30 พฤษภาคม 2551

วัตถุอันตรายปลอม

สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจค้นสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายปลอม และสุ่มเก็บตัวอย่างจากในท้องตลาด พบวัตถุอันตรายปลอม ดังรายการต่อไปนี้
  1. ชื่อการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ ไกลโฟเซต อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 48% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 521/2548 ผู้จัดจำหน่าย บริษัท ยูคอนอะโกร จำกัด ไม่ระบุชื่อผู้ผลิต
  2. ชื่อการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ ไกลโฟเซต อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 48% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 2989/2549 ผู้ผลิต บริษัท อัลฟ่าอะโกรเทค จำกัด ผู้จัดจำหน่าย บริษัท นูคอลอะโกรเทค จำกัด
  3. ชื่อการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ ไกลโฟเซต อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 48% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 2975/2549 ผู้ผลิต บริษัท อัลฟ่าอะโกรเทค จำกัด ผู้จัดจำหน่าย บริษัท พี.เค.ซี. จำกัด
  4. ชื่อการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ ไกลโฟเซต อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 48% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 1572/2544 ผู้ผลิต บริษัท อัลฟ่าอะโกรเทค จำกัด ผู้จัดจำหน่าย บริษัท พี.เค.ซี. เคมีคอล จำกัด
  5. ชื่อการค้า พาราควอท ชื่อสามัญ พาราควอท คลอไรด์ อัตราส่วนสารออกฤทธิ์ 27.6% W/V SL ทะเบียนเลขที่ 2950/2549 ผู้ผลิต บริษัท อัลฟ่าอะโกรเทค จำกัด ผู้จัดจำหน่าย บริษัท นูคอลอะโกรเทค จำกัด

26 พฤษภาคม 2551

พิษของสารกำจัดวัชพืชบางชนิดต่อมันสำปะหลัง

โดย ศิวิไล ลาภบรรจบ

การปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชจากแหล่งที่มีการพ่นสารไปสู่พื้นที่ข้างเคียง ที่พบเป็นปัญหามากเป็นการปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชจากไร่อ้อย และจากการใช้สารกำจัดวัชพืชในไร่ข้าวโพด แล้วปลิวไปสู่แปลงที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดปัญหากับพืชใบกว้างชนิดอื่นๆ มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ได้รับผลกระทบ และได้รับความเสียหายมาก

สารกำจัดวัชพืชที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่อมันสำปะหลังและพืชใบกว้างชนิดอื่น และมีผลต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง มีดังต่อไปนี้

2,4-ดี
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ทำให้มันสำปะหลังใบยอดไม่เจริญ ใบเหลือง ใบไหม้ กิ่งบวม กิ่งแตก ยอดแห้งตาย ระดับความเสียหายขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ อาการผิดปกติในมันสำปะหลังที่มีรูปแบบจำเพาะ (Typical symptom) ที่เป็นผลมาจาก 2,4-ดี และสารกำจัดวัชพืชในกลุ่ม growth regulator คือ ก้านใบบิดทำให้ใบพลิกหงายขึ้น มุมระหว่างก้านใบกับลำต้นแคบลงกว่าปกติทำให้ก้านใบลู่ลงเกือบแนบลำต้น ส่วนยอดโค้ง กิ่งบวม และมีรอยแตกตามยาวลำต้น


ภาพที่ 1 : (2,4-ดี) ทำให้ยอดบิด โค้งงอ



ภาพที่ 2: (2,4-ดี) ใบยอดไม่คลี่


ภาพที่ 3: (2,4-ดี) ใบเหลือง ใบไหม้ ร่วง ก้านใบลู่ลง


ภาพที่ 4: (2,4-ดี) ยอดไหม้ กิ่งบวม มีรอยแตกตามยาวของกิ่ง หรือลำต้น

อามีทริน
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง จนถึงใบไหม้ โดยอาการเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ ถ้าได้รับสารปริมาณมากทำให้ใบไหม้เป็นสีน้ำตาลแดง ต้นตายได้ มันสำปะหลังจะอ่อนแอต่อสารอามีทรินในระยะที่แตกใบหลังงอกจนอายุประมาณสองถึงสามเดือน มันสำปะหลังต้นโตหากได้รับละอองสารในปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้ ใบร่วงทั้งต้น แต่สามารถแตกใบใหม่ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน ดินที่มีละอองสารอามีทรีนปกคลุมอยู่ในปริมาณมาก เมื่อฝนตกลงมาสารจะซึมลงดิน รากจะดูดซึมขึ้นมา ทำให้มันสำปะหลังเกิดอาการใบไหม้โดยเริ่มจากใบล่างขึ้นมาใบบน


