19 พฤศจิกายน 2551

เตือนภัย...การระบาดของแมลงศัตรูพืชในหน้าแล้ง

เมื่อถึงฤดูแล้ง สภาพบรรยากาศมีความชื้นต่ำติดต่อกันหลายเดือน เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดและเพิ่มปริมาณของแมลงศัตรูพืชซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ชนิดของแมลงศัตรูที่พบระบาดในหน้าแล้ง ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว และไรแดง สามารถทำความเสียหายให้กับพืชที่ปลูกได้ เกษตกรควรหมั่นตรวจสอบพืชของตนเอง หากพบการระบาดในระยะเริ่มแรกซึ่งยังมีปริมาณน้อย ให้กำจัดโดยวิธีกล เช่น ใช้มือขยี้ทำลาย หรือฉีดพ่นด้วยน้ำ หากปล่อยให้มีการเพิ่มปริมาณมากจะทำให้การป้องกันกำจัดไม่ได้ผล เช่น การระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังขณะฝนทิ้งช่วงในบางท้องที่ ทำให้เกิดความเสียหายมาก

สำหรับมันสำปะหลังมีแมลงศัตรูที่พบระบาด และมีลักษณะการทำลายและการป้องกันกำจัดดังต่อไปนี้

เพลี้ยแป้งลาย

เพลี้ยแป้งลาย เป็นแมลงปากดูด ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด และส่วนตา

ลักษณะของเพลี้ยแป้ง
ตัวเต็มวัย มีลักษณะตัวบนหลังและด้านข้างมีแป้งปกคลุมมาก มีทั้งชนิดอกลูกเป็นไข่ และออกลูกเป็นตัว

ลักษณะการทำลายเพลี้ยแป้งถ่ายมูลของเหลวทำให้เกิดราดำ (Sooty Mold) บนใบและส่วนอื่นๆ ของต้นพืช ซึ่งมีผลให้พืชสังเคราะห์แสงได้น้อย การดูดกินน้ำเลี้ยงของเพลี้ยแป้งทำให้การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ ยอดและใบบิดเบี้ยว ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม และอาจมีผลกระทบต่อการสร้างหัวหากพืชยังเล็ก ลำต้นมันสำปะหลังที่มีราดำขึ้นปกคลุมเมื่อนำไปใช้เป็นท่อนพันธุ์อาจทำให้ความงอกลดลงการแพร่ระบาดเพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น ซอกใบ ใต้ใบมันสำปะหลัง ปริมาณจะเพิ่มขึ้นจนเต็มข้อ ตามลำต้น ส่วนใบ ส่วนยอด เพลี้ยแป้งชนิดออกลูกจะเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่าชนิดวางไข่ หากสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จะขยายปริมาณอย่างรวดเร็ว ตัวอ่อนวัย 1 เป็นวัยที่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เป็นวัยสำคัญในการแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่น โดยการติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลมมันสำปะหลังพันธุ์แนะนำ เช่น ระยอง 90 ไม่มีการทำลายของเพลี้ยแป้งในระดับที่ความเสียหาย

แนวทางในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง
1. หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่พืชยังเล็กจะกระทบกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายปริมาณเพลี้ยแป้ง ใช้พันธุ์ที่ทางรัฐบาลแนะนำ
2. เก็บส่วนของพืชที่มีเพลี้ยแป้งออกจากแปลง เผาหรือทำลาย และทำความสะอาดแปลงเก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังเก็บเกี่ยวแล้ว
3. เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติ ทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ
4. ควรใช้สารฆ่าแมลงเมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุ่นแรง พืชเริ่มแสดงอาการถูกทำลาย พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลง ระยะที่เหมาะสมเป็นระยะที่เพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1-2 เนื่องจากยังไม่มีแป้งเกาะตามลำตัว เพราะแป้งจะเป็นเกราะกำบังสารฆ่าแมลงได้อย่างดี พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลงเท่านั้น

