29 สิงหาคม 2560

พันธุ์นครสวรรค์ 3 จากต้นน้ำสู่ปลายทาง


ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จัดเป็นผลงานวิจัยเด่นของกรมวิชาการเกษตร โดยมีรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 กรมวิชาการเกษตร สาขางานวิจัยประยุกต์ เป็นที่รับรอง
จากคุณสมบัติที่โดดเด่นด้านความทนทานแล้งและต้านทานต่อโรคราน้ำค้างซึ่งเป็นโรคที่สำคัญของข้าวโพด ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในวงกว้าง ทั้งจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม อันประกอบไปด้วย เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เอกชนรายย่อย ผ่านการส่งเสริม เผยแพร่ กระจายพันธุ์ผ่านโครงการต่างๆ หลากหลายโครงการ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม โครงการหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นการบูรณาการงานวิจัยเพื่อนำผลงานวิจัยจากต้นน้ำ เผยแพร่สู่การนำไปใช้ประโยชน์ปลายน้ำ ที่ประสบความสำเร็จยิ่ง จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ดี มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง และลดความเสี่ยงต่อสภาวะฝนแล้ง รวมถึง หากเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เองจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรได้
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พ่อและแม่ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 คือสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 พันธุ์แม่ และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 พันธุ์พ่อ สนับสนุนให้หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกร สามารถนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพเพื่อใช้ หรือจำหน่าย เป็นการเพิ่มช่องทางการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ออกสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจเมล็ดพันธุ์รายย่อยที่ยังขาดงานด้านวิจัยและพัฒนา ให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตน ที่มีคุณภาพทัดเทียม และสามารถแข่งขันได้ในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ สอดรับการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชหรือ Seed Hub ในระดับสากล ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน โดยมีการสนับสนุนให้เมล็ดพันธุ์พืชของไทยมีคุณภาพสามารถออกสู่ตลาดโลกเพื่อการแข่งขันได้เพิ่มมากขึ้น และพัฒนาอาชีพการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีความมั่นคง ยั่งยืนต่อไป

เส้นทางของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย
จุดเริ่ม ต้นน้ำ:  การวิจัยและพัฒนาพันธุ์  
          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้ง เริ่มจากการพัฒนาข้าวโพดสายพันธุ์แท้พ่อแม่ ระหว่างปี 2543-2546 และพัฒนาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม ระหว่างปี 2547-2551 โดยนำสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 และตากฟ้า 3 ผสมพันธุ์กัน ได้พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยว NSX 042029 ซึ่งต่อมาได้ผ่านการรับรองพันธุ์และตั้งชื่อเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3  ผ่านการประเมินผลผลิตในแหล่งปลูกข้าวโพดที่สำคัญของประเทศไทย ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ เปรียบเทียบเบื้องต้น เปรียบเทียบมาตรฐาน เปรียบเทียบในท้องถิ่น และเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการการศึกษาและการประเมินลักษณะต่างๆ อาทิเช่น การประเมินความทนทานแล้ง การประเมินปฏิกิริยาการเกิดโรคราสนิม การประเมินปฏิกิริยาการเกิดโรคราน้ำค้าง การศึกษาความเสียหายของเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากการทำลายของด้วงงวงข้าวโพด การศึกษาอัตราแถวปลูกสายพันธุ์แท้พันธุ์พ่อ และแม่ที่เหมาะสม และการทดสอบการยอมรับของเกษตรกร เป็นต้น  ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์รับรอง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3” ในปี 2552 และในปีเดียวกัน ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 กรมวิชาการเกษตร สาขางานวิจัยประยุกต์

          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3 เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 เป็นสายพันธุ์แม่ และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 เป็นสายพันธุ์พ่อ  มีลักษณะเด่น คือ ทนทานแล้งในระยะข้าวโพดออกดอก ผลผลิตสูง ต้านทานโรคราน้ำค้าง โรคราสนิม และเก็บเกี่ยวง่าย ให้ผลผลิตเฉลี่ยในสภาพปกติ 1,106 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตเฉลี่ยในสภาพขาดน้ำในระยะออกดอก 836 กิโลกรัมต่อไร่ มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดีสามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตข้าวโพดของประเทศไทย