ภาพที่ 5 (อามีทริน) ทำให้ใบเหลืองซีด


ภาพที่ 6 : (อามีทริน) ถ้ามันสำปะหลังได้รับสารปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้จากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ



ภาพที่ 7: (อามีทริน) มันสำปะหลังได้รับสารอามีทรินในปริมาณมาก ทำให้ใบไหม้

อทราซีน
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
มีผลทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง จนถึงใบไหม้ โดยอาการเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ ถ้าได้รับปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้ ต้นตาย มันสำปะหลังจะอ่อนแอต่อสารอทราซีนในระยะที่แตกใบหลังงอกจนอายุประมาณสองถึงสามเดือน


ภาพที่ 8: (อทราซีน) ทำให้ใบมันสำปะหลังเหลืองซีด ถ้าได้รับปริมาณมากทำให้ใบไหม้ ลักษณะคล้ายกับอาการที่เกิดจากการได้รับสารอามีทริน

ไกลโฟเซท
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ต้นมันสำปะหลังที่ได้รับสาร ทำให้ใบมีขนาดเล็กลงมาก แผ่นใบแต่ละหยักจะแคบลง มีลักษณะเรียวเล็กเป็นเส้น และบิด ต้นแคระแกร็น โตไม่ทันต้นอื่น


ภาพที่ 9: (ไกลโฟเซท) ทำให้ใบเรียวเล็ก คล้ายเชือก


ภาพที่ 10: (ไกลโฟเซท) ต้นมันสำปะหลังแคระแกร็น (ต้นด้านซ้ายมือ) โตไม่ทันต้นอื่น


ภาพที่ 11 (ไกลโฟเซท) หยักใบเรียวเล็ก

พาราควอท
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
การได้รับสารพาราควอทในอัตราเข้มข้น มีผลทำให้มันสำปะหลังเกิดจุดตาย (necrotic) บนใบ หากพ่นโดนส่วนยอดเจริญทำให้ยอดและใบแห้งตาย การใช้สารพาราควอทในไร่มันสำปะหลังควรพ่นเมื่อลมสงบ กดหัวพ่นให้ต่ำ การใช้เครื่องพ่นแบบแรงดันมีผลทำให้สารฟุ้งกระจายสัมผัสส่วนต่างๆ ของพืชได้มาก


ภาพที่ 12 (พาราควอท) การใช้พาราควอทในไร่เกษตรกรโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม ในขณะทีลมแรง ทำให้มันสำปะหลังใบแห้งตาย



ภาพที่ 13 (พาราควอท) ส่วนของพืชที่ได้รับสารแสดงอาการไหม้


ภาพที่ 14 (พาราควอท) มันสำปะหลังกำลังแตกยอดใหม่ จากส่วนโคนของกิ่งที่แห้งตาย

12 พฤษภาคม 2551

แมลงศัตรูที่สำคัญของมันสำปะหลังในฤดูแล้ง

โดย ศิวิไล ลาภบรรจบ


มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีพื้นที่ปลูกขยายมากขึ้นในปัจจุบัน บางพื้นที่ขาดท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดีสำหรับปลูก เช่น เขตปลูกมันสำปะหลัง อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังคือมีราคาดี อีกทั้งการดูแลรักษาค่อนข้างง่าย มีการกำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ย หลังจากนั้นก็รอการเก็บเกี่ยว เว้นเสียแต่ว่าจะมีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องสารกำจัดวัชพืชจากไร่อ้อย หรือมีการระบาดของแมลงอย่างรุนแรง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง

ปัญหาที่มักจะพบเมื่อถึงฤดูแล้ง หรือระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เกษตรกรอาจประสบกับปัญหาในด้านการระบาดของแมลงศัตรู ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ความเสียหายที่จะเกิดกับมันสำปะหลังขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ฝนแล้ง หรืออายุพืช
ชนิดของแมลงศัตรูที่พบระบาดในหน้าแล้ง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว และไรแดง
  • เพลี้ยแป้งลาย

เพลี้ยแป้งลาย (Striped Mealybug, Firrisia virgata Cockerell) เป็นแมลงปากดูด ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด และส่วนตา

ลักษณะของเพลี้ยแป้ง

ตัวเต็มวัย มีลักษณะตัวบนหลังและด้านข้างมีแป้งปกคลุมมาก มีทั้งชนิดอกลูกเป็นไข่ และออกลูกเป็นตัว

