17 กันยายน 2552

จากเส้นใยฝ้าย...สู่ผ้าไตรจีวร งานบุญจุลกฐิน...ที่ตากฟ้า

อำเภอตากฟ้าร่วมกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และพ่อค้าประชาชน ได้กำหนดจัดงานบุญมหากุศลพิธีทอดผ้าจุลกฐิน เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนาให้เป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอตากฟ้าเป็นประจำทุกปีต่อไป ในปีนี้คณะกรรมการกำหนดจัดงานขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2552 ณ วัดโคกขามสามัคคีธรรม ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ในการดังกล่าวได้มีพิธีปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 ไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อให้ได้ปุยฝ้ายนำมาทอผ้าไตรจีจร โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และให้คำแนะนำในการดูแลรักษา จะเริ่มเก็บปุยฝ้ายได้ประมาณวันที่ 15 ตุลาคม นี้
คำว่าจุลกฐินนั้น คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า ย้อมและตัดเย็บ และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่อาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชนและ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน

ผวจ.นครสวรรค์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายอำเภอตากฟ้าปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 ณ วัดโคกขามสามัคคีธรรม เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.52
แปลงฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 อายุประมาณ 80 วัน ภายในบริเวณวัดโคกขามสามัคคีธรรม กำลังออกดอก ติดสมอ

3 กันยายน 2552

เรื่องน่ารู้..โรคใบจุดมันสำปะหลัง









โรคใบจุดมันสำปะหลัง
เกิดจากเชื้อรา เซอร์คอสปอริเดียม เฮ็นนิงซิไอ ในประเทศไทย พบว่า มันสำปะหลังเกือบทุกพันธุ์เป็นโรคใบจุดสีน้ำตาล ความรุนแรงของโรคขึ้นกับพันธุ์ อายุพืชและสภาพแวดล้อม มันสำปะหลังที่มีอายุ 3-5 เดือน จะมีความต้านทานต่อโรคนี้มากกว่ามันสำปะหลังที่มีอายุ 14-16 เดือน และสามารถพบโรคในแหล่งที่มีความชื้นต่ำและแห้งแล้งได้ โรคใบจุดสีน้ำตาลนี้จะไม่ทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลงมากนัก ผลผลิตจะแตกต่างเฉพาะในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค พันธุ์ที่เป็นโรคในระดับปานกลาง พบว่า ทำให้ผลผลิตลดลงตั้งแต่ 14-20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากทำให้ใบร่วงเร็วกว่าปกติ ทำให้พุ่มใบเปิดเป็นโอกาสให้วัชพืชเจริญได้ดี อันเป็นผลทางอ้อมทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลง

ลักษณะอาการ
โดยทั่วไปต้นที่เป็นโรคมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ จะพบอาการของโรคบนใบล่าง ๆ มากกว่าใบบน มีรายงานว่าใบมันสำปะหลังอายุ 5-15 วัน จะทนทานต่อการเกิดโรค และจะเริ่มเป็นโรคได้เมื่ออายุ 25 วันขึ้นไป โดยเกิดอาการใบจุดค่อนข้างเหลี่ยมตามเส้นใบ มีสีน้ำตาล ขนาด 3-15 มิลลิเมตร มีขอบชัดเจน จุดแผลด้านหลังใบมีสีเทา เนื่องจากมีเส้นใยและส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุ ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง ตรงกลางแผลอาจจะแห้งและหลุดเป็นรู

การแพร่ระบาด
เชื้อราสาเหตุของโรคสามารถอาศัยอยู่บนใบมันสำปะหลังที่ร่วงอยู่ในแปลง แพร่ระบาดโดยการสร้างสปอร์ เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์เหล่านี้จะแพร่กระจายไปโดยลม หรือเม็ดฝนพาไปตกบนใบ ทำให้เกิดการแพร่โรคได้ต่อไป
ความชื้น อุณหภูมิ อายุของพืช และความอุดมสมบูรณ์ของดินมีความสำคัญต่อการแพร่ระบาดของโรค กล่าวคือ เชื้อสาเหตุจะสร้างสปอร์เมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 50-90 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิที่ทำให้สปอร์งอกดีที่สุดอยู่ระหว่าง 39-43 องศาเซลเซียส ดังนั้นเราจึงสามารถพบโรคใบจุดสีน้ำตาลในแหล่งที่มีความชื้นต่ำและแห้งแล้ง

การป้องกันกำจัด
ปกติโรคใบจุดพบได้ทั่วไป แต่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต
1. ใช้พันธุ์แนะนำ ซึ่งมีความต้านทานโรคปานกลาง
2. เมื่อพบโรคระบาดรุนแรง พ่นด้วยสารเคมีพวกคอปเปอร์ หรือ เบโนมิล

เนื้อหา