ก้าวเดิน กลางน้ำ : การผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมและสายพันธุ์แท้พ่อและแม่
          เพื่อให้ผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ให้ถึงมือเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทางศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ จึงวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1  และ ตากฟ้า 3 ตั้งแต่ปี 2552 ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของนักปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อให้ได้สายพันธุ์แท้ที่มีความบริสุทธิ์ของพันธุ์ สำหรับนำไปขยายเป็นเมล็ดพันธุ์หลักเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3  นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อความร่วมมือในและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมนครสวรรค์ 3  ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้สิทธิสัญญาประโยชน์การใช้สายพันธุ์แท้ข้าวโพดกรมวิชาการเกษตร ในปี 2550 ร่วมมือกับผู้ประกอบการ จำนวน 3 ราย  คือ บริษัท สุภิราชการเกษตรป้าว จำกัด  บริษัท ป้าวธุรกิจการเกษตร จำกัด และ บริษัทเชียงใหม่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมนครสวรรค์ 3 จำหน่ายเชิงพาณิชย์  

        จากความสำเร็จในปี 2552 เป็นที่ประจักษ์ว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 สามารถลดต้นทุนการผลิตในด้านค่าเมล็ดพันธุ์ ประกอบกับพันธุ์นครสวรรค์ 3 มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงและทนแล้ง จึงมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 และตากฟ้า 3 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 สำหรับไว้ใช้เองและจำหน่าย โดยในปี 2553 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 จำนวน 1.5 ตัน และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 จำนวน 0.5 ตัน เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกร ภาคเอกชน และภาครัฐ นำไปใช้ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมในพื้นที่ 500 ไร่ ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 125 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 41,666 ไร่

        การที่ความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พ่อและแม่เพื่อผลิตลูกผสมนครสวรรค์ 3 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้ในปี 2559 และ 2560 ทางศูนย์พืชไร่นครสวรรค์ได้รับจัดสรรงบประมาณให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ในปี 2558 โดยมีปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 จำนวน 15 ตัน และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 จำนวน 5 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจำนวน 5,000 ไร่

        การดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553-2560 ได้ผลผลิตรวมทั้งหมดของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 6,113 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 2.03 ล้านไร่ (ตารางที่ 1) ซึ่งปริมาณความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยมีถึงปีละ 20,000 ตันต่อปี (เกรียงศักดิ์และคณะ, 2555) แม้ยอดการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จะผลิตได้เฉลี่ยเพียงปีละ 873 ตัน หรือ 4.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการของประเทศก็ตาม แต่เป็นการสร้างโอกาสและสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์ดีที่พัฒนาพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถพึ่งพาตนเองโดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ สามารถลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยังเป็นการขยายผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม (แผนภาพที่ 1)




ภาพที่ 1 แผนผังการผลิต และการใช้ประโยชน์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3

สู่เป้าหมาย ปลายน้ำ: การขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์
          จากกระแสการตอบรับพันธุ์นครสวรรค์ 3 ทำให้มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พ่อและแม่ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยในพื้นที่ 1 ไร่ มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 จำนวน 3 กิโลกรัม และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 จำนวน 1 กิโลกรัม โดยใช้อัตราแถวปลูกแม่ต่อพ่อ 4:1 แถว นอกจากนี้ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ยังให้บริการข้อมูลวิชาการและคำแนะนำแก่ผู้สนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 และออกใบรับรองการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 และตากฟ้า 3 ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ใช้ประกอบการขออนุญาตรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ (พ.พ) เพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างโอกาสในการก้าวเข้าสู่ผู้ประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์

          จำนวนผู้ใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้
          ผลจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม และการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2553-2560 พบว่า ทุกภาคส่วนมีความสนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี (ภาพที่ 2) ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาราคาเมล็ดพันธุ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรมีความเสี่ยงที่ต้องปลูกใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนของเกษตรกรที่สนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยในปี 2553 มีเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 11 ราย ขณะที่ปี 2560 มีเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นถึง 186 ราย โดยประกอบด้วยเกษตรกรรายเดิมจำนวน 54 ราย เกษตรกรรายใหม่จำนวน 132 ราย รองลงมาได้แก่ ภาคเอกชน ที่มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 9 บริษัทในปี 2553 เป็นจำนวน 31 บริษัท ในปี 2559 แต่ในปี 2560 มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการลดลงเหลือเพียงจำนวน 17 บริษัท



ภาพที่ 2 จำนวนผู้ใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ ปี 2553-2560


          ปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3
          ปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ที่ผลิตโดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ตั้งแต่ปี 2553-2560 จำนวน 96 ตัน พบว่า มีการนำใช้ประโยชน์ในระดับเกษตรกร และเชิงพาณิชย์ เป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงานและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยภาคเอกชนมีปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2553 มีปริมาณการใช้ประโยชน์จำนวน 1.3 ตัน เพิ่มปริมาณเป็น 5.1 ตัน ในปี 2560 สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 316 ตัน สำหรับจำหน่ายให้เกษตรกรภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง และส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และเวียดนาม เป็นต้น

