13 สิงหาคม 2557

โรครากเน่า หัวเน่า ระบาดหนักในไร่มันสำปะหลัง

เตือนภัยโรครากเน่าหัวเน่าในมันสำปะหลัง ขณะนี้พบการระบาดรุนแรงในพื้นที่ อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี กินพื้นที่ไปกว่า 10,000 ไร่

ดร.จรรยา มณีโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าโครงการวิจัยการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการในมันสำปะหลัง ซึ่งได้ทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวทช. บอกว่า จากการตรวจวินิจฉัย โดย นายรังษี เจริญสถาพร นักวิชาการโรคพืช กรมวิชาการเกษตร พบสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา (Phythopthora meadii) เป็นเชื้อราในดิน และเหง้ามันที่สามารถอยู่ได้ข้ามฤดู ซึ่งสามารถสร้างสปอร์ที่ว่ายน้ำได้ จึงแพร่ระบาดในหน้าฝนได้อย่างรวดเร็ว

มันสำปะหลังจะแสดงอาการตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป...โดยเชื้อจะเข้าสู่โคนต้นก่อน ทำให้เกิดอาการบวมพองและมีปุ่มรากที่โคนต้นเหนือผิวดิน จากนั้นเชื้อจะลามลงไปที่รากและก้านขั้วหัวมัน

ส่วนอาการเหนือดินสังเกตได้จากใบเริ่มซีดเหลือง จากนั้นใบล่างเริ่มแสดงอาการเหี่ยวและแห้งคาต้น เมื่อถอนต้นรากและหัวเน่า แต่ลำต้นยังเป็นปกติ เกษตรกรจึงตัดต้นไปขายเป็นท่อนพันธุ์ จึงทำให้เชื้อสามารถแพร่ขยายได้ในวงกว้าง...ยิ่งพื้นที่ อ.เสิงสาง และ อ.น้ำยืน เป็นแหล่งผลิตท่อนพันธุ์สำคัญของประเทศ ยิ่งทำให้เชื้อสามารถกระจายโรคไปสู่แหล่งปลูกจังหวัดอื่นๆ และประเทศเพื่อนบ้าน

“จากการลงพื้นที่สำรวจ เราพบปัจจัยการระบาดมาจากใช้พันธุ์ ซึ่งอ่อนแอต่อโรค ดินระบายน้ำไม่ดี การปลูกมันระยะชิดเกินไป รวมทั้งเมื่อขุดมันไปขาย มีการทิ้งเหง้าเป็นโรคไว้ในแปลง จึงกลายเป็นแหล่งสะสมโรค และการระบาดจะเกิดมากกับมันสำปะหลังพันธุ์ 89, ระยอง 11, ห้วยบง 60 และเกษตรศาสตร์ 50 แต่พันธุ์ระยอง 72 ที่ปลูกในแหล่งระบาดกลับไม่แสดงอาการของโรคให้เห็น”

วิธีแก้ปัญหา ดร.จรรยา บอกว่า จากการทดลองด้วยการนำท่อนพันธุ์ชุบด้วยสาร ฟอซีทิล อลูมินัม (fosetyl aluminium) ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 10 นาที เพื่อกำจัดโรคที่ติดมากับท่อนพันธุ์ และใช้สาร fosetyl aluminium ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นอายุ 3 เดือน ที่มีอาการใบเหลืองทุก 1 เดือน ติดต่อกัน 4 ครั้ง...สามารถลดจำนวนต้นเป็นโรคได้ 75%

ส่วนมาตรการป้องกัน...ควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อราไฟทอปธอรา เช่น ข้าวโพด อ้อย...หากต้องการปลูกมัน ควรปรับฤดูปลูกไปช่วงฤดูแล้ง เพื่อเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฝนตกชุก...หลังเก็บเกี่ยว เก็บเหง้า ตอ และต้นมันสำปะหลังออกจากแปลง และเผาเพื่อฆ่าเชื้อ

ไถระเบิดดินดานเพื่อให้ดินระบายน้ำดี...ควรปลูกแบบยกร่องตามแนวลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลออกได้เร็ว ไม่ขังในช่วงฤดูฝน...ใช้พันธุ์ทนทานต่อโรค ระยอง 72...ใช้ท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งที่ไม่เป็นโรค หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสาร fosetyl aluminium ก่อนปลูก สามารถแช่พร้อมกับสารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้

ใช้ระยะปลูก 80× 100 ซม. เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง...ไม่ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพราะทำให้ดินสะสมความชื้นมากเอื้อต่อการเจริญของเชื้อรา และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ต้นเป็นโรคได้ง่าย

หากเกษตรกรสงสัยว่าพบโรครากเน่าหัวเน่า ติดต่อขอคำปรึกษาได้จาก คุณรังษี เจริญสถาพร สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน โทร.08-1874-1804.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/442798

