27 ธันวาคม 2553

คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในพิธีเปิดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงเรียนหลัก 19 ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เข้าร่วมจัดนิทรรศการด้านพืช พันธุ์พืช และตอบปัญหาด้านการผลิตพืช ให้แก่เกษตรกร มีเกษตรกรมาขอรับบริการที่คลินิกพืช 85 ราย


21 ธันวาคม 2553

ชมทุ่งทานตะวันบาน...ที่อำเภอตากฟ้า

สัมผัสความงามของทุ่งทานตะวัน ช่วง ธันวาคม 53 ถึง มกราคม 54



ดอกทานตะวัน เริ่มทะยอยบานตั้งแต่เดือนพฤศจิการยน จนไปถึงปลายเดือน ธันวาคม
ทุ่งทานตะวัน กระจายอยู่ทั่วไปทุกตำบล ที่ปลูกมาก มีพื้นที่ติดต่อกันจนเป็นทุ่งทานตะวันกว้าง ได้แก่ ที่ ตำบลพุนกยูง ตำบลลำพยนต์ และตำบลสุขสำราญ

ในปีนี้ ทุ่งดอกทานตะวัน อำเภอตากฟ้า มีพื้นที่ ประมาณ 18,000 ไร่ กระจายอยู่ 7 ตำบล ซึ่งพื้นที่ปลูกลดลงกว่าปีที่แล้วกว่าครึ่ง เนื่องจากความแปรปรวนของธรรมชาติที่มีฝนตกชุกเกินไป ทำให้เกษตรกรปลูกไม่ทันฤดูกาล

แต่ความสวยงามของดอกทานตะวันไม่ได้ลดน้อยลงไปแต่อย่างไร ยังคงสวยงามและรอคอยการมาเยือน สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่หลงไหลในความงามของธรรมชาติ

จุดชมวิวทุ่งทานตะวัน


เส้นทางหลักเข้าอำเภอตากฟ้า จ.นครสวรรค์
1.ถนนพหลโยธิน (หมายเลข1) จากแยกชัยนาทถึงตากฟ้า ประมาณ 40 กม.
2.ถนนเส้นเขาทราย-อินทร์บุรี (หมายเลข1) จากแยกอินทร์บุรี ถึงตากฟ้า ประมาณ 40 กม.
3.ถนนจากนครสวรรค์ไปอำเภอท่าโก แยกเข้าอำเภอตากฟ้า ถนน 1145 ถึงตากฟ้า ประมาณ 75 กม.

เส้นทางชมทุ่งทานตะวันตากฟ้า
1.ถนนพหลโยธิน (ตาคลี-โคกสำโรง) มรทางแยกเข้าหมู่บ้านหนองไทร หมู่ที่ 6 และบ้านธารสัมฤทธิ์ หมู่ที่ 3 ตำบลเขาชายธง ห่างจากที่ว่าการอำเภอตากฟ้า 5 กม.
2.ถนนสายตากฟ้า อ.ท่าตะโก ไปนครสวรรค์ ระยะทาง 5 กม. ผ่านทุ่งทานตะวันพุนกยูงมีพื้นที่ติดต่อกันเป็นบริเวณกว้างสวยงาม
3.จากแยกเกษตรชัย ต.สุขสำราญ ไป อ.ไพศาลี ผ่านทุ่งทานตะวันสุขสำราญ มีให้ชมสองข้างทาง เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านหนองยาว หมู่ที่7 เยี่ยมชมสวนพุทรา 3 รส ซื้อเป็นของฝาก ของดีราคาถูก ขับรถเลยทะลุออกเส้นทางหมายเลข 11 (อินทร์บุรี-เขาทราย)
4.แยกซอย 4 บ้านน้ำวิ่ง ต.ลำพยนต์ เข้าบ้านซับตะเคียน และบ้านพุลำไย หมู่ที่4 ห่างจากอำเภอประมาณ 12 กม. ชมทุ่งทานตะวันลำพยนต์
5.แยกบ้านสุขสำราญ เข้า อบต.สุขสำราญ ด้านในมีไร่ทานตะวันหลายแปลงให้ชม เลยหมู่บ้านเลี้ยวซ้ายเข้าชมทุ่งทานตะวันลำพยนต์ ทะลุออกซอย 5 บ้านน้ำวิ่ง
6.เข้าซอย 5 บ้านน้ำวิ่ง เข้าไปอีกประมาณ 2 กม. จะพบทุ่งทานตะวันลำพยนต์และสุขสำราญติดต่อกันเป็นบริเวณกว้าง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ที่ว่าการอำเภอตากฟ้า โทร. 0-5624-1322 และ
สำนักงานเกษตรอำเภอตากฟ้า โทร. 0-5624-1387

