิจัย มันสำปะหลังอายุเก็บเกี่ยวสั้นพันธุ์ระยอง 15 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2562 ระดับดี สาขาปรับปรุงพันธุ์ จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563

ลักษณะของมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15



ทรงต้นสูง ระดับการแตกกิ่ง : 0-1 ระดับ

สีลำต้น : เขียวเงิน

สียอดอ่อน :เขียวอ่อน

ลักษณะแฉกที่อยู่กลางใบ : ใบหอก
สีก้านใบ : สีเขียวอมแดง

สีเปลือกหัว : น้ำตาล
สีเนื้อหัว : ขาว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง เลขที่ 320 ถนนสุขุมวิท ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง 21150 โทร 0-3868-1515 โทรสาร 0-3868-1514 
E-mail : ryfcrc9989@gmail.com
Facebook : ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ข้อมูลและภาพ : ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง

30 เมษายน 2563

โรคใบจุดกราฟิโอล่าในอินทผลัม

โรคใบจุดกราฟิโอล่า (Graphiola leaf spot หรือ False smut ) เกิดจากเชื้อรา Graphiola phoenicis พบระบาดทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกอินผลัม

เชื้อราเข้าทำลายอินทผลัมในสภาพที่มีความชื้นสูง ลักษณะอาการของโรคสังเกตได้ง่าย เกิดกับใบล่าง อาการเริ่มแรกเกิดจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลขนาดเล็ก ต่อมาผิวใบปริออก เห็นโครงสร้างขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุ (sori) ที่มีลักษณะตรงส่วนฐานสีดำ คล้ายถ้วยนูนขึ้นมาบนผิวใบพืชและมีเส้นสายของสปอร์สีเหลืองอ่อน พัฒนาการของโรคตั้งแต่เชื้อเริ่มเข้าทำลายจนถึงสร้างสปอร์ ใช้เวลากว่า 10-11 เดือน

การป้องกันกำจัด ตัดใบล่างไปทำลายเพื่อลดการแพร่ระบาด แต่หากอินทผลัมแสดงอาการขาดธาตุโพแทสเซียม ไม่แนะนำให้มีการตัดใบล่างที่เป็นโรคทิ้ง จะทำให้อาการขาดธาตุรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโต

สารเคมีป้องกันกำจัดที่ใช้พ่นทางใบเพื่อป้องกันการเข้าทำลายในใบที่ยังไม่เป็นโรค เช่น ไธโอฟาเนต เมธิล, สารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ หรือ สารคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์













29 เมษายน 2563

แมลงศัตรูพืชผักสวนครัว

ผักสวนครัวที่ปลูกในกระถาง หรือในสวนหลังบ้าน อาจมีแมลงรบกวน หากมีแค่เล็กๆ น้อยๆ เราใช้มือบี้ทำลายได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี แต่หากปลูกในพื้นที่ใหญ่ขึ้นสำหรับขาย อาจจะต้องใส่ใจดูแลมากเป็นพิเศษ พอเห็นแมลงเริ่มมารบกวน จำนวนยังไม่มาก ถ้าจัดการได้เร็ว อาจจะไม่ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง หรือใช้เท่าที่จำเป็น ยุคนี้ต้องประหยัด ลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญต้องปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน หากใช้สารเคมี ให้เว้นระยะอย่างน้อย 7 วัน ก่อนเก็บผลผลิตไปขาย

สะระแหน่  : หนอนห่อใบ (Syngamia abruptalis Walker) เริ่มแรกทำลายกัดกินใบสะระแหน่ที่บริเวณผิวใบด้านใต้ใบ ต่อมาทำให้ใบขาดทะลุ  มักพบหนอนชักใย ดึงใบมาห่อหุ้มตัว








มะเขือ/มะระจีน : เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เป็นแมลงปากดูด ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอด เริ่มแรกทำให้ใบเหลือง ต่อมาใบไหม้ ถ้าพบอาการใบเหลืองระหว่างเส้นใบ ให้พลิกดูใต้ใบ  มักพบเพลี้ยจักจั่นหลบอยู่ตามซอกเส้นใบ เมื่อโดนรบกวนจะเคลื่อนที่ทะแยงไปด้านข้าง

หากจำเป็นต้องพ่นสารเคมี เลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้  ไซเปอร์เมทริน/ไฟซาโลน  (พาร์ซอน) 6.25% อีซี/22.5% อีซี อัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูไซโคลซูรอน (แอนดาลิน) 25% อีซี อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้าย มากกว่า  1 ตัวต่อใบ พ่นซ้ำตามความจำเป็น งดพ่นก่อนเก็บผลผลิต 7 วัน







กะเพรา/โหระพา : มวนปีกแก้ว เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ตัวสีดำ ปีกใส โปร่งแสง มีจุดสีดำที่กลางปีก ทำลายพืชโดยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบกะเพรา เฉา ใบไหม้ ยอดไหม้ หากพบให้ใช้มือบี้ทำลาย




เนื้อหา