ลักษณะการทำลาย


เพลี้ยแป้งถ่ายมูลของเหลวทำให้เกิดราดำ (Sooty Mold) บนใบและส่วนอื่นๆ ของต้นพืช ซึ่งมีผลให้พืชสังเคราะห์แสงได้น้อย การดูดกินน้ำเลี้ยงของเพลี้ยแป้งทำให้การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ ยอดและใบบิดเบี้ยว ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม และอาจมีผลกระทบต่อการสร้างหัวหากพืชยังเล็ก ลำต้นมันสำปะหลังที่มีราดำขึ้นปกคลุมเมื่อนำไปใช้เป็นท่อนพันธุ์อาจทำให้ความงอกลดลง
การแพร่ระบาด
เพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น ซอกใบ ใต้ใบมันสำปะหลัง ปริมาณจะเพิ่มขึ้นจนเต็มข้อ ตามลำต้น ส่วนใบ ส่วนยอด เพลี้ยแป้งชนิดออกลูกจะเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่าชนิดวางไข่ หากสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จะขยายปริมาณอย่างรวดเร็ว ตัวอ่อนวัย 1 เป็นวัยที่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เป็นวัยสำคัญในการแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่น โดยการติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลม

มันสำปะหลังพันธุ์แนะนำ เช่น ระยอง 90 ไม่มีการทำลายของเพลี้ยแป้งในระดับที่ความเสียหาย
แนวทางในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง
1. หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่พืชยังเล็กจะกระทบกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายปริมาณเพลี้ยแป้ง ใช้พันธุ์ที่ทางรัฐบาลแนะนำ
2. เก็บส่วนของพืชที่มีเพลี้ยแป้งออกจากแปลง เผาหรือทำลาย และทำความสะอาดแปลงเก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังเก็บเกี่ยวแล้ว
3. เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติ ทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ
4. ควรใช้สารฆ่าแมลงเมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุ่นแรง พืชเริ่มแสดงอาการถูกทำลาย พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลง ระยะที่เหมาะสมเป็นระยะที่เพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1-2 เนื่องจากยังไม่มีแป้งเกาะตามลำตัว เพราะแป้งจะเป็นเกราะกำบังสารฆ่าแมลงได้อย่างดี พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลงเท่านั้น
  • แมลงหวี่ขาว

แมลงหวี่ขาว Bemisia tabaci (Aleyrodidae : Homoptera)
ทำลายพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด การระบาดตลอดทั้งปี และระบาดรุนแรงในฤดูแล้ง และต้นฤดูฝน ซึ่งมีอากาศร้อน แห้งแล้ง

ลักษณะของแมลงหวี่ขาว

ลักษณะของแมลงหวี่ขาวตัวเต็มวัยเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลืองหรือสีขาว มีปีก 1 คู่ เคลื่อนไหวเมื่อถูกรบกวน วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือชิดติดกันที่ด้านใต้ใบพืช ไข่มีสีเหลืองอ่อนลักษณะยาวเรียวและมีก้านสั้น ๆ ยึดติดกับใบพืช ตัวอ่อนมีรูปร่างคล้ายรูปไข่ ขอบด้านข้างลาดลง สีเหลืองปนเขียว ตัวอ่อนวัยที่ 1 เคลื่อนไหวได้ ตัวอ่อนที่มีอายุมากขึ้นจะเกาะนิ่งอยู่ด้านใต้ใบพืชและดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบเป็นอาหาร



การทำลาย

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ ทำให้ใบเหลืองซีด ถ้าระบาดมากในระยะแรกของการเจริญเติบโต จะทำให้ต้นแคระแกร็น สามารถถ่ายมูลหวานบนใบพืชเช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง และเพลี้ยอ่อน ทำให้เกิดราดำ มีผลทำให้พืชสังเคราะห์แสงลดลง

การป้องกันกำจัด
ในมันสำปะหลัง ไม่แนะนำให้พ่นสารกำจัดแมลง เนื่องจากเพิ่มต้นทุนการผลิต และไม่คุ้มทุน หากมีฝนตกปริมาณและความรุนแรงในการระบาดจะลดลง การทำลายของแมลงหวี่ขาวขึ้นกับพันธุ์มันสำปะหลัง

  • ไรแดง

ไรแดงที่ทำลายมันสำปะหลังพบ 2 ชนิด คือ ไรแดงหม่อน และไรแดงมันสำปะหลัง ไรแดงหม่อนทำความเสียหายดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบส่วนล่าง ๆ ของมันสำปะหลัง และขยายปริมาณขึ้นสู่ส่วนยอด ส่วนไรแดงมันสำปะหลังดูดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบส่วนยอด และขยายปริมาณลงสู่ส่วนล่างของลำต้น