แมลงหวี่ขาว

แมลงหวี่ขาว Bemisia tabaci (Aleyrodidae : Homoptera)ทำลายพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด การระบาดตลอดทั้งปี และระบาดรุนแรงในฤดูแล้ง และต้นฤดูฝน ซึ่งมีอากาศร้อน แห้งแล้ง

ลักษณะของแมลงหวี่ขาว

ลักษณะของแมลงหวี่ขาวตัวเต็มวัยเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลืองหรือสีขาว มีปีก 1 คู่ เคลื่อนไหวเมื่อถูกรบกวน วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือชิดติดกันที่ด้านใต้ใบพืช ไข่มีสีเหลืองอ่อนลักษณะยาวเรียวและมีก้านสั้น ๆ ยึดติดกับใบพืช ตัวอ่อนมีรูปร่างคล้ายรูปไข่ ขอบด้านข้างลาดลง สีเหลืองปนเขียว ตัวอ่อนวัยที่ 1 เคลื่อนไหวได้ ตัวอ่อนที่มีอายุมากขึ้นจะเกาะนิ่งอยู่ด้านใต้ใบพืชและดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบเป็นอาหาร

การทำลาย

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ ทำให้ใบเหลืองซีด ถ้าระบาดมากในระยะแรกของการเจริญเติบโต จะทำให้ต้นแคระแกร็น สามารถถ่ายมูลหวานบนใบพืชเช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง และเพลี้ยอ่อน ทำให้เกิดราดำ มีผลทำให้พืชสังเคราะห์แสงลดลง

การป้องกันกำจัดในมันสำปะหลัง
ไม่แนะนำให้พ่นสารกำจัดแมลง เนื่องจากเพิ่มต้นทุนการผลิต และไม่คุ้มทุน หากมีฝนตกปริมาณและความรุนแรงในการระบาดจะลดลง การทำลายของแมลงหวี่ขาวขึ้นกับพันธุ์มันสำปะหลัง ถ้ามันสำปะหลังอายุ 7 เดือนขึ้นไปจะไม่กระทบต่อผลผลิต

ไรแดง

ไรแดงที่ทำลายมันสำปะหลังพบ 2 ชนิด คือ ไรแดงหม่อน และไรแดงมันสำปะหลัง ไรแดงหม่อนทำความเสียหายดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบส่วนล่าง ๆ ของมันสำปะหลัง และขยายปริมาณขึ้นสู่ส่วนยอด ส่วนไรแดงมันสำปะหลังดูดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบส่วนยอด และขยายปริมาณลงสู่ส่วนล่างของลำต้น

ลักษณะของไรแดง

ตัวเต็มวัยมีขา 8 ขา ลำตัวสีแดงเข้ม ส่วนขาไม่มีสี ไรแดงอยู่รวมเป็นกลุ่ม ทำลายทั้งใต้ใบ และบนหลังใบ ตัวเมียขยายพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ (Parthenogenesis) ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ชีพจักรสั้น ตัวเมียวางไข่ได้ 4-13 ฟอง เฉลี่ย 4.79 ฟองต่อวัน ปกติไรแดงจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวไปไกล ๆ โดยใช้เส้นใยสีขาวคล้ายใยแมงมุม ซึ่งใช้เป็นส่วนป้องกันไข่จากศัตรูธรรมชาติ การแพร่กระจายโดยอาศัยกระแสลม การทำความเสียหายจะเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ แล้วกระจายออกเป็นบริเวณกว้าง หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม




การทำลาย

ดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบและใต้ใบ ทำให้ใบมันสำปะหลังเหลืองซีดเป็นรอยขีด ใบม้วนงอและร่วง ส่วนยอดที่ถูกทำลายงองุ้ม ตาลีบ

การป้องกันกำจัด
หากมีการระบาดรุนแรง และมีฝนทิ้งช่วงยาวนาน ควรพ่นด้วย อมิทราช หรือไดโค
ฟอล โดยพ่นเฉพาะต้นที่แสดงอาการ

