22 มิถุนายน 2554

มารู้จัก...โรคจุดสีน้ำตาลข้าวโพด

โรคจุดสีน้ำตาล หรือ Physoderma brown spot เกิดจากเชื้อรา Physoderma maydis ซึ่งจัดอยู่ในจำพวกราชั้นต่ำ

การระบาดของโรคจุดสีน้ำตาลอย่างรุนแรงพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็เกิดขึ้นได้เมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมและพันธุ์มีความอ่อนแอต่อโรค โดยทั่วไปไม่พบรายงานการก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทั้งในประเทศไทยหรือต่างประเทศที่มีการปลูกข้าวโพด และไม่จำเป็นต้องพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแต่อย่างใด

อาการของโรคจุดสีน้ำตาล คล้ายแต่ไม่ใช่ราสนิม...
มักมีผู้สับสนระหว่างโรคจุดสีน้ำตาลและโรคราสนิมและมีการวินิจฉัยโรคที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโรคจุดสีน้ำตาลมีอาการคล้ายกับโรคราสนิม (southern rust)
โรคจุดสีน้ำตาลมีลักษณะดังนี้ เกิดจุดสีเหลืองขนาดเล็กบนใบ ถ้าเป็นโรคที่เส้นกลางใบ กาบใบ กาบหุ้มลำต้น เปลือกหุ้มฝัก มักจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม และจุดมีขนาดใหญ่กว่าที่ใบ

โรคจุดสีน้ำตาลมักเกิดจุดเหลืองหนาแน่นเป็นแถบๆ ตามขวาง เกิดจากตอนที่เชื้อเข้าทำลายตรงใบยอดซึ่งเป็นส่วนที่มีความชื้นและเมื่อใบมีการเจริญยืดตามการเจริญเติบโตจึงเกิดเป็นแถบ  อาการโรคจุดน้ำตาลบนเส้นใบจะเกิดจุดสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอาการที่แตกต่างจากโรคราสนิม  ที่สำคัญโรคราสนิมจะสร้างสปอร์สีส้มจำนวนมากใน pustule ที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูน (ภาพที่ 11)  เมื่อใช้มือลูบบนแผลจะมีผงสีสนิมติดมากับมือ


ภาพที่ 1 อาการระยะแรกของโรคจุดสีน้ำตาล


ภาพที่ 2 โรคจุดสีน้ำตาลบนเส้นกลางใบจะมีสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดใหญ่กว่าจุดที่ใบ


ภาพที่ 3 จุดเหลืองเป็นแถบหนาแน่นตามขวางบนใบข้าวโพด


ภาพที่ 4


ภาพที่ 5 และภาพที่ 4 การระบาดของโรคจุดสีน้ำตาลในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์การค้า
 ในไร่เกษตรกร อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์
20 มิถุนายน 54



ภาพที่ 6 โรคจุดสีน้ำตาลบนกาบใบ



ภาพที่ 7 โรคจุดสีน้ำตาลเกิดที่ลำต้น จะเห็นผงสีน้ำตาลซึ่งเป็นสปอร์ของเชื้ออยู่ในลำต้น



ภาพที่ 8 ลักษณะสปอร์ (sporangium)ของเชื้อโรคจุดสีน้ำตาล Physoderma maydis


ภาพที่ 9 ภาคตัดขวางเซลล์กาบใบข้าวโพด (cross section)  จะเห็นสปอร์ (sporangium) ของเชื้อ
 Physoderma maydis อยู่ในเซลล์


ภาพด้านล่าง จากภาพที่ 10-12 เป็นอาการและเชื้อสาเหตุโรคราสนิม

ภาพที่ 10 อาการของโรคราสนิม จะมีผงสปอร์สีส้มบนแผล


ภาพที่ 11 ตุ่มนูน (pustule)ที่บรรจุสปอร์ของเชื้อราสนิม


ภาพที่ 12 ลักษณะของเชื้อโรคราสนิม Puccinia polysora

20 มิถุนายน 2554

ระวัง...การระบาดของโรคในมันสำปะหลัง

สภาพภูมิอากาศในช่วงนี้ที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน ส่งผลให้มีความชื้นในบรรยากาศสูง เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรคหลายชนิดในมันสำปะหลัง เช่น โรคใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคแอนแทรคโนส และโรคใบจุดมันสำปะหลัง แต่ละโรคมีลักษณะอาการที่มีรูปแบบดังต่อไปนี้

