4 สิงหาคม 2560

การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3


การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมทนทานแล้งพันธุ์นครสวรรค์ 3 ดำเนินการวิจัยโดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย หนังสือ เอกสาร ผลงานวิจัย และข้อมูลปฐมภูมิ รวมทั้งการสัมภาษณ์เกษตรกรและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพรรณา การเขียนผังลูกโซ่งานวิจัย (Impact pathway) และการประเมินผลประโยชน์ที่เกิดจากงานวิจัย วิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ อาศัยแนวคิดหลักการส่วนเกินทางเศรษฐกิจสำหรับวิเคราะห์ผลประโยชน์จากงานวิจัย และตัวชี้วัดความคุ้มค่าของการลงทุนวิจัย

งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้งพันธุ์นครสวรรค์ 3 ใช้งบประมาณสำหรับการลงทุนวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 26.19 ล้านบาท ดำเนินการระหว่างปี 2547-2559 รวมระยะเวลา 12 ปี

ผลงานวิจัยนี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ณ เวลาปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2559) มีมูลค่าสูงถึง 197 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าโครงการวิจัยนี้มีความคุ้มค่าในการลงทุน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นครอบคลุมงบประมาณจากการลงทุนวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลตอบแทนต่อต้นทุน (BCR) เท่ากับ 6.29 ซึ่งหมายถึงเงินที่กรมวิชาการเกษตรลงทุนในงานวิจัยในโครงการนี้ 1 บาท จะให้ผลประโยชน์กลับคือมา 6.29 บาท หรือ 6.29 เท่า

และเมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนภายในจากการลงทุนวิจัย (IRR) เท่ากับร้อยละ 46 หมายความว่า โครงการนี้ให้อัตราผลตอบแทนคืนกลับมาให้โครงการคิดเป็นร้อยละ 46 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3  สามารถสรุปได้ว่า โครงการวิจัยนี้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรควรมีการสนับสนุนทุนวิจัยงานด้านปรับปรุงพันธุ์พืชเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารต่อไปในอนาคต



แหล่งที่มา:
หนึ่งฤทัย และคณะ, 2560. การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมทนทานแล้งพันธุ์นครสวรรค์ 3. การประชุมวิชาการข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์


เนื้อหา