31 ตุลาคม 2561

แมลงหวี่ขาวยาสูบ พาหะโรคใบด่างมันสำปะหลัง

แมลงหวี่ขาวยาสูบ
🔹ชื่อสามัญ Tobacco whitefly
🔸ชื่อวิทยาศาสตร์ Bemisia tabaci (Gennadius)
🔹อันดับ Hemiptera วงศ์ Aleyrodidae

ตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบมีขนาดความยาว 1 มม. ปีกสีขาวและลำตัวสีเหลืองอ่อน มักพบเกาะตามใต้ใบมันสำปะหลัง วางไข่และฟักเป็นตัวอ่อนพัฒนาเป็นดักแด้และตัวเต็มวัย จนครบวงจรชีวิต หนึ่งรอบวงจรชีวิตใช้เวลาประมาณ 30 - 40 วัน ในหนึ่งปีมี 10 - 12 รุ่น เพศเมีย 1 ตัววางไข่ได้เฉลี่ย 200 ฟอง ตัวเต็มวัยเคลื่อนที่ด้วยการบิน แมลงหวี่ขาวยาสูบสามารถบินได้เป็นระยะทางประมาณ 2 - 7 กิโลเมตร/วัน ขึ้นกับแรงลม

การป้องกันกำจัด
- การใช้สารฆ่าแมลง พ่นด้วย
อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
หรือ บูโพรเฟซีน 40% SC อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 16)
- การใช้ชีววิธี
แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าตัวห้ำ มวนโอเรียส (Orius sp.) แตนเบียนเอ็นคาเซีย (Encarsia sp.)
- การเขตกรรม
ทำความสะอาดแปลงและบริเวณรอบๆแปลงเพื่อไม่ให้มีแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
ฝังกลบเศษซากพืชที่ตกค้างในแปลงหรือต้นที่เป็นโรคในหลุมลึกเพื่อไม่ให้ต้นงอกออกมาเป็นแหล่งของไวรัสในแปลงปลูก
พืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
แมลงหวี่ขาวยาสูบมีพืชอาศัยมากกว่า 900 ชนิด เช่น ละหุ่ง สบู่ดำ หม่อน พืชผักสวนครัว พืชวงศ์ถั่ว วงศ์แตง วงศ์มะเขือ และวัชพืชอีกหลายชนิด

การตรวจติดตามโรคใบด่างมันสำปะหลังและแมลงพาหะ หลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้ว
หมั่นสังเกตดูยอดอ่อนและใบมันสำปะหลังทุกสัปดาห์ว่ามีอาการของโรคหรือไม่
ตรวจดูใต้ใบว่ามีไข่ ตัวอ่อน หรือตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบหรือไม่
หากพบแมลงหวี่ขาวยาสูบ 5 - 20 ตัว บนพืช 10-20 ต้นต่อแปลง #ให้ดำเนินการป้องกันกำจัดทันที

ข้อควรรู้
แมลงหวี่ขาวยาสูบจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแปลงที่มีพืชอาศัยต่างๆ ตลอดทั้งปี หากในแปลงมีต้นที่เป็นโรคเพียงต้นเดียวแมลงหวี่ขาวยาสูบสามารถแพร่กระจายโรคไปยังต้นอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคระบาดเป็นวงกว้าง 
ดังนั้นการสำรวจติดตามและป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
02-5799588 หรือ 02-5798516

ข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร

โรคใบด่างมันสำปะหลัง

 โรคใบด่างมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไวรัส ในวงศ์ Geminiridae สกุล Begomovirus ปัจจุบันมีรายงานทั้งหมด 10ชนิด พบในทวีปแอฟริกา 8 ชนิด และในทวีปเอเชีย 2 ชนิด ได้แก่ Indian cassava mosaic virus (ICMV) พบในประเทศอินเดีย และ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) พบในประเทศศรีลังกา อินเดีย เวียดนาม และกัมพูชา
ลักษณะอาการของโรค
ใบด่างและใบหงิก เสียรูปทรง อาการด่างมีหลายแบบ เช่น ด่างเขียวซีดสลับเขียวเข้ม ด่างเหลือสลับเขียว ใบหงิก หรือ หงิกเหลือง ใบย่อยบิดเบี้ยวหงิกงอ โค้งเสียรูปทรง ใบอ่อนและใบที่เจริญใหม่มีขนาดเล็กลง ยอดหงิก ต้นแคระแกร็น