4 พฤศจิกายน 2551

การปลูกมันสำปะหลังในชุดดินตาคลี

ปัจจุบันมันสำปะหลังเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก พื้นที่ปลูกขยายเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงจูงใจด้านราคา ในการปลูกบางครั้งเกษตรกรขาดความเอาใจใส่ในเรื่องของการเลือกท่อนพันธุ์ที่จะนำมาปลูก และการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก จึงทำให้เกิดปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูที่ติดมากับท่อนพันธุ์ ตลอดจนการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของมันสำปะหลัง

ชุดดินตาคลีเป็นอีกชุดดินหนึ่งที่ใช้ในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ชุดดินตาคลี และชุดดินบึงชนัง มีวัตถุต้นกำเนิดดินมาจากการสลายตัวของหินปูนและหินอัคนีเนื้อละเอียด และเกิดจากมาร์ล จัดอยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 52 เป็นดินตื้นถึงตื้นมาก พบก้อนปูนหรือปูนมาร์ลปนอยู่ในเนื้อดินมากในระดับความลึก 50 เซนติเมตรจากผิวดิน เนื้อดินชั้นบนเป็นดินร่วนเหนียวหรือดินเหนียว ดินชั้นล่างเป็นดินเหนียวปนก้อนปูนหรือปูนมาร์ล มีปฏิกิริยาดินเป็นกลางถึงด่างแก่ มีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 7.0-8.5 มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง มีความลาดเทระหว่าง 1-5 เปอร์เซ็นต์ พบก้อนปูนกระจัดกระจายที่ผิวดินแต่ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มชุดดินที่ 52 แพร่กระจายอยู่ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 1.62 ล้านไร่ โดย 85 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มชุดดินนี้กระจายอยู่ในสี่จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ ปราจีนบุรี กาญจนบุรี และลพบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในปี 2550 รวมกันประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ ถึงจะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่หากมีการจัดการการดินที่เหมาะสมในกลุ่มชุดดินนี้ ก็จะช่วยยกระดับผลผลิตโดยรวมของมันสำปะหลังขึ้นมาได้อีก

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
โดยทั่วไปกลุ่มชุดดินที่ 52 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่และพืชผักหลายชนิด แม้หน้าดินจะตื้นแต่มักจะมีหน้าดินหนามากกว่า 15 เซนติเมตร นอกจากจะมีความอุดมสมบูรณ์สูงแล้วยังมีลักษณะทางกายภาพดีเป็นส่วนใหญ่

ปัญหาและข้อจำกัดในการปลูกพืช
· เนื่องจากเป็นดินตื้นถึงตื้นมาก มีเศษหินปูนหรือก้อนปูนปะปนอยู่กับเนื้อดินและเป็นชิ้นหนา ยากในการที่รากพืชจะชอนไชไปหาอาหาร และยากในการเตรียมดินปลูก
· ดินเป็นด่างจัด ทำให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชบางชนิดถูกตรึงอยู่ในรูปที่ไม่ละลายมาเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส และจุลธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง สังกะสี และโบรอน เป็นต้น
· ดินขาดน้ำและความชื้นไม่พอเพียงในหน้าแล้ง

ข้อแนะนำในการจัดการดินเพื่อให้เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลัง
ดินชุดนี้มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่รากตื้นและพืชผักได้เป็นอย่างดี ถ้าชั้นดินบนไม่มีปูนปะปนอยู่มาก และมีความหนามากกว่า 15 ซ.ม. จากการประเมินชั้นความเหมาะสมของดินกลุ่มนี้โดยกรมพัฒนาที่ดินในการปลูกมันสำปะหลัง พบว่ามีความเหมาะสม เท่ากับ 1 ในดินที่มีหน้าดินหนามากกว่า 25 ซ.ม. และเท่ากับ 1g ในดินที่มีหน้าดินหนาน้อยกว่า 25 ซ.ม. หมายความว่า มีความเหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลัง แต่ถ้ามีหน้าดินหนาน้อยกว่า 25 ซ.ม. มักจะมีชั้นเศษหิน กรวด หรือลูกรังอยู่ตื้น เป็นอุปสรรคต่อการเจริญของรากพืช
ดังนั้นหากต้องการปลูกมันสำปะหลังในกลุ่มชุดดินที่ 52 ควรเลือกดินที่มีหน้าดินหนากว่า 15 ซ.ม. ไม่มีก้อนปูนหรือเศษหินปะปนอยู่มาก