         สหกรณ์การเกษตร เข้ามามีบทบาทการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มีปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้อย่างต่อเนื่อง โดยในเฉพาะ
ปี 2557 สหกรณ์นิคมแม่สอด สหกรณ์นิคมแม่ระมาด และสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม มีปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้สูงถึง 8.47 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2556 สหกรณ์จะมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรรายอื่น โดยในปี 2560 สหกรณ์มีพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 1,252 ไร่ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 313 ตัน  (ภาพที่ 3) เป็นการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรได้เข้าถึงเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และราคาถูก

          ในภาพรวมตั้งแต่ปี 2553-2560 พบว่า ปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้ในส่วนของภาคเอกชน สหกรณ์การเกษตร เกษตรกร กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานรัฐอื่นๆ คิดเป็น 35 28 22 13 และ 2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ (ภาพที่ 4)



ภาพที่ 3 ปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ ปี 2553-2560



ภาพที่ 4 สัดส่วนปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ ปี 2553-2560


       แหล่งผลิตและฤดูการผลิต
       การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ส่วนใหญ่มีการผลิต 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (ก.ย.-ธ.ค.) และฤดูฝน (พ.ค.-ส.ค.) คิดเป็น 40 และ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยอยู่ในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก คิดเป็น 79 18 2 และ 1 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ 
(ภาพที่ 5) จังหวัดที่มีพื้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์มากที่สุดได้แก่ เชียงใหม่ และตาก ตามลำดับ โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จากสหกรณ์การเกษตร และภาคเอกชน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ทำให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ที่สูงกว่าการผลิตในพื้นที่ภาคอื่นๆ รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เนื่องจากค่าแรงงานถูก



ภาพที่ 5  สัดส่วนพื้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ปี 2553-2560 


การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์
          ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ให้มีการผลิตให้ได้คุณภาพเมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร โดยการจัดการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน การทำแปลงต้นแบบ และร่วมเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ และตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์เบื้องต้น พร้อมทั้งติดตามและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้ที่สนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 โดยปี 2553 -2560 ได้ดำเนินการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และฝึกงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร จำนวนทั้งสิ้น 145 ครั้ง ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ 525 ราย ภาคเอกชน 100 ราย และเกษตรกร 2,610 ราย รวมทั้งสิ้น 3,235 ราย (ตารางที่ 2)



สรุป

1. นำนวัตกรรมพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ซึ่งมีศักยภาพให้ผลผลิตสูงและทนทานแล้งไปบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ลูกผสมเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตด้วยการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง

2. พัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ไทยก้าวสู่ Seed Hub

3. พัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สู่ Smart Farmer และ Smart Group

เอกสารอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ สุวรรณธาราดล พาโชค พงษ์พานิช และสรรเสริญ จำปาทอง. 2555. สามทศวรรษของ
ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไร่ลูกผสมในประเทศไทย. ว. แก่นเกษตร. 4: 16-30.


แหล่งที่มา :  พันธุ์นครสวรรค์ 3 จากต้นน้ำสู่ปลายทาง. การประชุมวิชาการสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2560 วันที่ 29-30 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมระยองรีสอร์ท จังหวัดระยอง

8 สิงหาคม 2560

โรคเหี่ยวเน่าแดงอ้อย


ระบาดรุนแรง ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ในเขตชลประทานหรือพื้นที่นา ทำให้ผลผลิตเสียหาย 30-100 เปอร์เซ็นต์  CCS ลดลง

โรคเหี่ยวเน่าแดงเกิดจากการทำลายของเชื้อรา 2 ชนิด คือ Fusarium moniliforme  และ  Colletotrichum falcatum

 เชื้อ Fusarium moniliforme อยู่ในดิน สามารถเข้าทำลายอ้อยได้ทางรากและโคนต้น ส่วนเชื้อ Colletotrichum falcatum สามารถเข้าทำลายอ้อยได้ตามรอยแผลที่เกิดจากหนอนหรือแผลแตกของลำ หรือทางรอยเปิดธรรมชาติ


หากเกษตรกรปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์อ้อยที่ติดโรคเหี่ยวเน่าแดง จะทำให้การระบาดกระจายในวงกว้างและยากต่อการป้องกันกำจัด