17 ธันวาคม 2553

นักวิจัยจีนดูงานศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์


เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ให้การต้อนรับ Dr. Fan Xingming Director General, Institute of Food Crops, Yunnan academy of Agriculture Sciences พร้อมด้วยนักวิจัยอีก 2 รายจากหน่วยงานเดียวกัน ได้แก่ Associate Prof. Dr. Liu Li และ Ms. Xie Xinting ซึ่งเดินทางมาจากมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อมาดูงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิชาการ ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ภายใต้โครงการร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ไทย-จีน เรื่อง การปรับปรุงพันธุ์และการขยายพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมทนทานแล้ง (Hybrid Maize Breeding and Dissemination for Drought Tolerance) โดยมีคณะนักวิชาการเกษตรของศูนย์ฯ ร่วมต้อนรับ บรรยายสรุปการดำเนินงานวิจัยของศูนย์ฯ และพาชมแปลงทดลอง

9 ธันวาคม 2553

อาการผิดปกติของมันสำปะหลังที่เกิดจากสารกำจัดวัชพืช

เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีพื้นที่ใกล้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่น โดยเฉพาะอ้อย มักประสบปัญหาการปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชจากแปลงข้างเคียง ทำให้มันสำปะหลังเกิดอาการผิดปกติ
ในที่นี้ได้รวบรวมลักษณะอาการผิดปกติของมันสำปะหลังที่เกิดจากการได้รับสารกำจัดวัชพืชชนิดที่เป็นปัญหา เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยแก่นักวิชาการ หรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต่อไป

พาราควอท
ส่วนใหญ่การกำจัดวัชพืชโดยใช้พาราควอทไม่ค่อยเป็นปัญหาต่อมันสำปะหลังนัก หากพ่นอย่างระมัดระวัง แต่ก็พบเกิดขึ้นบ้างในเกษตรกรบางราย อาการที่พบเมื่อมันสำปะหลังได้รับสาร ใบจะเกิดจุดตายสีขาว บางครั้งจุดตายลามติดกันหากได้รับสารมาก (ภาพที่ 1 และ 2)
ภาพที่ 1

ภาพที่ 2


ไกลโฟเสท
หากมันสำปะหลังได้รับสารขณะต้นยังเล็ก จะทำให้แคระแกร็น หยักใบแคบลง เรียวเป็นเส้น (ภาพที่ 3 และ 4)

ภาพที่ 3


ภาพที่ 4


ไดยูรอน
เกษตรกรส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าไดยูรอนไม่เป็นพิษต่อมันสำปะหลัง เนื่องจากในฉลากแนะนำให้ใช้กำจัดวัชพืชในไร่มันสำปะหลัง แต่หากใช้ไม่ถูกช่วงเวลา เช่น พ่นในแปลงมันสำปะหลัง หลังจากที่มันสำปะหลังแตกใบแล้ว หรือ ใช้ในปริมาณที่มากเกินคำแนะนำ จะมีผลต่อมันสำปะหลังได้ นอกจากนี้มันสำปะหลังที่ปลูกใกล้กับไร่อ้อยที่มีการพ่นไดยูรอนเพื่อกำจัดวัชพืช  ก็มีความเสี่ยงที่มันสำปะหลังจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก (ภาพที่ 5,6,7 และ 8)

ภาพที่ 5

การพ่นไดยูรอนเพื่อควบคุมวัชพืชก่อนงอก แต่พ่นหลังจากต้นมันสำปะหลังแตกใบแล้ว จะทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง ใบไหม้

ภาพที่ 6

การพ่นไดยูรอนเพื่อควบคุมก่อนวัชพืชงอก หากใช้ปริมาณมากเกินไป ไดยูรอนที่ตกค้างในดินจะถูกรากมันสำปะหลังดูดขึ้นมา ทำให้มันสำปะหลังเกิดอาการใบไหม้ โดยบางใบจะเห็นเส้นใบเป็นสีขาว

