20 กันยายน 2554

กรมวิชาการเกษตรเตรียมยกเลิกการนำเข้าวัตถุอันตราย 4 ชนิด

กรมวิชาการเกษตรเตรียมเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร 4 ชนิด ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากที่มีกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรร้องเรียนว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น คาร์โบฟูราน และเมโธมิล เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานให้ออกประกาศยกเลิกการนำเข้าภายในสิ้นปีนี้ หลังพบว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบปัญหาสารพิษตกค้างซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่เกษตรกรไม่ได้ใช้ตามคำแนะนำ

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังเฝ้าระวังวัตถุมีพิษทางการเกษตรอีก 7 ชนิด ซึ่งหากมีผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง อาจเตรียมยกเลิกการนำเข้าในอนาคต
ที่มา: Thai PBS

16 กันยายน 2554

ลดต้นทุน มันสำปะหลัง ได้...ง่ายนิดเดียว

ไทยเป็นแหล่งผลิต “มันสำปะหลัง” ที่มีศักยภาพสูง แต่ปัจจุบันผู้ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิต ที่ขยับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีที่มีราคาค่อนข้างแพง ขณะที่การใช้ปุ๋ยของเกษตรกรยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะหมดไปได้ หากเกษตรกรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำง่าย ๆ นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังแล้ว ยังสามารถช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย

นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีปัญหาการใส่ปุ๋ยไม่ถูกสูตร ไม่ถูกอัตรา ไม่ถูกเวลา และไม่ถูกวิธีส่วนใหญ่มีความเคยชินกับการใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราตั้งแต่ 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณธาตุอาหารในดิน และไม่ตรงกับความต้องการธาตุอาหารของมันสำปะหลัง การที่เกษตรกรไม่ได้ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ถือเป็นการใช้ปุ๋ยในปริมาณมากเกินความต้องการของพืช ทำให้สิ้นเปลืองและมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น เกษตรกรจึงควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยก่อนปลูกมันสำปะหลังควรเก็บตัวอย่างดินและตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยได้ถูกสูตรและเหมาะสมกับสภาพดินแต่ละพื้นที่ เบื้องต้นมีสูตรปุ๋ยใกล้เคียง 4 สูตร ที่เกษตรกรสามารถเลือกใช้ให้สอดคล้องกับค่าวิเคราะห์ดินในแปลงของตนเอง ได้แก่ ปุ๋ยสูตร 16-16-8, สูตร 16-8-8, สูตร 13-13-21 และปุ๋ยสูตร 15-7-18 แนะนำให้ใช้ในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่เพียงครั้งเดียวหลังจากปลูก 1-3 เดือน เมื่อดินมีความชื้นเพียงพอ โดยโรยปุ๋ยสองข้างของต้นมันสำปะหลังตามแนวกว้างของพุ่มใบ แล้วต้องพรวนดินกลบด้วย

จากการที่ได้ส่งเสริมให้ชาวไร่มันสำปะหลัง จำนวน 100 แปลง รวมพื้นที่ 760 ไร่ กระจายอยู่ใน 16 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา เป็นแปลงต้นแบบการจัดการปุ๋ย โดยให้ตรวจวิเคราะห์ดินก่อนที่จะปลูกมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจวิเคราะห์ดินแบบรวดเร็ว (Soil Test Kit) พร้อมแนะนำเทคนิคการใส่ปุ๋ยมันสำปะหลังให้สอดคล้องตามค่าวิเคราะห์ดินแต่ละแปลง โดยให้ใส่ปุ๋ยเพียงครั้งเดียวหลังปลูก 1-3 เดือน อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นกับปริมาณธาตุอาหารในดิน พบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจและยอมรับเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยนี้ เนื่องจากมันสำปะหลังในแปลงต้นแบบเจริญเติบโตดีกว่า ทั้งยังมีใบสีเขียวเข้มและมีความแตกต่างเมื่อเทียบกับแปลงข้างเคียงที่จัดการปุ๋ยแบบเดิมซึ่งเป็นวิธีของเกษตรกร (ไม่ตรวจวิเคราะห์ดิน)

การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใส่ปุ๋ยเพียงครั้งเดียว มีข้อดี คือ ช่วยประหยัดแรงงานในการใส่ปุ๋ย นอกจากนี้ยังใส่ปุ๋ยได้ทันเวลาตามความต้องการของต้นพืช ปุ๋ยไม่สลายไปกับน้ำหรือแสงแดดทำให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยได้ค่อนข้างมาก ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้ถึง 300-400 บาทต่อไร่ และทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 20-25%

หากว่าผู้ปลูกมันสำปะหลังสนใจเทคโนโลยี “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โทร. 0-4432-5048 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน.
ที่มา: Daily News Online
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=346&contentID=162945

2 กันยายน 2554

โรคใบจุดเหลี่ยมฝ้าย

โรคใบจุดเหลี่ยมฝ้าย หรือ โรคใบไหม้แบคทีเรีย (angular leaf spot, bacterial blight)

ปัจจุบันพื้นที่ปลูกฝ้ายลดลงจนเกือบหายไปจากประเทศไทย ต่างจากในอดีตที่ฝ้ายเคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตามในฝ้ายที่ยังมีการปลูกอยู่ เมื่อมีเหตุปัจจัยลงตัว การระบาดของโรคก็ยังดำเนินไปตามปกติ ช่วงเดือนสิงหาคมสำรวจพบการระบาดของโรคใบจุดเหลี่ยมของฝ้ายในแปลงปลูก

เชื้อสาเหตุ
เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. malvacearum

ลักษณะอาการ
เริ่มแรกเกิดแผลฉ่ำน้ำ ลักษณะเหลี่ยมเนื่องจากถูกจำกัดด้วยเส้นใบย่อย บางครั้งพบเชื้อทำลายเส้นใบหลัก ทำให้เส้นใบฉ่ำน้ำ เป็นแผลสีดำ ในระยะต่อมาเชื้ออาจลุกลามมาสู่ก้านใบ หรือ ลำต้น ทำให้ใบร่วง นอกจากนี้เชื้อยังสามารถเข้าทำลายที่สมอฝ้ายได้เช่นกัน ทำให้สมอเน่า

การระบาดของโรคใบจุดเหลี่ยมขึ้นกับสภาพอากาศในฤดูปลูกนั้นๆ ในปีที่สภาพอากาศไม่เหมาะสม เราอาจไม่พบการระบาดของโรค
สภาพที่มีความชิ้นสูง ฝนตกติดต่อกัน ทำให้โรคระบาดรุนแรง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับพันธุ์ฝ้ายซึ่งตอบสนองต่อโรคในระดับที่แตกต่างกัน

เนื้อหา