ลักษณะอาการ
อ้อยจะเหี่ยวตายฉับพลันยืนต้นแห้งตายไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้
1. ระยะแรกอายุ 4-5 เดือน อ้อยใบเหลือง ขอบใบแห้ง
2. อ้อยจะยืนต้นแห้งตายเป็นกอ ๆ จนถึงระยะเก็บเกี่ยว
3. เมื่อผ่าในลำจะเห็นเนื้ออ้อยเน่าช้ำเป็นสีแดงเป็นจ้ำ หรือเนื้ออ้อยเน่าเป็นสีน้ำตาลปนม่วง

การป้องกันกำจัด
เมื่อพบการระบาด ก่อนการเก็บเกี่ยว
    1)  เร่งระบายน้ำแปลงที่มีน้ำขัง
    2)  งดการเร่งปุ๋ยและน้ำ
    3)  รีบตัดอ้อยเข้าหีบ

การจัดการแก้ไขหลังเก็บเกี่ยว
   1)  รื้อแปลงทิ้ง
   2)  ทำลายซากตอเก่า โดยการคราดออกและเผาทิ้ง
   3)  ไถดินตาก ประมาณ 3 ครั้ง
   4)  ปลูกพืชสลับ เช่น ข้าวหรือกล้วยก่อนปลูกอ้อยฤดูใหม่
   5)  ปลูกพันธุ์ที่ต้านทาน เช่น ขอนแก่น 3 หรือ แอลเค 92-11
   6)  คัดเลือกพันธุ์ที่สมบูรณ์ จากแหล่งที่ไม่เป็นโรค หรือเตรียมแปลงพันธุ์ด้วยตนเอง
   7)  ถ้าไม่แน่ใจว่าพันธุ์ต้านทานหรือไม่ ก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ในสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรค อัตราต่อไปนี้
                 - เบนโนมิล (เบนเลท 25 % WP) อัตรา 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
                 - ไธโอฟาเนท-เมททิล (ทอปซินเอ็ม 50 %) 20 ซีซ๊  ต่อน้ำ 20 ลิตร
                 - โปรพิโคนาโซล (ทิลท์ 250 อีซี.) 16 ซีซ๊ ต่อน้ำ 20 ลิตร


 ภาพที่ 1, 2 และ3 ในสภาพที่มีการปลูกเชื้อ อ้อยพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง จะแสดงอาการเน่าแดง ในปล้องที่มีการปลูกเชื้อ หรือลุกลาม 1-2 ปล้องเท่านั้น





ภาพที่ 4 อ้อยพันธุ์อ่อนแอ  ในสภาพที่มีการปลูกเชื้อ จะมีการลุกลามของโรคไปยังปล้องอื่นๆ หลายปล้อง หรือเน่าแดงทั้งต้น 


ภาพที่ 5 ท่อนพันธุ์อ้อยที่มีลักษณะไส้แดง  จากแปลงที่มีโรคระบาด ไม่ควรใช้ทำพันธุ์


ข้อมูล: เอกสารวิชาการ การป้องกันกำจัดศัตรูอ้อย สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร

4 สิงหาคม 2560

การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3


การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมทนทานแล้งพันธุ์นครสวรรค์ 3 ดำเนินการวิจัยโดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย หนังสือ เอกสาร ผลงานวิจัย และข้อมูลปฐมภูมิ รวมทั้งการสัมภาษณ์เกษตรกรและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพรรณา การเขียนผังลูกโซ่งานวิจัย (Impact pathway) และการประเมินผลประโยชน์ที่เกิดจากงานวิจัย วิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ อาศัยแนวคิดหลักการส่วนเกินทางเศรษฐกิจสำหรับวิเคราะห์ผลประโยชน์จากงานวิจัย และตัวชี้วัดความคุ้มค่าของการลงทุนวิจัย

งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้งพันธุ์นครสวรรค์ 3 ใช้งบประมาณสำหรับการลงทุนวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 26.19 ล้านบาท ดำเนินการระหว่างปี 2547-2559 รวมระยะเวลา 12 ปี

ผลงานวิจัยนี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ณ เวลาปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2559) มีมูลค่าสูงถึง 197 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าโครงการวิจัยนี้มีความคุ้มค่าในการลงทุน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นครอบคลุมงบประมาณจากการลงทุนวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลตอบแทนต่อต้นทุน (BCR) เท่ากับ 6.29 ซึ่งหมายถึงเงินที่กรมวิชาการเกษตรลงทุนในงานวิจัยในโครงการนี้ 1 บาท จะให้ผลประโยชน์กลับคือมา 6.29 บาท หรือ 6.29 เท่า

และเมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนภายในจากการลงทุนวิจัย (IRR) เท่ากับร้อยละ 46 หมายความว่า โครงการนี้ให้อัตราผลตอบแทนคืนกลับมาให้โครงการคิดเป็นร้อยละ 46 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3  สามารถสรุปได้ว่า โครงการวิจัยนี้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรควรมีการสนับสนุนทุนวิจัยงานด้านปรับปรุงพันธุ์พืชเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารต่อไปในอนาคต