ภาพที่ 7

ใบแก่จะเห็นเส้นใบเป็นสีขาวชัดเจน ในต้นที่รากดูดซึมไดยูรอนขึ้นมา

ภาพที่ 8

พื้นที่ของเกษตรกรบางรายมีปัญหาวัชพืชขึ้นหนาแน่น จึงคิดว่าการพ่นสารในปริมาณมาก จะทำให้ควบคุมวัชพืชได้นาน จึงใช้ไดยูรอนในปริมาณมาก เช่น 5 เท่า ของอัตราแนะนำ สารไดยูรอนจะตกค้างในดินนานเกือบ 6-7 เดือน รากจะดูดสารขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ใบมันสำปะหลังไหม้ บางครั้งต้นแห้งตาย ส่วนใหญ่จะพบการตายเป็นหย่อมในบริเวณที่มีสารตกค้างมาก

อทราซีน
มันสำปะหลังที่ได้รับสารอทราซีน ใบจะเหลือง หากได้รับสารในปริมาณมาก ใบจะไหม้ (ภาพที่ 9 และ 10)

ภาพที่ 9


ภาพที่ 10


อมิทริน
อาการผิดปกติหลังจากได้รับสารอมิทริน ใบจะเหลืองซีด จนถึงใบไหม้สีน้ำตาลแดง (ภาพที่ 11,12 และ 13)

ภาพที่ 11


ภาพที่ 12


ภาพที่ 13


ทูโฟดี (2-4, D)
อาการที่เกิดกับมันสำปะหลังเมื่อได้รับสารทูโฟดี มีหลายแบบ ทั้งใบไหม้ และการเจริญที่ผิดปกติ ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ อาการจำเพาะของมันสำปะหลังที่ได้รับสารทูโฟดี ได้แก่ อาการใบบิดพลิก กิ่งบวม ลำต้นบวมแตก (ภาพที่ 14,15 และ 16)

ภาพที่ 14


ภาพที่ 15


ภาพที่ 16


นอกจากนี้  ยังพบอาการผิดปกติจากสาเหตุอื่น ที่คล้ายกับอาการที่เกิดจากสารอทราซีนและอมิทริน  ได้แก่ การขาดธาตุเหล็ก

ขาดธาตุเหล็ก (Fe deficiency)
มันสำปะหลังบางพันธุ์ เช่น ระยอง 7 และ ระยอง 9 เมื่อปลูกในดินชุดตาคลีซึ่งเป็นดินด่าง โดยเฉพาะในดินชุดตาคลีที่มีเม็ดปูนปะปนอยู่บนหน้าดิน ทำให้มันสำปะหลังมีอาการเหลืองซีดที่ใบยอด ในดินที่ด่างมากใบจะเหลืองทั้งต้น ใบจะไหม้จากล่างขึ้นมา ถึงยอดและทำให้ต้นตายได้ ซึ่งลักษณะความผิดปกติที่เกิดจากดินด่าง จะมีอาการคล้ายกับการได้รับสารอทราซีน และอมิทรินมาก ดังนั้นในการวินิจฉัยสาเหตุความผิดปกติ ควรสอบถามข้อมูลจากเกษตรกรให้ละเอียด ทั้งเรื่องดิน พันธุ์ที่ปลูก การใช้สารกำจัดวัชพืชของเกษตรกรเอง ชนิดของพืชปลูกข้างเคียง หรือมีการปลิวของละอองสารจากแปลงข้างเคียงหรือไม่ (ขาดธาตุเหล็ก ภาพที่ 17,18 และ 19)

ภาพที่ 17


ภาพที่ 18


ภาพที่ 19







8 ธันวาคม 2553

โรคเหี่ยวเขียวของแคนตาลูป

โรคเหี่ยวเขียวของแคนตาลูป และ แตง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia tracheiphila