แมลงพาหะ
แมลงหวี่ขาวยาสูบ (tobacco whitefly)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bemisia tabaci (Gennadius)


พืชอาศัยของเชื้อไวรัสสาเหตุโรค
•มันสำปะหลัง ละหุ่ง สบู่ดำ
•พืชวงศ์เปล้า Euphorbiaceae

พืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
•พืชวงศ์ถั่ว
•พืชวงศ์แตง
•พืชวงศ์ Solanaceae เช่น มะเขือ พริก ยาสูบ
•กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ แมงลัก ยี่หร่า

เฝ้าระวังและป้องกันท่อนพันธุ์ติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง
- ห้ามใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เก็บจากต้นที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูกใหม่ จะทำให้เกิดโรคใบด่างระบาดอย่างรุนแรงในแปลงตั้งแต่ระยะ 2 เดือนแรก ต้นมันสำปะหลังแคระแกร็น ใบด่างหงิกงอ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 80-100 %

- หมั่นเดินตรวจแปลงตั้งแต่เริ่มปลูกทุกๆ 2 สัปดาห์ 
หากพบอาการต้องสงสัย เช่น ใบหงิก ใบด่าง  ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร หรือ กรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่มาวินิจฉัยโรค เจ้าหน้าที่จะขุดถอนทำลายต้นต้องสงสัยออกจากแปลง นำไปฝังกลบ พ่นต้นที่เหลือในแปลงและแปลงข้างเคียงด้วยสารฆ่าแมลงเพื่อทำลายแมลงหวี่ขาวยาสูบ 

- ติดตามการเกิดโรคใบด่างในแปลงอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์

สายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง 
กลุ่มงานเฝ้าระวังศัตรูพืชกักกัน กลุ่มวิจัยการกักกันพืช
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
โทร. 0–2579–8516 หรือ 061–415–2517
อีเมล์ ppspq@doa.in.th

ข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร

24 กันยายน 2561

โรคราสนิมอ้อย

โรคราสนิมที่มีรายงานการเข้าทำลายอ้อย มี 4 ชนิด

 1) Brown rust เกิดจากเชื้อรา Puccinia melanocephala พบได้ทั่วไป ในแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของโลก เช่น อินเดีย แอฟริกา ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ทวีปอเมริกา ด้านตะวันตกของฟลอริดา กัวเตมาลา นคารากัว คอสตาริกา เอลซาวาดอร์ ปานามา เมกซิโกและ บราซิล

2) Orange rust เกิดจากเชื้อรา P. kuehnii  ระบาดในเอเชีย และ ออสเตรเลีย

3) Ash rust เกิดจากเชื้อรา P. sparganioides มีรายงานการระบาดใน สวาซีแลนด์ แอฟริกาใต้

4) Tawny rust เกิดจากเชื้อรา Macruropyxis fulva sp. nov. ซึ่งเป็นเชื้อราสนิมชนิดใหม่ที่มีรายงานเข้าทำลายอ้อยในแอฟริกาใต้

อาจพบการทำลายของราสนิมชนิด Brown rust และ Orange rust ปะปนกันบนใบอ้อย ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกความแตกต่างของเชื้อราสาเหตุทั้ง 2 สปีชีส์ คือ ลักษณะสัณฐาน และสี ของ uredinia  paraphyses urediniospores telia และ teliospores  ลักษณะตุ่มสปอร์ (pustules) บนใบพืช pustules ของ P. kuehnii มักจะมีสีส้ม ส่วน pustules ของ  P. melanocephala จะมีสีน้ำตาลเข้ม pustules ที่เกิดจากเชื้อราสนิม P. kuehnii จะสั้นและมีรูปไข่ ส่วน pustules ที่เกิดจากเชื้อรา  P. melanocephala จะยาวกว่าและแคบกว่า

ช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม 2561 พบการระบาดของโรคราสนิมอ้อย  (Orange rust) ที่เกิดจากเชื้อรา P. kuehnii  ในอ้อยที่มีอายุ 5-6 เดือน ที่ปลูกในสภาพแปลงทดลอง ลักษณะเด่นที่ใช้ในการจำแนกสปีชีส์คือส่วนยอด (apex) ของ urediniospores มีผนังหนากว่าด้านอื่นๆ (ภาพที่ 1)