นอกจากนี้การปรับปรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นสิ่งจำเป็น ถึงแม้ว่าชุดดินนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เมื่อเพาะปลูกไปนาน ๆ ความอุดมสมบูรณ์ย่อมลดลง ควรจัดระบบปลูกพืชบำรุงดิน พืชปุ๋ยสดที่แนะนำ ได้แก่ ปอเทือง นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 0.5-1.0 ตันต่อไร่ ช่วยให้ดินร่วนซุยมากขึ้น
การจัดการอีกอย่างหนึ่งคือคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่สามารถขึ้นได้ดีในดินที่เป็นด่างมาปลูกก็จะทำให้การใช้กลุ่มดินชุดที่ 52 มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ลักษณะอาการผิดปกติที่พบในการปลูกมันสำปะหลังในชุดดินตาคลี
จากการปลูกทดสอบมันสำปะหลังในชุดดินตาคลีที่มีเม็ดปูนปนอยู่ในดินชั้นบนมาก ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ต.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ พบว่า ในด้านการเจริญเติบโต มันสำปะหลังเริ่มแสดงอาการผิดปกติเด่นชัดเมื่ออายุ 2 สัปดาห์หลังปลูก โดยมีอาการใบเหลืองซีดที่ใบบน บางพันธุ์แสดงอาการใบเหลืองซีดร่วมกับอาการใบไหม้ และจะแสดงอาการรุนแรงในมันสำปะหลังบางพันธุ์ อาการผิดปกติดังกล่าวเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก จากการสังเกตพบว่าพันธุ์ระยอง 9 จะแสดงอาการรุนแรงที่สุด โดยใบทุกใบเหลืองซีด ใบไหม้และแห้งตายจากใบล่างขึ้นมาใบบน ทำให้มีจำนวนต้นตายสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์อื่น พันธุ์ที่อาจมีความเสี่ยงเมื่อปลูกในดินชุดนี้อีกพันธุ์หนึ่งคือระยอง 7 ซึ่งแสดงอาการใบซีดและใบไหม้ตลอดระยะการเจริญเติบโต พันธุ์ที่พบว่าค่อนข้างทนต่อการปลูกในดินชุดตาคลี  ได้แก่ พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 11 มีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่นำมาทดสอบ ใบมีสีเขียวเกือบปกติ ไม่มีต้นตาย

นอกจากนี้การปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่ไม่ทนต่อชุดดินตาคลีที่มีเม็ดปูนปนอยู่มากและหน้าดินตื้น จะมีผลทำให้ต้นมันสำปะหลังแคระแกร็น ทรงพุ่มเล็ก ต้นตาย ทำให้จำนวนต้นต่อพื้นที่ลดลง ดังนั้นต้นมันสำปะหลังที่เหลืออยู่จึงไม่สามารถแข่งขันกับวัชพืชที่ขึ้นอย่างหนาแน่นได้ การกำจัดวัชพืชต้องทำบ่อยครั้งขึ้น และอาจไม่คุ้มกับผลผลิตที่จะได้


ภาพที่ 1 ลักษณะการเจริญของมันสำปะหลังในดินที่มีเม็ดปูนปะปนในดินชั้นบน


ภาพที่ 2 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 อายุ 2 เดือน


ภาพที่ 3 ความแตกต่างของมันสำปะหลังแต่ละพันธุ์เมื่อปลูกในชุดดินตาคลี แปลงย่อยที่ใบยังเขียวคือพันธุ์ระยอง 5


ภาพที่ 4 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 อายุ 11 เดือน


ภาพที่ 5 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7 อายุ 11 เดือน


ภาพที่ 6 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 อายุ 11 เดือน

ข้อมูลดิน: กรมพัฒนาที่ดิน

เนื้อหา