โรคใบไหม้
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas manihotis
ลักษณะอาการเริ่มแรก ใบเป็นจุดเหลี่ยม ฉ่ำน้ำ ต่อมาใบไหม้แห้ง ถ้ารุนแรงยอดจะแห้งตาย ทำให้ผลผลิต เปอร์เซ็นต์แป้ง และคุณภาพท่อนพันธุ์ลดลง
สภาพแวดล้อมมีผลต่อการระบาดของโรคใบไหม้เป็นอย่างมาก ปีที่มีฝนตกชุกหนาแน่น โรคจะระบาดรวดเร็วและรุนแรง นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังขึ้นกับพันธุ์มันสำปะหลัง โรคใบไหม้ไม่ถึงกับทำให้ต้นมันสำปะหลังตาย เมื่อพ้นฤดูฝนการระบาดของโรคจะลดลง การป้องกันกำจัดให้ทำลายเศษซากพืชโดยการเผาหรือฝัง ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของโรค ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด



ภาพที่ 1 อาการเริ่มแรกของโรคใบไหม้ เกิดแผลฉ่ำน้ำ มีลักษณะเหลี่ยมตามเส้นใบ


ภาพที่ 2 โรคใบไหม้ที่รุนแรง ทำให้ใบไหม้ทั้งใบ

โรคแอนแทรคโนส
เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum spp.
อาการบนลำต้นแก่ เกิดแผลที่มีขอบเขตแน่นอน สีน้ำตาลหรือสีดำ ถ้ามีปริมาณน้ำฝนมากหรือความชื้นสูงๆ แผลจะขยายตัว ลามขึ้นสู่ส่วนยอด
ลำต้นอ่อน แผลมีขอบเขตไม่แน่นอน สีน้ำตาลอ่อน เมื่อมีความชื้นสูงจะขยายตัวสู่ส่วนยอด ทำให้ยอดตายอย่างรวดเร็ว
ก้านใบ เป็นรอยไหม้ที่โคนก้านใบติดกับลำต้น และก้านใบส่วนที่ติดกับตัวใบหักลู่ลง ในที่สุดจะหลุดร่วงทั้งต้น
ใบ มีอาการไหม้ที่ขอบใบและปลายใบ ขยายตัวเข้าสู่กลางใบ ในที่สุดตัวใบจะไหม้หมด และหลุดร่วง
ถ้าเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอมาก จะยืนต้นตาย ส่วนพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรค ยอดจะหัก แต่สามารถแตกกิ่งหรือยอดใหม่ขึ้นมาทดแทนได้
บางพันธุ์จะพบโคนลำต้นที่ติดกับพื้นดิน มีลักษณะบวมพอง เปลือกลำต้นแตกเป็นริ้วๆ เมื่อเวลาลมพัดจะเปราะหักลงได้ง่าย
การป้องกันกำจัด
การปลูกพืชหมุนเวียน การไถกลบฝังลึกๆ เศษซากมันสำปะหลังที่ติดเชื้อ และการใช้ท่อนพันธุ์ปลอดโรค ช่วยลดปริมาณเชื้อราสาเหตุในดินและลดการแพร่กระจายของโรคได้ หากมีการระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พ่นด้วยสารเคมีประเภทที่มีองค์ประกอบของทองแดง
(ขอบคุณภาพโรคแอนแทรคโนสจากคุณรังษี เจริญสถาพร)

ภาพที่ 3 โรคแอนแทรคโนสที่ลำต้น


ภาพที่ 4 โรคแอนแทรคโนสที่ยอด

โรคใบจุดมันสำปะหลัง
เกิดจากเชื้อรา Cercospora henningsii
ลักษณะอาการ โดยทั่วไปต้นที่เป็นโรคมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ จะพบอาการของโรคบนใบล่าง ๆ มากกว่าใบบน โดยเกิดอาการใบจุดค่อนข้างเหลี่ยมตามเส้นใบ มีสีน้ำตาล ขนาด 3-15 มิลลิเมตร มีขอบชัดเจน จุดแผลด้านหลังใบมีสีเทา เนื่องจากมีเส้นใยและส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุ ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง ตรงกลางแผลอาจจะแห้งและหลุดเป็นรู
การป้องกันกำจัด ใช้พันธุ์แนะนำ ซึ่งมีความต้านทานโรคปานกลาง เมื่อพบโรคระบาดมากอาจพ่นด้วยสารเคมีพวกคอปเปอร์ หรือ เบโนมิล

ภาพที่ 5 แผลโรคใบจุดสีน้ำตาล มีลักษณะค่อนข้างกลม


ภาพที่ 6 โรคใบจุดสีน้ำตาล แผลสามารถลามติดกัน ทำให้ใบไหม้ได้

เนื้อหา