29 มกราคม 2554

ศวร.นครสวรรค์ ร่วมงาน รวมรักษ์ตากฟ้า

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เดินทางไปเป็นประธานในการเปิดงาน รวมรักษ์ ตากฟ้า คาวบอยไนท์ 2011 ซึ่งจัดให้มีขึ้น ณ สนามหน้าสถานีตำราจภูธร อำเภอตากฟ้า จ.นครสวรรค์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในอำเภอตากฟ้า ให้การต้อนรับ การจัดงานครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนตากฟ้า มีหน่วยราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ตลอดจน ประชาชน พร้อมใจกันแต่งกายสไตล์คาวบอยมาร่วมงาน บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความอบอุ่นและสนุกสนาน

ผวจ.นครสวรรค์ และ ภริยา ชิมข้าวเกรียบข้าวโพด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ที่บูทศูนย์วิจัยฯ











20 มกราคม 2554

ศวร.นครสวรรค์ ร่วมกิจกรรม จังหวัดเคลื่อนที่ฯ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ร่วมต้อนรับ นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ที่เดินทางมาเปิดงาน และมอบนโยบายการปฏิบัติราชการ ตามโครงการเยี่ยมเยียนประชาชน และบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้แก่ประชาชน จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจัดขึ้นที่ วัดเขาชายธงวราราม ต.เขาชายธง อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ โดยศูนย์ฯ ได้จัดนิทรรศการให้ความรู้และให้คำปรึกษาด้านการผลิตพืชไร่ แก่เกษตรกรและประชาชนที่มาร่วมงาน





17 มกราคม 2554

หยุดเผาอ้อย รักษาคุณภาพ ลดโลกร้อน

สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานและความต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อย ชาวไร่อ้อยจึงเลือกใช้แนวทางการเผาอ้อยก่อนตัดซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีการผลิต 2553/54 คิดเป็น 61.07 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณอ้อย 21.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของฤดูการผลิตที่ผ่านมา ซึ่งโดยเฉลี่ยมีอ้อยไฟไหม้ 60.70 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณอ้อย 19.28 ล้านตัน ภาคที่มีปริมาณอ้อยไฟไหม้มากที่สุด คือ ภาคเหนือ มีสัดส่วนสูงถึง 73.89 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นภาคตะวันออก 69.06 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลาง 64.16 เปอร์เซ็นต์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50.69 เปอร์เซ็นต์

การเผาอ้อยก่อนตัดทำให้สูญเสียน้ำหนักและคุณภาพความหวาน ซึ่งหากตัดทิ้งไว้ในไร่นาน ๆ คุณภาพความหวานจะยิ่งลดต่ำลง และยังถูกตัดราคาตามประกาศของโรงงานและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนมาก เพราะอ้อยเผาจะมีน้ำตาลเยิ้มออกมาที่ลำอ้อยหากตัดวางสัมผัสกับพื้นดินก็จะมีเศษหิน ดิน ทราย ปนเข้ามา ทำให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงอย่างมาก อีกทั้งยังสร้างความเสียหายแก่เครื่องจักรในขบวนการผลิตน้ำตาล

การเผาอ้อยยังทำให้ความอุดมสมบรูณ์ของดินและโครงสร้างของดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นเพราะไม่มีเศษซากอ้อยต่าง ๆ คลุมดิน เกิดวัชพืชขึ้นง่าย ส่งผลต่อต้นทุนการกำจัดวัชพืช
อีกทั้งการเผาจะทำให้ตออ้อยถูกทำลาย อ้อยงอกช้ากว่าปกติหรืออาจไม่งอก การเจริญเติบโตช้า ไว้ตอไม่ดี

การเผาอ้อยยังทำลายแมลงที่มีประโยชน์ที่ช่วยควบคุมและกำจัดแมลงศัตรู เกิดการระบาดของแมลงศัตรูอ้อยได้ง่าย เช่น หนอนกอ

ตลอดจนส่งผลต่อตลาดน้ำตาลเนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วอาจจะนำมาเป็นข้ออ้างงดซื้อน้ำตาลจากประเทศไทยได้ เนื่องจากการเผาอ้อยก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์กระจายสู่บรรยากาศ ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ส่งผลให้อุณหภูมิบริเวณผิวโลกสูงขึ้น หรือการเกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งหลาย ๆ ท่านคงได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ผลกระทบดังกล่าวทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายเร็วขึ้นส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก ดังเช่น การเกิดสภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม พายุถล่ม และสภาพอากาศหนาวอย่างผิดปกติ

ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต และสร้างแรงจูงใจ รณรงค์ลดการเผาอ้อย เพื่อลดความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระยะยาวต่อไป อีกทั้งร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลาน ลดโลกร้อน ด้วยการการตัดอ้อยสด ไม่เผาอ้อยให้เกิดมลพิษทางอากาศ และเป็นการรักษาความอุดมสมบรูณ์ของดินอีกด้วย

เรียบเรียง : สุทัศนีย์ วงศ์ศุปไทย

เนื้อหา