อ้อยที่เป็นโรคราสนิม ระยะแรกเกิดจุดแผลสีเหลือง ขนาดเล็ก ต่อมาแผลขยายตามความยาวของใบ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง มีสีเหลืองรอบแผล มักเกิดแผลหนาแน่นบริเวณกลางใบจนถึงปลายใบ ใต้ใบพบตุ่มสปอร์ ของเชื้อจำนวนมาก ในพันธุ์ที่อ่อนแอ ทำให้ใบไหม้ แห้ง ลำอ้อยมีขนาดเล็ก ผลผลิตลดลง 25 เปอร์เซนต์

โรคราสนิมระบาดในสภาพที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส

การป้องกันกำจัด ปลูกพันธุ์ต้านทาน ใช้สารเคมี เช่น แมนโคเซบ โพรพิโคนาโซล


ภาพที่ 1 Urediniospore ของเชื้อรา Puccinia kuehnii 


ภาพที่ 2 ตุ่มสปอร์ (pustule) ในเนื้อเยื่อชั้นอิพิเดอร์มิส ด้านใต้ใบ

 ภาพที่ 3  ตุ่มสปอร์ (pustule) ในเนื้อเยื่อชั้นอิพิเดอร์มิส ด้านใต้ใบ

ภาพที่ 4 ลักษณะแผลของโรคราสนิม

ภาพที่ 5 โรคราสนิม ใบล่างไหม้บริเวณปลายใบ

17 กรกฎาคม 2561

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในการผลิตอ้อย

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน คืออะไร?
การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงตามระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และตรงตามความต้องการของพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตดี และการให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน

สมบัติของดินที่เหมาะสมในการผลิตอ้อย
- ดินลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร
- ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) 5.6-7.3
- อินทรียวัตถุ 1.5-2.5 %
- เนื้อดินร่วนปนทราย ถึงร่วนเหนียว
- โปร่ง ร่วนซุย และระบายน้ำดี
- ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
- โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 80-150  มิลลิกรัม/กิโลกรัม
- แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ มากกว่า 110-125  มิลลิกรัม/กิโลกรัม
- แมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 12-30  มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ความต้องการธาตุอาหารของอ้อย
ในการสร้างผลผลิต 1 ตัน อ้อยต้องการใช้ธาตุอาหาร
- ไนโตรเจน (N)              1.41    กิโลกรัม
- ฟอสฟอรัส (P)              0.61    กิโลกรัม
- โพแทสเซียม (K)            2.17    กิโลกรัม
- แคลเซียม (Ca)             0.51    กิโลกรัม
- แมกนีเซียม (Mg)           0.30    กิโลกรัม

คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับอ้อย

การปรับปรุงดินก่อนการปลูกอ้อย
 - ดินทราย ดินร่วนปนทราย ควรปรับปรุงด้วยวัสดุอินทรีย์ เช่น กากตะกอนหม้อกรองอ้อย อัตรา 1 ตันต่อไร่
 - ดินที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง น้อยกว่า 5.6 ควรปรับปรุงดินด้วยโดโลไมท์ อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วแปลงก่อนไถเตรียมดิน

วิธีการใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยอ้อย ควรแบ่งใส่ 2-3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก ให้มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ครบทั้ง 3 ธาตุ เช่น ปุ๋ย 16-16-8
- ครั้งที่ 2 เมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือน  หรือ 5-6 เดือน (สำหรับอ้อยที่ปลูกข้ามแล้ง) และดินมีความชื้นเหมาะสม ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) โดยโรยเป็นแถวสองข้างต้นแล้วพรวนกลบ

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับอ้อยปลูก



 การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับอ้อยตอ



แหล่งข้อมูล
กลุ่มวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร ปี 2561

ติดต่อสอบถาม
โทร. 0-2561-4681 โทรสาร 0-2940-5942
กลุ่มวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในการผลิตมันสำปะหลัง

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน คืออะไร?
การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงตามระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และตรงตามความต้องการของพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตดี และการให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน

สมบัติของดินที่เหมาะสมในการผลิตมันสำปะหลัง
  •        ค่าการนำไฟฟ้าเมื่ออิ่มตัวด้วยน้ำ มีค่าไม่เกิน 0.5 เดซิซีเมนต่อเมตร
  •  ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) 5.0-6.5
  • อินทรียวัตถุ 0.65-2.0 %
  •  เนื้อดินทราย  ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย
  •  โปร่ง ร่วนซุย และระบายน้ำดี
  • ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ มากกว่า 7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  •  โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ มากกว่า 30  มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  •  แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ มากกว่า 50  มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • แมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ มากกว่า 24  มิลลิกรัม/กิโลกรัม

