12 พฤษภาคม 2551

แมลงศัตรูที่สำคัญของมันสำปะหลังในฤดูแล้ง

โดย ศิวิไล ลาภบรรจบ


มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีพื้นที่ปลูกขยายมากขึ้นในปัจจุบัน บางพื้นที่ขาดท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดีสำหรับปลูก เช่น เขตปลูกมันสำปะหลัง อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังคือมีราคาดี อีกทั้งการดูแลรักษาค่อนข้างง่าย มีการกำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ย หลังจากนั้นก็รอการเก็บเกี่ยว เว้นเสียแต่ว่าจะมีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องสารกำจัดวัชพืชจากไร่อ้อย หรือมีการระบาดของแมลงอย่างรุนแรง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง

ปัญหาที่มักจะพบเมื่อถึงฤดูแล้ง หรือระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เกษตรกรอาจประสบกับปัญหาในด้านการระบาดของแมลงศัตรู ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ความเสียหายที่จะเกิดกับมันสำปะหลังขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ฝนแล้ง หรืออายุพืช
ชนิดของแมลงศัตรูที่พบระบาดในหน้าแล้ง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว และไรแดง
  • เพลี้ยแป้งลาย

เพลี้ยแป้งลาย (Striped Mealybug, Firrisia virgata Cockerell) เป็นแมลงปากดูด ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด และส่วนตา

ลักษณะของเพลี้ยแป้ง

ตัวเต็มวัย มีลักษณะตัวบนหลังและด้านข้างมีแป้งปกคลุมมาก มีทั้งชนิดอกลูกเป็นไข่ และออกลูกเป็นตัว

ลักษณะการทำลาย


เพลี้ยแป้งถ่ายมูลของเหลวทำให้เกิดราดำ (Sooty Mold) บนใบและส่วนอื่นๆ ของต้นพืช ซึ่งมีผลให้พืชสังเคราะห์แสงได้น้อย การดูดกินน้ำเลี้ยงของเพลี้ยแป้งทำให้การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ ยอดและใบบิดเบี้ยว ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม และอาจมีผลกระทบต่อการสร้างหัวหากพืชยังเล็ก ลำต้นมันสำปะหลังที่มีราดำขึ้นปกคลุมเมื่อนำไปใช้เป็นท่อนพันธุ์อาจทำให้ความงอกลดลง
การแพร่ระบาด
เพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น ซอกใบ ใต้ใบมันสำปะหลัง ปริมาณจะเพิ่มขึ้นจนเต็มข้อ ตามลำต้น ส่วนใบ ส่วนยอด เพลี้ยแป้งชนิดออกลูกจะเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่าชนิดวางไข่ หากสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จะขยายปริมาณอย่างรวดเร็ว ตัวอ่อนวัย 1 เป็นวัยที่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เป็นวัยสำคัญในการแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่น โดยการติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลม

มันสำปะหลังพันธุ์แนะนำ เช่น ระยอง 90 ไม่มีการทำลายของเพลี้ยแป้งในระดับที่ความเสียหาย
แนวทางในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง
1. หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่พืชยังเล็กจะกระทบกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายปริมาณเพลี้ยแป้ง ใช้พันธุ์ที่ทางรัฐบาลแนะนำ
2. เก็บส่วนของพืชที่มีเพลี้ยแป้งออกจากแปลง เผาหรือทำลาย และทำความสะอาดแปลงเก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังเก็บเกี่ยวแล้ว
3. เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติ ทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ
4. ควรใช้สารฆ่าแมลงเมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุ่นแรง พืชเริ่มแสดงอาการถูกทำลาย พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลง ระยะที่เหมาะสมเป็นระยะที่เพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1-2 เนื่องจากยังไม่มีแป้งเกาะตามลำตัว เพราะแป้งจะเป็นเกราะกำบังสารฆ่าแมลงได้อย่างดี พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลงเท่านั้น
  • แมลงหวี่ขาว