อาการเริ่มแรก จะสังเกตเห็นใบที่อยู่ส่วนยอดของเถาเฉา ใบอ่อน ห่อลง ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้นก็จะลุกลามไปยังใบอื่น ๆ ในที่สุดก็จะเหี่ยวฟุบลงทั้งต้นหรือทั้งเถาอย่างรวดเร็ว ในสภาพที่มีลมพัดแรง ทำให้ต้นแคนตาลูปเกิดแผลจากการเสียดสีของเถากับเชือกพยุง ก็เป็นช่องทางให้เชื้อเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น

วิธีตรวจสอบโรคเหี่ยวว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ ให้ใช้มีดที่คมตัดโคนลำต้นแคนตาลูป ให้ขาดออกจากกัน จากนั้น นำส่วนปลายทั้งสองด้านมาแตะกันเบาๆ ค่อยๆ แยกปลายออกจากัน จะเห็นเส้นเมือกของเชื้อแบคทีเรีย ระหว่างปลายทั้งสองด้าน (ภาพที่ 3)

การแพร่ระบาดจากต้นสู่ต้นในแปลงเกิดจาก แมลงจำพวกด้วงที่กัดกินต้นเป็นโรค แล้วไปกัดกินต้นอื่น ๆ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ต้นพืช

การควบคุมด้วงเต่า โดยการพ่นสารเคมี เช่น คาร์บาริล จะช่วยลดการระบาดของโรค นอกจากนี้เมื่อพบต้นเป็นโรค ให้ถอนไปทำลายนอกแปลงปลูก โรยปูนขาวลงในหลุมที่เป็นโรค ป้องกันกำจัดโรคในแปลงด้วยการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ นอกจากนี้ป้องกันการแพร่เชื้อโรคโดยฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในแปลง


ภาพที่ 1 อาการเริ่มแรก ใบเฉา อ่อนลง


ภาพที่ 2 ต้นแคนตาลูปเหี่ยวทั้งต้น


ภาพที่ 3 วิธีการวินิจฉัยโรคเหี่ยวเขียว

24 พฤศจิกายน 2553

โรคราแป้ง ในถั่วเขียว

เกษตรกรที่ปลูกถั่วเขียวในช่วงหน้าแล้ง ให้หมั่นตรวจแปลงเพื่อติดตามการระบาดของโรคราแป้ง
ซึ่งบางพื้นที่เริ่มพบการระบาดของโรคในถั่วเขียวที่มีอายุประมาณเกือบหนึ่งเดือน

โรคราแป้งเกิดจากเชื้อรา Oidium sp. ระบาดในสภาพอากาศที่แห้ง และเย็น ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

โรคราแป้ง จะเกิดที่ใบล่างๆ ก่อน ระยะแรกจะเห็นสปอร์สีขาวคล้ายผงแป้งบนใบ ระยะต่อมา ใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และใบแห้งในที่สุด ถ้าถั่วเขียวเป็นโรคระยะออกดอกและติดฝัก จะทำให้ต้นแคระแกร็น ติดฝักน้อย ฝักและเมล็ดมีขนาดเล็ก

การพ่นด้วยสารเบโนมิล (benomyl 50% WP) อัตรา 15-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อถั่วเขียวอายุ 30 วัน และพ่นซ้ำอีกทุก 10 วัน รวม 3 ครั้ง สามารถป้องกันกำจัดโรคราแป้งได้


แปลงปลูกถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 36


ราแป้งเริ่มทำลายที่ใบเลี้ยง




โครงสร้างของเชื้อ Oidium sp.

ลักษณะสปอร์ของเชื้อ Oidium sp.
















                       


16 พฤศจิกายน 2553

ซื้อปุ๋ยอย่างไร...ให้คุ้มค่าเงิน



ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและจำเป็นต่อการปลูกพืช เป็นส่วนที่จะทำให้ต้นทุนการปลูกพืชเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพิจารณาเลือกซื้อปุ๋ยเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุดเป็นสิ่งที่เกษตรกรควรให้ความสนใจ ในท้องตลาดมีปุ๋ยเคมีผลิตมาจำหน่ายหลายสูตรมากเกินความจำเป็น ก็เพื่อประโยชน์ในการขายให้ได้กำไรมากที่สุด โดยผู้ผลิตลงทุนต่ำที่สุด ธาตุอาหารที่อยู่ในปุ๋ยแต่ละตัวมีราคาไม่เท่ากัน ธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) ราคาแพงที่สุด ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) รองลงมา และธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ราคาถูกที่สุด ดังนั้นผู้ผลิตสูตรต่าง ๆ จึงพยายามหลีกเลี่ยงการผลิตปุ๋ยที่มี P สูง เพราะจะทำให้ต้นทุนสูง