25 กรกฎาคม 2557

ซื้อปุ๋ยอย่างไร ให้คุ้มค่าเงิน



ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและจำเป็นต่อการปลูกพืช เป็นส่วนที่จะทำให้ต้นทุนการปลูกพืชเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพิจารณาเลือกซื้อปุ๋ยเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุดเป็นสิ่งที่เกษตรกรควรให้ความสนใจ ในท้องตลาดมีปุ๋ยเคมีผลิตมาจำหน่ายหลายสูตรมากเกินความจำเป็น ก็เพื่อประโยชน์ในการขายให้ได้กำไรมากที่สุด โดยผู้ผลิตลงทุนต่ำที่สุด ธาตุอาหารที่อยู่ในปุ๋ยแต่ละตัวมีราคาไม่เท่ากัน ธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) ราคาแพงที่สุด ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) รองลงมา และธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ราคาถูกที่สุด ดังนั้นผู้ผลิตสูตรต่าง ๆ จึงพยายามหลีกเลี่ยงการผลิตปุ๋ยที่มี P สูง เพราะจะทำให้ต้นทุนสูง

วิธีการง่ายๆ ในการคิด ก่อนตัดสินใจซื้อปุ๋ยมาใช้ให้คุ้มค่าของเงินที่เสียไป มีขั้นตอนดังนี้

กำหนดค่าของธาตุอาหารตามราคา คือ
ธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) ให้มีค่า 3
ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ให้มีค่า 2
ธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ให้มีค่า 1
** เป็นการสมมุติเพื่อประโยชน์ในการคำนวณเท่านั้น **

ขั้นต่อไป เอาค่าของธาตุอาหาร NPK ที่สมมุติ มาคูณกับธาตุอาหารหลักของแต่ละสูตร โดยจัดแยกกลุ่มที่มีสูตรธาตุอาหารใกล้เคียงกัน เช่น

สูตรปุ๋ย................คูณ กับค่าของ NPK............................มีคุณค่าของสูตร
16-8-8.......(16x2) – (8x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+24+8.............= 64
16-12-8.....(16x2) – (12x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+36+8.............= 76
16-16-8.....(16x2) – (16x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+48+8.............= 88
16-20-0.....(16x2) – (20x3) - (0x1)...เท่ากับ 32+60+0.............= 92

จากนั้น คิด ค่าการเอาเปรียบ
ให้เอาคุณค่าของแต่ละสูตรที่คำนวณได้ ไปหาร ราคาขายแต่ละกระสอบ จะได้ ค่าการที่เอาเปรียบของแต่ละสูตร ตัวเลขยิ่งมากเท่าใด แสดงว่าสูตรนั้นยิ่งเอาเปรียบมาก คุ้มค่าเงินน้อย

เช่น
• สูตร 16-8-8 มีคุณค่าของสูตร 64 ขายกระสอบละ 650 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 650÷64 = 10.15
• สูตร 16-12-8 มีคุณค่าของสูตร 76 ขายกระสอบละ 710 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 710÷76 = 9.34
• สูตร 16-16-8 มีคุณค่าของสูตร 88 ขายกระสอบละ 800 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 800 ÷88 = 9.09
• สูตร 16-20-0 มีคุณค่าของสูตร 92 ขายกระสอบละ 720 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 720÷92 = 7.82

จะเห็นว่าสูตร16-8-8 เอาเปรียบเกษตรกรมากที่สุด เพราะมีค่าการเอาเปรียบถึง 10.15
ส่วนสูตร 16-20-0 เอาเปรียบเกษตรกรน้อยกว่า มีค่าการเอาเปรียบ 7.82 เท่านั้น
ดังนั้น ควรเลือกซื้อสูตร 16-20-0 เพราะเอาเปรียบเกษตรกรน้อยกว่า
แต่ถ้าต้องการธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ก็ควรใช้สูตร 16-16-8 จะคุ้มค่าที่สุด เพราะมีค่าการเอาเปรียบ 9.09

สรุปแล้ว ถ้าปุ๋ยมีราคาขายแต่ละกระสอบเท่ากัน ให้เลือกซื้อสูตรที่มีค่าการขายที่เอาเปรียบน้อยกว่า จะคุ้มค่าเงินที่สุด

ดังนั้นถ้ามีสูตรปุ๋ยใหม่ๆแปลกๆออกมาวางขายในท้องตลาด เกษตรกรสามารถ คำนวณตามวิธีที่กล่าวมาข้างต้น
เปรียบเทียบดู แล้วเลือกซื้อปุ๋ยสูตรที่คุ้มค่าเงินที่สุด

ที่มา:คู่มือการผสมปุ๋ยใช้เอง

21 กรกฎาคม 2557

ศูนย์รับแจ้งเบาะแสปัจจัยการผลิตไม่ได้คุณภาพและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาการเกษตร

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ รับแจ้งเบาะแส ปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช พันธุ์พืช ที่ไม่ได้คุณภาพ รับเรื่องร้องเรียนปัญหาการเกษตร รวมทั้งให้คำแนะนำปัญหาในการผลิตพืช ตามนโยบายช่วยเหลือประชาชน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เกษตรกร หรือประชาชน สามารถแจ้งเบาะแส ร้องเรียน หรือ ขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์วิจัยฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่อยู่ใกล้บ้าน ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค



14 พฤษภาคม 2557

ผลกระทบของสารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในการเกษตร

การใช้สารกำจัดวัชพืช หรือ ยาฆ่าหญ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดวัชพืชที่ขึ้นในแปลงปลูกทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อไม่ให้ไปแย่งปัจจัยการเจริญเติบโตจากพืชปลูก เป็นวิธีการที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติ เนื่องจากสะดวก ให้ผลรวดเร็ว ไม่ต้องใช้แรงงานมาก

การใช้สารกำจัดวัชพืชต้องมีความรู้และใช้ให้ถูกต้อง สารกำจัดวัชพืชมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการเข้าทำลายในพืชต่าง ๆ กัน การใช้สารกำจัดวัชพืชให้ถูกชนิดและใช้ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำ ทำให้สารมีประสิทธิภาพในการกำจัดได้ดี และไม่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก พืชชนิดอื่นในพื้นที่ข้างเคียง สิ่งแวดล้อม หรือต่อผู้ใช้เอง

ผลกระทบจากการใช้สารกำจัดวัชพืชที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักพบในช่วงต้นฤดูปลูก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เกิดจากละอองสารกำจัดวัชพืชที่เกษตรกรพ่นเพื่อควบคุมวัชพืชในแปลงปลูกปลิวไปทำความเสียหายแก่พืชปลูกในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น การพ่นสารกำจัดวัชพืช อมิทริน อทราซีน หรือ ทูโฟว์ดี เพื่อกำจัดวัชพืชในไร่อ้อย มักส่งผลกระทบต่อพืชปลูกชนิดอื่น มันสำปะหลัง พริก และพืชใบกว้างอีกหลายชนิดมีความอ่อนแอต่อสารดังกล่าวและมักได้รับผลกระทบในแต่ละปี เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชต่างชนิดในบริเวณใกล้เคียงกัน เกษตรกรที่จะใช้สารกำจัดวัชพืช ควรศึกษาวิธีการใช้สารโดยอ่านจากฉลากอย่างละเอียด และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สารกำจัดวัชพืชมากขึ้น มีการพูดคุยทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการปลูกพืชหรือก่อนที่จะมีการพ่นสารกำจัดวัชพืช เพื่อป้องกันความเสียหายและลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรด้วยกัน หากยังไม่เข้าใจในการใช้สารกำจัดวัชพืช สามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

ตากฟ้า 86-5 : ฝ้ายพันธุ์ใหม่เส้นใยสีเขียว

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โดย ดร.ปริญญา สีบุญเรือง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และคณะ ได้พัฒนาพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดมลภาวะที่เกิดจากสารเคมีและน้ำเสียในการฟอกย้อม เพื่อเป็นการยกระดับมูลค่าผลผลิตฝ้าย และผลิตภัณฑ์สิ่งทอของไทย โดยการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ตากฟ้า 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ฝ้ายเส้นใยยาว ให้ผลผลิตสูง และทนทานต่อโรคใบหงิก กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียวที่เส้นใยมีความยาวปานกลางแต่อ่อนแอต่อโรคใบหงิก

นำลูกผสมที่ได้รับไปทำการผสมย้อนกลับไปหาพันธุ์ตากฟ้า 2 อีก 4 ครั้ง แล้วทำการคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ฝ้ายที่มีเส้นใยสีเขียวและมีคุณภาพเส้นใยที่ดี ประมาณ 20 สายพันธุ์ ในระหว่างปี 2543-2550 จากนั้นทำการประเมินผลผลิต และศึกษาข้อมูลจำเพาะอื่นๆ ในระหว่างปี 2551-2554 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 12 ปี คัดเลือกจนได้พันธุ์ฝ้ายสีเขียวที่ให้ผลผลิตสูงสุด และมีคุณภาพเส้นใยดีที่สุด โดยเฉพาะความยาวและความนุ่ม สำหรับเผยแพร่และแนะนำสู่เกษตรกร ขณะนี้ศูนย์ฯ ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ฝ้าย ตากฟ้า 86-5 สำหรับจำหน่ายให้เกษตรกร ข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-5624-1019




จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชไร่

14 พฤษภาคม 2557
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชไร่ ดังนี้

1. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผสมเปิด พันธุ์นครสวรรค์ 1 ราคากิโลกรัมละ 20 บาท
2. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 3 ราคากิโลกรัมละ 70 บาท
3. ถั่วเหลืองพันธุ์นครสวรรค์ 1 ราคากิโลกรัมละ 22 บาท
4. ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 3 ราคากิโลกรัมละ 15 บาท
5. ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 84-4 ราคากิโลกรัมละ 15 บาท
6. ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 86-5 ราคากิโลกรัมละ 15 บาท

ผู้สนใจสามารถติดต่อขอซื้อเมล็ดพันธุ์ ในวันและเวลาราชการ ได้ที่
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์
โทร. 0-5624-1019 โทรสาร 0-5624-1498

*** ปริมาณเมล็ดพันธุ์แต่ละพืชที่จำหน่ายอาจมีการเปลี่ยนแปลง จากวันที่ประกาศ ดังนั้น กรุณาโทรสอบถามก่อนการเดินทางมาซื้อเมล็ดพันธุ์ ***

เนื้อหา