24 พฤศจิกายน 2553

โรคราแป้ง ในถั่วเขียว

เกษตรกรที่ปลูกถั่วเขียวในช่วงหน้าแล้ง ให้หมั่นตรวจแปลงเพื่อติดตามการระบาดของโรคราแป้ง
ซึ่งบางพื้นที่เริ่มพบการระบาดของโรคในถั่วเขียวที่มีอายุประมาณเกือบหนึ่งเดือน

โรคราแป้งเกิดจากเชื้อรา Oidium sp. ระบาดในสภาพอากาศที่แห้ง และเย็น ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

โรคราแป้ง จะเกิดที่ใบล่างๆ ก่อน ระยะแรกจะเห็นสปอร์สีขาวคล้ายผงแป้งบนใบ ระยะต่อมา ใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และใบแห้งในที่สุด ถ้าถั่วเขียวเป็นโรคระยะออกดอกและติดฝัก จะทำให้ต้นแคระแกร็น ติดฝักน้อย ฝักและเมล็ดมีขนาดเล็ก

การพ่นด้วยสารเบโนมิล (benomyl 50% WP) อัตรา 15-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อถั่วเขียวอายุ 30 วัน และพ่นซ้ำอีกทุก 10 วัน รวม 3 ครั้ง สามารถป้องกันกำจัดโรคราแป้งได้


แปลงปลูกถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 36


ราแป้งเริ่มทำลายที่ใบเลี้ยง




โครงสร้างของเชื้อ Oidium sp.

ลักษณะสปอร์ของเชื้อ Oidium sp.
















                       


16 พฤศจิกายน 2553

ซื้อปุ๋ยอย่างไร...ให้คุ้มค่าเงิน



ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและจำเป็นต่อการปลูกพืช เป็นส่วนที่จะทำให้ต้นทุนการปลูกพืชเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพิจารณาเลือกซื้อปุ๋ยเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุดเป็นสิ่งที่เกษตรกรควรให้ความสนใจ ในท้องตลาดมีปุ๋ยเคมีผลิตมาจำหน่ายหลายสูตรมากเกินความจำเป็น ก็เพื่อประโยชน์ในการขายให้ได้กำไรมากที่สุด โดยผู้ผลิตลงทุนต่ำที่สุด ธาตุอาหารที่อยู่ในปุ๋ยแต่ละตัวมีราคาไม่เท่ากัน ธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) ราคาแพงที่สุด ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) รองลงมา และธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ราคาถูกที่สุด ดังนั้นผู้ผลิตสูตรต่าง ๆ จึงพยายามหลีกเลี่ยงการผลิตปุ๋ยที่มี P สูง เพราะจะทำให้ต้นทุนสูง

วิธีการง่ายๆ ในการคิด ก่อนตัดสินใจซื้อปุ๋ยมาใช้ให้คุ้มค่าของเงินที่เสียไป มีขั้นตอนดังต่อนี้

กำหนดค่าของธาตุอาหารตามราคา คือ
ธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) ให้มีค่า 3
ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ให้มีค่า 2
ธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ให้มีค่า 1
** เป็นการสมมุติเพื่อประโยชน์ในการคำนวณเท่านั้น **

ขั้นต่อไป เอาค่าของธาตุอาหาร NPK ที่สมมุติ มาคูณกับธาตุอาหารหลักของแต่ละสูตร โดยจัดแยกกลุ่มที่มีสูตรธาตุอาหารใกล้เคียงกัน เช่น

สูตรปุ๋ย................คูณ กับค่าของ NPK............................มีคุณค่าของสูตร
16-8-8.......(16x2) – (8x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+24+8.............= 64
16-12-8.....(16x2) – (12x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+36+8.............= 76
16-16-8.....(16x2) – (16x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+48+8.............= 88
16-20-0.....(16x2) – (20x3) - (0x1)...เท่ากับ 32+60+0.............= 92