แมลงหวี่ขาว Bemisia tabaci (Aleyrodidae : Homoptera)
ทำลายพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด การระบาดตลอดทั้งปี และระบาดรุนแรงในฤดูแล้ง และต้นฤดูฝน ซึ่งมีอากาศร้อน แห้งแล้ง

ลักษณะของแมลงหวี่ขาว

ลักษณะของแมลงหวี่ขาวตัวเต็มวัยเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลืองหรือสีขาว มีปีก 1 คู่ เคลื่อนไหวเมื่อถูกรบกวน วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือชิดติดกันที่ด้านใต้ใบพืช ไข่มีสีเหลืองอ่อนลักษณะยาวเรียวและมีก้านสั้น ๆ ยึดติดกับใบพืช ตัวอ่อนมีรูปร่างคล้ายรูปไข่ ขอบด้านข้างลาดลง สีเหลืองปนเขียว ตัวอ่อนวัยที่ 1 เคลื่อนไหวได้ ตัวอ่อนที่มีอายุมากขึ้นจะเกาะนิ่งอยู่ด้านใต้ใบพืชและดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบเป็นอาหาร



การทำลาย

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ ทำให้ใบเหลืองซีด ถ้าระบาดมากในระยะแรกของการเจริญเติบโต จะทำให้ต้นแคระแกร็น สามารถถ่ายมูลหวานบนใบพืชเช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง และเพลี้ยอ่อน ทำให้เกิดราดำ มีผลทำให้พืชสังเคราะห์แสงลดลง

การป้องกันกำจัด
ในมันสำปะหลัง ไม่แนะนำให้พ่นสารกำจัดแมลง เนื่องจากเพิ่มต้นทุนการผลิต และไม่คุ้มทุน หากมีฝนตกปริมาณและความรุนแรงในการระบาดจะลดลง การทำลายของแมลงหวี่ขาวขึ้นกับพันธุ์มันสำปะหลัง

  • ไรแดง

ไรแดงที่ทำลายมันสำปะหลังพบ 2 ชนิด คือ ไรแดงหม่อน และไรแดงมันสำปะหลัง ไรแดงหม่อนทำความเสียหายดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบส่วนล่าง ๆ ของมันสำปะหลัง และขยายปริมาณขึ้นสู่ส่วนยอด ส่วนไรแดงมันสำปะหลังดูดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบส่วนยอด และขยายปริมาณลงสู่ส่วนล่างของลำต้น

ลักษณะของไรแดง

ตัวเต็มวัยมีขา 8 ขา ลำตัวสีแดงเข้ม ส่วนขาไม่มีสี ไรแดงอยู่รวมเป็นกลุ่ม ทำลายทั้งใต้ใบ และบนหลังใบ ตัวเมียขยายพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ (Parthenogenesis) ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ชีพจักรสั้น ตัวเมียวางไข่ได้ 4-13 ฟอง เฉลี่ย 4.79 ฟองต่อวัน ปกติไรแดงจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวไปไกล ๆ โดยใช้เส้นใยสีขาวคล้ายใยแมงมุม ซึ่งใช้เป็นส่วนป้องกันไข่จากศัตรูธรรมชาติ การแพร่กระจายโดยอาศัยกระแสลม การทำความเสียหายจะเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ แล้วกระจายออกเป็นบริเวณกว้าง หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม



การทำลาย

ดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบและใต้ใบ ทำให้ใบมันสำปะหลังเหลืองซีดเป็นรอยขีด ใบม้วนงอและร่วง ส่วนยอดที่ถูกทำลายงองุ้ม ตาลีบ

การป้องกันกำจัด
หากมีการระบาดรุนแรง และมีฝนทิ้งช่วงยาวนาน ควรพ่นด้วยอมิทราช หรือไดโคฟอล โดยพ่นเฉพาะต้นที่แสดงอาการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา