24 กันยายน 2561

โรคราสนิมอ้อย

โรคราสนิมที่มีรายงานการเข้าทำลายอ้อย มี 4 ชนิด

 1) Brown rust เกิดจากเชื้อรา Puccinia melanocephala พบได้ทั่วไป ในแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของโลก เช่น อินเดีย แอฟริกา ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ทวีปอเมริกา ด้านตะวันตกของฟลอริดา กัวเตมาลา นคารากัว คอสตาริกา เอลซาวาดอร์ ปานามา เมกซิโกและ บราซิล

2) Orange rust เกิดจากเชื้อรา P. kuehnii  ระบาดในเอเชีย และ ออสเตรเลีย

3) Ash rust เกิดจากเชื้อรา P. sparganioides มีรายงานการระบาดใน สวาซีแลนด์ แอฟริกาใต้

4) Tawny rust เกิดจากเชื้อรา Macruropyxis fulva sp. nov. ซึ่งเป็นเชื้อราสนิมชนิดใหม่ที่มีรายงานเข้าทำลายอ้อยในแอฟริกาใต้

อาจพบการทำลายของราสนิมชนิด Brown rust และ Orange rust ปะปนกันบนใบอ้อย ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกความแตกต่างของเชื้อราสาเหตุทั้ง 2 สปีชีส์ คือ ลักษณะสัณฐาน และสี ของ uredinia  paraphyses urediniospores telia และ teliospores  ลักษณะตุ่มสปอร์ (pustules) บนใบพืช pustules ของ P. kuehnii มักจะมีสีส้ม ส่วน pustules ของ  P. melanocephala จะมีสีน้ำตาลเข้ม pustules ที่เกิดจากเชื้อราสนิม P. kuehnii จะสั้นและมีรูปไข่ ส่วน pustules ที่เกิดจากเชื้อรา  P. melanocephala จะยาวกว่าและแคบกว่า

ช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม 2561 พบการระบาดของโรคราสนิมอ้อย  (Orange rust) ที่เกิดจากเชื้อรา P. kuehnii  ในอ้อยที่มีอายุ 5-6 เดือน ที่ปลูกในสภาพแปลงทดลอง ลักษณะเด่นที่ใช้ในการจำแนกสปีชีส์คือส่วนยอด (apex) ของ urediniospores มีผนังหนากว่าด้านอื่นๆ (ภาพที่ 1)

อ้อยที่เป็นโรคราสนิม ระยะแรกเกิดจุดแผลสีเหลือง ขนาดเล็ก ต่อมาแผลขยายตามความยาวของใบ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง มีสีเหลืองรอบแผล มักเกิดแผลหนาแน่นบริเวณกลางใบจนถึงปลายใบ ใต้ใบพบตุ่มสปอร์ ของเชื้อจำนวนมาก ในพันธุ์ที่อ่อนแอ ทำให้ใบไหม้ แห้ง ลำอ้อยมีขนาดเล็ก ผลผลิตลดลง 25 เปอร์เซนต์

โรคราสนิมระบาดในสภาพที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส

การป้องกันกำจัด ปลูกพันธุ์ต้านทาน ใช้สารเคมี เช่น แมนโคเซบ โพรพิโคนาโซล


ภาพที่ 1 Urediniospore ของเชื้อรา Puccinia kuehnii 


ภาพที่ 2 ตุ่มสปอร์ (pustule) ในเนื้อเยื่อชั้นอิพิเดอร์มิส ด้านใต้ใบ

 ภาพที่ 3  ตุ่มสปอร์ (pustule) ในเนื้อเยื่อชั้นอิพิเดอร์มิส ด้านใต้ใบ

ภาพที่ 4 ลักษณะแผลของโรคราสนิม

ภาพที่ 5 โรคราสนิม ใบล่างไหม้บริเวณปลายใบ

เนื้อหา