วิธีการง่ายๆ ในการคิด ก่อนตัดสินใจซื้อปุ๋ยมาใช้ให้คุ้มค่าของเงินที่เสียไป มีขั้นตอนดังต่อนี้

กำหนดค่าของธาตุอาหารตามราคา คือ
ธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) ให้มีค่า 3
ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ให้มีค่า 2
ธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ให้มีค่า 1
** เป็นการสมมุติเพื่อประโยชน์ในการคำนวณเท่านั้น **

ขั้นต่อไป เอาค่าของธาตุอาหาร NPK ที่สมมุติ มาคูณกับธาตุอาหารหลักของแต่ละสูตร โดยจัดแยกกลุ่มที่มีสูตรธาตุอาหารใกล้เคียงกัน เช่น

สูตรปุ๋ย................คูณ กับค่าของ NPK............................มีคุณค่าของสูตร
16-8-8.......(16x2) – (8x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+24+8.............= 64
16-12-8.....(16x2) – (12x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+36+8.............= 76
16-16-8.....(16x2) – (16x3) - (8x1)...เท่ากับ 32+48+8.............= 88
16-20-0.....(16x2) – (20x3) - (0x1)...เท่ากับ 32+60+0.............= 92

จากนั้น คิด ค่าการเอาเปรียบ
ให้เอาคุณค่าของแต่ละสูตรที่คำนวณได้ ไปหาร ราคาขายแต่ละกระสอบ จะได้ ค่าการที่เอาเปรียบของแต่ละสูตร ตัวเลขยิ่งมากเท่าใด แสดงว่าสูตรนั้นยิ่งเอาเปรียบมาก คุ้มค่าเงินน้อย

เช่น
• สูตร 16-8-8 มีคุณค่าของสูตร 64 ขายกระสอบละ 510 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 510÷64 = 7.97
• สูตร 16-12-8 มีคุณค่าของสูตร 76 ขายกระสอบละ 590 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 590÷76 = 7.76
• สูตร 16-16-8 มีคุณค่าของสูตร 88 ขายกระสอบละ 510 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 510 ÷88 = 5.80
• สูตร 16-20-0 มีคุณค่าของสูตร 92 ขายกระสอบละ 510 บาท มีค่าการเอาเปรียบ = 510÷92 = 5.54

จะเห็นว่าสูตร16-8-8 เอาเปรียบเกษตรกรมากที่สุด เพราะมีค่าการเอาเปรียบถึง 7.97
ส่วนสูตร 16-20-0 เอาเปรียบเกษตรกรน้อยกว่า มีค่าการเอาเปรียบ 5.54 เท่านั้น
ดังนั้น ควรเลือกซื้อสูตร 16-20-0 เพราะเอาเปรียบเกษตรกรน้อยกว่า
แต่ถ้าต้องการธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ก็ควรใช้สูตร 16-16-8 จะคุ้มค่าที่สุด เพราะมีค่าการเอาเปรียบ 5.8

สรุปแล้ว ถ้าปุ๋ยมีราคาขายแต่ละกระสอบเท่ากัน ให้เลือกซื้อสูตรที่มีค่าการขายที่เอาเปรียบน้อยกว่า จะคุ้มค่าเงินที่สุด

ดังนั้นถ้ามีสูตรปุ๋ยใหม่ๆแปลกๆออกมาวางขายในท้องตลาด เกษตรกรสามารถ คำนวณตามวิธีที่กล่าวมาข้างต้น
เปรียบเทียบดู แล้วเลือกซื้อปุ๋ยสูตรที่คุ้มค่าเงินที่สุด

ที่มา:คู่มือการผสมปุ๋ยใช้เอง

15 พฤศจิกายน 2553

ระยอง 11 : มันสำปะหลังแป้งสูง


ภาพที่ 1 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 อายุ 3 เดือน


ภาพที่ 2 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 อายุเก็บเกี่ยว 12 เดือน


ภาพที่ 3 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 อายุเก็บเกี่ยว 12 เดือน