ลักษณะของไรแดง

ตัวเต็มวัยมีขา 8 ขา ลำตัวสีแดงเข้ม ส่วนขาไม่มีสี ไรแดงอยู่รวมเป็นกลุ่ม ทำลายทั้งใต้ใบ และบนหลังใบ ตัวเมียขยายพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ (Parthenogenesis) ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ชีพจักรสั้น ตัวเมียวางไข่ได้ 4-13 ฟอง เฉลี่ย 4.79 ฟองต่อวัน ปกติไรแดงจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวไปไกล ๆ โดยใช้เส้นใยสีขาวคล้ายใยแมงมุม ซึ่งใช้เป็นส่วนป้องกันไข่จากศัตรูธรรมชาติ การแพร่กระจายโดยอาศัยกระแสลม การทำความเสียหายจะเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ แล้วกระจายออกเป็นบริเวณกว้าง หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม



การทำลาย

ดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบและใต้ใบ ทำให้ใบมันสำปะหลังเหลืองซีดเป็นรอยขีด ใบม้วนงอและร่วง ส่วนยอดที่ถูกทำลายงองุ้ม ตาลีบ

การป้องกันกำจัด
หากมีการระบาดรุนแรง และมีฝนทิ้งช่วงยาวนาน ควรพ่นด้วยอมิทราช หรือไดโคฟอล โดยพ่นเฉพาะต้นที่แสดงอาการ

6 พฤษภาคม 2551

ขอเชิญร่วมกิจกรรมคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ

ศิวิไล ลาภบรรจบ


ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ฯ ในพระราชานุเคราะห์ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 3 ของปีงบประมาณ 2551
สถานที่จัดงาน
  • วัดมาบมะขาม หมู่ที่ 4 ตำบลเจริญผล อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์

วันที่จัดกิจกรรม

  • วันที่ 22 พฤษภาคม 2551

กิจกรรมที่น่าสนใจ

  • มีการเปิดให้บริการคลินิกด้านการเกษตร กว่า 20 คลินิก เช่น คลินิกพืช คลินิกปศุสัตว์ คลินิกดิน คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกเมล็ดพันธุ์ คลินิกสปก. ฯลฯ
  • โดยแต่ละคลินิกมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ มีเจ้าหน้าให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตร
  • กิจกรรมของโครงการสายใยรัก

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ซึ่งรับผิดชอบในการให้บริการคลินิกพืช มีกิจกรรมดังนี้

1. จัดนิทรรศการด้านพืช พันธุ์พืช และ ศัตรูพืช
2. ให้คำแนะนำด้านการผลิตพืช และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร
3. แจกเอกสารวิชาการแก่เกษตรกร และผู้สนใจ
4. แนะนำพันธุ์มันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 9
5. แจกเชื้อไรโซเบียมสำหรับคลุกเมล็ดถัวเขียว และถั่วเหลือง

ภาพกิจกรรมของคลินิกพืชในการจัดที่ผ่านมา





1 พฤษภาคม 2551

บั่ว...แมลงศัตรูข้าว

ข้าวนาปีที่ปลูกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักเกิดการระบาดของแมลงบั่วช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวกำลังแตกกอเต็มที่ และสภาพอากาศมีความชื้นสูง เหมาะแก่การฟักไข่เป็นตัวหนอนของแมลงบั่ว โดยหนอนจะเข้ากัดกินยอดเจริญของข้าว ทำให้ข้าวแตกกอเป็นกอข้าวที่เป็นหลอดคล้ายหลอดหอมจำนวนมากแต่ไม่ให้รวงข้าว เกษตรกรจึงเก็บผลผลิตไม่ได้ ทำความเสียหายและสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรจำนวนไม่น้อยในแต่ละปีที่มีการระบาด
แหล่งระบาด
แมลงบั่วที่เป็นสาเหตุของปัญหา เป็นแมลงศัตรูข้าวที่เกิดระบาดเฉพาะบางประเทศในทวีปเอเชีย เช่น อินโดนีเชีย ศรีลังกา อินเดีย และไทย สำหรับการระบาดของประเทศไทยมักเกิดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระบาดในภาคกลางและภาคตะวันออกบ้างเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหมาะต่อการเพิ่มปริมาณของแมลงบั่ว ที่ต้องการความชื้นสูง และมีพื้นที่เป็นเขาหรือเชิงเขาล้อมรอบ แมลงบั่วจึงมักระบาดในช่วงฤดูฝนและจะระบาดในช่วงที่ข้าวกำลังแตกกอ

ลักษณะของบั่ว
ลักษณะโดยทั่วไปของแมลงบั่ว ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายยุงแต่ลำตัวมีสีส้ม ยาวประมาณ 3- 4 มิลลิเมตร หนวดและขามีสีดำไข่มีลักษณะคล้ายกล้วยหอม สีชมพูอ่อน ยาวประมาณ 0.45 มิลลิเมตร
ระยะไข่ประมาณ 3-4 วัน ระยะตัวเต็มวัยนาน 2-3 วัน ระยะที่ทำให้ข้าวกลายเป็นหลอดหอมนั้นเป็นระยะตัวหนอนที่ข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนไว้ และฤดูหนึ่ง ๆ แมลงบั่วสามารถขยายพันธุ์ได้ 6-7 ชั่วอายุที่ 2, 3 และ 4 จะเป็นชั่วอายุที่สามารถทำความเสียให้ข้าวได้มากที่สุด
วิธีการป้องกันกำจัด
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของแมลงบั่ว ดร. เฉลิม สินธุเสก นักกีฎวิทยา 8 ว สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำไว้ว่า ปกติแมลงบั่วจะไม่ค่อยระบาดในฤดูแล้ง เพราะสภาพอากาศไม่เหมาะที่แมลงบั่วจะฟักไข่เป็นตัวหนอน ช่วงที่จะเกิดการระบาดคือช่วงฤดูฝน ที่สภาพอากาศมีเมฆฝนและแดดอ่อน ๆ เกษตรกรควรจะเฝ้าระวังในช่วงนี้โดยการสังเกตแมลงที่มาเล่นแสงไฟตอนกลางคืนว่า มีลักษณะคล้ายยุง แต่มีลำตัวเป็นสีส้มหรือไม่ เพราะนั่นเป็นตัวเต็มวัยของแมลงบั่ว ให้เกษตรกรกำจัดโดยใช้กับดักไฟหรือใช้วิธีอื่น ๆ จะช่วยลดปริมาณของแมลงบั่วบ้าง และควรปฎิบัติร่วมกับแนวทางการป้องกัน ดังนี้

  • กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของแมลงบั่ว เช่น ข่าวป่า หญ้าไซ หญ้าปล้อง เป็นต้น
  • ใช้วิธีเขตกรรมร่วมด้วย โดยการเลื่อนระยะเวลาการปลูกหรือปักดำ เป็นช่วงต้น ๆ ของฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน เพื่อให้ข้าวแตกกอเต็มที่ก่อนเดือนกันยายน เพราะหลังข้าวแตกกอเต็มที่แล้ว แมลงบั่วจะไม่เข้าทำลายข้าว
  • การหว่านหรือปักดำ ไม่ควรหว่านหรือปักดำถี่จนข้าวขึ้นแน่นเพราะจะทำให้ความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการฟักของไข่และการเจริญเติบโตของหนอนแมลงบั่ว
  • ดร. เฉลิมยังให้คำแนะนำอีกว่า การใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานการระบาดของแมลงบั่วก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสียหายได้พันธุ์ข้าวที่แนะนำ ได้แก่ กข9 ขาวดอกมะลิ 105 พิษณุโลก 3 และพันธุ์ข้าวเหนียว ได้แก่ เหนียวสันป่าตอง เหมยนอง 62 และ กข6 เป็นต้น แต่การเปลี่ยนจากพันธุ์ที่เกษตรกรเคยใช้มาเป็นพันธุ์ต้านทาน คงต้องพิจารณาจากความต้องการและความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้วย ส่วนหากพื้นที่ใดที่เกิดการระบาดแล้ว สังเกตจากลักษณะของต้นข้าวที่ถูกทำลายจะแคระแกร็นเตี้ยลำต้นกลมสีเขียวเข้ม การแก้ไขในเบื้องต้นควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดดูดซึม เช่น คาร์โบฟูแรน หว่านในนาข้าวที่กำลังแตกกอ เพื่อป้องกันและกำจัดหนอนแมลงบั่วในต้นข้าวได้
  • การระบาดของแมลงบั่วขึ้นกับสภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศ การวางแผนการเพาะปลูกล่วงหน้าในแต่ละปีเป็นสิ่งที่เกษตรกรควรกระทำ ทั้งการเลือกพันธุ์ข้าวและการเลือกระยะการเพาะปลูก การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงบั่วควรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เกษตรกรจะปฏิบัติได้เพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเพื่อแนะนำเกษตรกรให้นำไปปฎิบัติ

เกษตรกรท่านใดต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยงานเกษตรใกล้บ้าน หรือติดต่อ
กลุ่มกีฎและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-5651

ที่มา:จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร ปีที่ 10 ฉบับที่ 11 เดือน ธันวาคม 2550

เนื้อหา