จากนั้น คิด ค่าการเอาเปรียบ
ให้เอาคุณค่าของแต่ละสูตรที่คำนวณได้ ไปหาร ราคาขายแต่ละกระสอบ จะได้ ค่าการที่เอาเปรียบของแต่ละสูตร ตัวเลขยิ่งมากเท่าใด แสดงว่าสูตรนั้นยิ่งเอาเปรียบมาก คุ้มค่าเงินน้อย

เช่น
• สูตร 16-8-8 มีคุณค่าของสูตร 64 ขายกระสอบละ 510 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 510÷64 = 7.97
• สูตร 16-12-8 มีคุณค่าของสูตร 76 ขายกระสอบละ 590 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 590÷76 = 7.76
• สูตร 16-16-8 มีคุณค่าของสูตร 88 ขายกระสอบละ 510 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 510 ÷88 = 5.80
• สูตร 16-20-0 มีคุณค่าของสูตร 92 ขายกระสอบละ 510 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 510÷92 = 5.54

จะเห็นว่าสูตร16-8-8 เอาเปรียบเกษตรกรมากที่สุด เพราะมีค่าการเอาเปรียบถึง 7.97
ส่วนสูตร 16-20-0 เอาเปรียบเกษตรกรน้อยกว่า มีค่าการเอาเปรียบ 5.54 เท่านั้น
ดังนั้น ควรเลือกซื้อสูตร 16-20-0 เพราะเอาเปรียบเกษตรกรน้อยกว่า
แต่ถ้าต้องการธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ก็ควรใช้สูตร 16-16-8 จะคุ้มค่าที่สุด เพราะมีค่าการเอาเปรียบ 5.8

สรุปแล้ว ถ้าปุ๋ยมีราคาขายแต่ละกระสอบเท่ากัน ให้เลือกซื้อสูตรที่มีค่าการขายที่เอาเปรียบน้อยกว่า จะคุ้มค่าเงินที่สุด

ดังนั้นถ้ามีสูตรปุ๋ยใหม่ๆแปลกๆออกมาวางขายในท้องตลาด เกษตรกรสามารถ คำนวณตามวิธีที่กล่าวมาข้างต้น
เปรียบเทียบดู แล้วเลือกซื้อปุ๋ยสูตรที่คุ้มค่าเงินที่สุด

ที่มา:คู่มือการผสมปุ๋ยใช้เอง

15 พฤศจิกายน 2553

ระยอง 11 : มันสำปะหลังแป้งสูง


ภาพที่ 1 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 อายุ 3 เดือน


ภาพที่ 2 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 อายุเก็บเกี่ยว 12 เดือน


ภาพที่ 3 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 อายุเก็บเกี่ยว 12 เดือน

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11
เกิดจากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และ พันธุ์ OMR 29-20-118 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ผ่านการประเมินศักยภาพของพันธุ์ ณ ศูนย์วิจัย ศูนย์บริการวิชาการ และการทดสอบในไร่เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ จนได้พันธุ์ CMR 35-22-196 ผ่านการรับรองพันธุ์จากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ให้เป็นพันธุ์รับรอง โดยได้ตั้งชื่อพันธุ์ว่า ระยอง 11

ลักษณะเด่น
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 หรือ ที่เกษตรกรรู้จักกันดีในชื่อพันธุ์ “ เขียวปลดหนี้ ” ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.44 ตัน/ไร่ ให้เปอร์เซ็นต์แป้ง 26.1เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บเกี่ยวในฤดูแล้งเปอร์เซ็นต์แป้งจะสูงถึง 29-32 เปอร์เซ็นต์ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตแป้งและเปอร์เซ็นต์แป้งสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์ นอกจากนี้ยังทนต่อสภาพแล้งได้ดี ต้านทานต่อโรคไหม้ และโรคใบจุดสีน้ำตาล

เกษตรกร หรือผู้สนใจที่จะปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ หรือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ

เนื้อหา