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11
เกิดจากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และ พันธุ์ OMR 29-20-118 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ผ่านการประเมินศักยภาพของพันธุ์ ณ ศูนย์วิจัย ศูนย์บริการวิชาการ และการทดสอบในไร่เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ จนได้พันธุ์ CMR 35-22-196 ผ่านการรับรองพันธุ์จากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ให้เป็นพันธุ์รับรอง โดยได้ตั้งชื่อพันธุ์ว่า ระยอง 11

ลักษณะเด่น
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 หรือ ที่เกษตรกรรู้จักกันดีในชื่อพันธุ์ “ เขียวปลดหนี้ ” ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.44 ตัน/ไร่ ให้เปอร์เซ็นต์แป้ง 26.1เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บเกี่ยวในฤดูแล้งเปอร์เซ็นต์แป้งจะสูงถึง 29-32 เปอร์เซ็นต์ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตแป้งและเปอร์เซ็นต์แป้งสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์ นอกจากนี้ยังทนต่อสภาพแล้งได้ดี ต้านทานต่อโรคไหม้ และโรคใบจุดสีน้ำตาล

เกษตรกร หรือผู้สนใจที่จะปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 11 สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ หรือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ

15 ตุลาคม 2553

โรคแอนแทรคโนส ในมันสำปะหลัง

โดย รังษี เจริญสถาพร และ อมรรัชฏ์ คิดใจเดียว
สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร

ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง เนื่องจากฝนตกชุกติดต่อกันเช่นนี้ นอกจากจะพบการระบาดของโรคใบไหม้ และโรคใบจุดในมันสำปะหลัง แล้ว
อาจพบการระบาดของโรคแอนแทรคโนสในบางพื้นที่ด้วย

โรคแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides f.sp.manihotis

ลักษณะอาการโรค : มีอาการหลายแบบ ขึ้นอยู่กับพันธุ์มันสำปะหลัง สภาพแวดล้อม ได้แก่ ความชื้นหรือปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และส่วนของพืชที่เป็นโรค

ลักษณะอาการทั่วๆ ไป มีดังนี้ ลำต้นแก่ เป็นแผลที่มีขอบเขตแน่นอน สีน้ำตาลหรือสีดำ ถ้ามีปริมาณน้ำฝนมากหรือความชื้นสูงๆ แผลจะขยายตัว ลามขึ้นสู่ส่วนยอด

ลำต้นอ่อน แผลมีขอบเขตไม่แน่นอน สีน้ำตาลอ่อน เมื่อมีความชื้นสูงจะขยายตัวสู่ส่วนยอด ทำให้ยอดตายอย่างรวดเร็ว

ก้านใบ เป็นรอยไหม้ที่โคนก้านใบติดกับลำต้น และก้านใบส่วนที่ติดกับตัวใบหักลู่ลง ในที่สุดจะหลุดร่วงทั้งต้น

ใบ มีอาการไหม้ที่ขอบใบและปลายใบ ขยายตัวเข้าสู่กลางใบ ในที่สุดตัวใบจะไหม้หมด และหลุดร่วง

ถ้าเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอมาก จะยืนต้นตาย ส่วนพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรค ยอดจะหัก แต่สามารถแตกกิ่งหรือยอดใหม่ขึ้นมาทดแทนได้
บางพันธุ์จะพบโคนลำต้นที่ติดกับพื้นดิน มีลักษณะบวมพอง เปลือกลำต้นแตกเป็นริ้วๆ เมื่อเวลาลมพัดจะเปราะหักลงได้ง่าย

ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรครุนแรง :
ต้นมันสำปะหลังที่ขาดธาตุอาหาร โดยเฉพาะธาตุโปแตสเซียม และการให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากๆ ในช่วงฤดูที่มีปริมาณน้ำฝนสูงๆ

ช่วงเวลาที่พบโรค :
โรคจะบาดและมีอาการโรครุนแรงในช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน

การแพร่ระบาด :
ติดไปกับท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ ฝน ลม แมลง และอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ

ความเสียหายทางเศรษฐกิจ :
สายพันธุ์หรือพันธุ์มันสำปะหลังที่อ่อนแอต่อโรค และมันสำปะหลังที่เป็นโรคหลังจากมีอายุ 5 เดือน จะยืนต้นตาย ทำให้เสียหายมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