แหล่งที่มา:
หนึ่งฤทัย และคณะ, 2560. การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมทนทานแล้งพันธุ์นครสวรรค์ 3. การประชุมวิชาการข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์


2 สิงหาคม 2560

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ นครสวรรค์ 4

ผลผลิตสูง ทนแล้ง ปรับตัวได้ดี ต้านทานโรค

เดิมมีรหัส NSX042022 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ใหม่อีก 1 พันธุ์ ที่วิจัยและพัฒนาพันธุ์โดย ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร  และเสนอรับรองพันธุ์ในชื่อ พันธุ์นครสวรรค์ 4

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวอายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-120 วัน

เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 เป็นพันธุ์แม่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei452006 เป็นพันธุ์พ่อ

ลำต้นสูง 190 เซนติเมตร ความสูงของระดับฝัก 106 เซนติเมตร มีระบบรากและลำต้นแข็งแรง ทนทานต่อการหักล้ม มีอายุวันออกไหม 54 วัน และวันออกดอกตัวผู้ 53 วัน เมล็ดเป็นชนิดหัวแข็งสีส้ม

ลักษณะเด่น
1) ผลผลิตสูงเฉลี่ย 1,033 กิโลกรัมต่อไร่ (เฉลี่ยจาก 67 แปลงทดสอบ) ใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสมการค้า
2) มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 695 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อกระทบแล้งช่วงออกดอกนานหนึ่งเดือน (ผลผลิตลดลง 49 % จากสภาพฝนปกติ)
3) มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง โรคใบไหม้แผลใหญ่ และโรคราสนิม ในระดับปานกลาง

สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4 มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดี สามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ 60190  โทรศัพท์ 0 5624 1019
โทรสาร 0 5624 1498  Email: nsfcrc@doa.in.th

ลักษณะทรงต้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4

ลักษณะฝักของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4 เมล็ดเป็นชนิดหัวแข็ง สีส้ม

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ นครสวรรค์ 5

ผลผลิตสูง อายุเก็บเกี่ยวสั้น ทนแล้ง ต้านทานโรค

นครสวรรค์ 5 (NSX052014) เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวอายุค่อนข้างสั้น สามารถเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 95-100 วัน

วิจัยและพัฒนาพันธุ์ โดย ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร

เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ ตากฟ้า 7 (Nei462013) เป็นพันธุ์แม่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ ตากฟ้า 5 (Nei452009) เป็นพันธุ์พ่อ

ลำต้นสูง 202 เซนติเมตร ความสูงของระดับฝัก 109 เซนติเมตร มีอายุวันออกไหม 53 วัน และวันออกดอกตัวผู้ 52 วัน เมล็ดเป็นชนิดกึ่งหัวแข็งสีส้มเหลือง

ลักษณะเด่น
1) ผลผลิตสูง เฉลี่ย 1,176 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 3 ร้อยละ 10
2) มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 749 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อกระทบแล้งช่วงออกดอกนานหนึ่งเดือน (ผลผลิตลดลง 49% จากสภาพฝนปกติ)
3) มีความต้านทานต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่ โรคราสนิม  และต้านทานปานกลางต่อโรคราน้ำค้าง
4) ฝักแห้งเร็วในขณะที่ต้นยังเขียวสด ทำให้เก็บเกี่ยวได้เร็ว มีความชื้นขณะเก็บเกี่ยวน้อยกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกพร้อมกัน

สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 5 ให้ผลผลผลิตสูงในสภาพแวดล้อมที่ดี มีการจัดการดี จึงเหมาะสำหรับแนะนำเป็นพันธุ์เฉพาะพื้นที่ เช่น ปลูกในพื้นที่หลังนาที่มีการให้น้ำชลประทาน แหล่งปลูกที่เกษตรต้องการเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วเพื่อปลูกพืชตาม หรือแหล่งปลูกที่มีการระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่ในภาคเหนือของไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ 60190  โทรศัพท์ 0 5624 1019
โทรสาร 0 5624 1498   website: http://www.doa.go.th/fcrc/nsn/   email: nsfcrc@doa.in.th


ลักษณะฝักข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม นครสวรรค์ 5 เมล็ดเป็นชนิดกึ่งหัวแข็ง สีส้มเหลือง


ลักษณะทรงต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม นครสวรรค์ 5 ฝักแห้งเร็วในขณะที่ต้นยังเขียวสด

เนื้อหา