ส่วนสายพันธุ์หรือพันธุ์มันสำปะหลังที่ค่อนข้างทนทานต่อโรค ยอดจะเน่าตาย จะมีการเจริญเติบโตของกิ่งและยอดใหม่ ทำให้น้ำหนักของผลผลิตลดลงหรือการเก็บเกี่ยวล่าช้า ผลผลิตเสียหาย 30-40 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังมีผลต่อการนำไปเป็นท่อนพันธุ์ เนื่องจากท่อนพันธุ์จากต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคแอนแทรคโนส แตกหน่อใหม่เพียง 40-60 เปอร์เซ็นต์ และระยะเวลาการแตกหน่อจะช้ากว่าปกติ 7-8 วัน ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดจากต้นที่เป็นโรคจะงอกเพียง 20-40 เปอร์เซ็นต์

แนวทางการป้องกันกำจัด :
- การใช้พันธุ์ต้านทานโรค เป็นวิธีการป้องกันกำจัดที่ดีที่สุดและมีค่าใช้จ่ายต่ำสุด เท่าที่มีรายงานจากเอกสารต่างๆ พบว่า สายพันธุ์ TME 30001, 30211, 91/00684 และ 91/00313 สามารถต้านทานต่อโรคนี้ได้

ส่วนในประเทศไทย การปลูกมันสำปะหลังที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคแอนแทรคโนสอย่างรุนแรง จึงยังมิได้ดำเนินการคัดพันธุ์ต้านทานต่อโรคนี้ แต่เท่าที่มีรายงานการระบาดของโรคแอนแทรคโนสอย่างรุนแรงในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน พันธุ์มันสำปะหลังที่แสดงอาการโรครุนแรง คือ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ระยอง 72 และ ระยอง 11(CMR 35-22-196 หรือ เขียวปลดหนี้)
จึงต้องควรเฝ้าระวังการระบาดของโรคในพันธุ์หรือสายพันธุ์ดังกล่าว รวมทั้งพันธุ์หรือสายพันธุ์ที่มีความใกล้ชิดกัน

- การจัดการด้านเขตกรรม (Cultural control) ได้แก่ การปลูกพืชหมุนเวียน การไถกลบฝังลึกๆ เศษซากมันสำปะหลังที่ติดเชื้อ และการใช้ท่อนพันธุ์ปลอดโรค ช่วยลดปริมาณเชื้อราสาเหตุในดินและลดการแพร่กระจายของโรคได้

การเลื่อนฤดูการเพาะปลูกมันสำปะหลัง เพื่อมิให้ระยะการเจริญเติบโตที่อ่อนแอต่อโรคตรงกับช่วงที่มีปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคสูงมากๆ คือ ช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำฝนมาก

ในประเทศไทย ควรปลูกมันสำปะหลังข้ามฤดูแล้ง เมื่อถึงช่วงที่มีการระบาดของโรคสูงๆ เดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมาก มันสำปะหลังที่ปลูกข้ามฤดูแล้ง จะมีอายุเกินระยะการเจริญเติบโตที่อ่อนแอต่อโรค ประมาณ 6 เดือนหลังปลูก แม้ว่าอายุการเจริญเติบโตช่วงนี้ จะมีการติดเชื้อโรคบ้าง แต่ไม่มีผลเสียหายต่อผลผลิตถึงระดับเศรษฐกิจ และที่ควรระวัง ต้องไม่นำต้นมันสำปะหลังที่ติดเชื้อโรคนี้ไปเป็นท่อนพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูถัดไป

- การใช้สารเคมี (Chemical control) ต้องใช้ในกรณีที่ไม่มีวิธีการใดสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว หรือโรคเกิดการระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ใช้สารเคมีประเภทที่มีองค์ประกอบของทองแดง (copper fungicide)
การใช้สารธรรมชาติทดแทนสารเคมี มีเอกสารต่างประเทศรายงานว่า การใช้สารสกัดจากสะเดา (Neem) กับท่อนพันธุ์ก่อนปลูก สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้

อาการบนใบ








อาการบนก้านใบ



อาการบนลำต้น


อาการที่ยอด



อาการยืนต้นตาย

เนื้อหา