การปรับปรุงดินก่อนการปลูกมันสำปะหลัง
  • ดินมีอินทรียวัตถุต่ำ ดินทราย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูก
  •  ดินดาน ควรไถระเบิดดินดานลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ในขณะดินแห้ง
  •  ดินที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง น้อยกว่า 5.0 ควรปรับปรุงดินด้วยโดโลไมท์ อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่  โดยหว่านให้ทั่วแปลงก่อนไถเตรียมดิน

คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับมันสำปะหลัง

ความต้องการธาตุอาหารของมันสำปะหลัง

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับมันสำปะหลัง




วิธีการใส่ปุ๋ย
- ดินร่วน ถึง ร่วนเหนียว ใส่ปุ๋ยเมื่อมันสำปะหลังอายุ 1-2 เดือน
- ดินทราย ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ใส่เมื่อมันสำปะหลังอายุ 1 เดือน ให้มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ครบทั้ง 3 ธาตุ เช่น ปุ๋ย 16-16-8
ครั้งที่ 2 เมื่อมันสำปะหลังอายุ 2 เดือน  และดินมีความชื้นเหมาะสม ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) โดยโรยเป็นแถวสองข้างต้นแล้วพรวนกลบ

แหล่งข้อมูล
กลุ่มวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร ปี 2561

ติดต่อสอบถาม
โทร. 0-2561-4681 โทรสาร 0-2940-5942
กลุ่มวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร

12 กรกฎาคม 2561

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์


การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน คืออะไร ?
การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงตามระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และตรงตามความต้องการของพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตดี และการให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน

สมบัติของดินที่เหมาะสมในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  • ดินลึก มากกว่า 75 เซนติเมตร
  •  ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) 5.5-7.5
  •  อินทรียวัตถุ มากกว่า 1.0%
  • เนื้อดินร่วน  ร่วนปนทราย ร่วนเหนียว ดินเหนียว
  •  โปร่ง ร่วนซุย และระบายน้ำดี
  • ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ มากกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ มากกว่า 60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  •  แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ มากกว่า 300 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  •  แมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ มากกว่า 33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

การปรับปรุงดินก่อนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  •  ดินมีอินทรียวัตถุต่ำ ดินร่วนปนทราย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 700 กิโลกรัม/ไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูก
  •  ดินที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง น้อยกว่า 5.5 ควรปรับปรุงดินด้วยโดโลไมท์ อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่  โดยหว่านให้ทั่วแปลงก่อนไถเตรียมดิน
  •  ดินที่มีความเป็นกรด-ด่าง มากกว่า 7.5  ควรเลือกใช้ปุ๋ย 21-0-0 เป็นแหล่งของไนโตรเจน
คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ความต้องการธาตุอาหารของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

วิธีการใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก ให้มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ครบทั้ง 3 ธาตุ 
เช่น ปุ๋ย 16-16-8
ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดอายุ 3-4 สัปดาห์หลังปลูก และดินมีความชื้นเหมาะสม ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) ข้างแถวปลูกแล้วพรวนกลบ

แหล่งข้อมูล
กลุ่มวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ปี 2561

ติดต่อสอบถาม
โทร. 0-2561-4681 โทรสาร 0-2940-5942
กลุ่มวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร

21 มิถุนายน 2561

ตากฟ้า 6 ฝ้ายพันธุ์ใหม่ เส้นใยสีน้ำตาล



ฝ้ายพันธุ์ใหม่ล่าสุด  " ตากฟ้า 6 "  เกิดจากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ตากฟ้า 2 กับพันธุ์ Brown cotton  เป็นผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร

ลักษณะเด่น 
มีเส้นใยเป็นสีน้ำตาล โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม จึงปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ยกระดับมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค


ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 ให้ผลผลิต 298 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคใบหงิกในระดับปานกลาง มีเส้นใยยาวปานกลาง 1.09 นิ้ว เปอร์เซ็นต์หีบ 23.4%  ความเหนียวเส้นใย 19.0 กรัมต่อเท็กซ์ ความละเอียดอ่อนเส้นใย 2.7  ความสม่ำเสมอเส้นใย 58%



ฝ้ายตากฟ้า 6

เส้นใยสีน้ำตาล



ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาล พันธุ์ตากฟ้า 6

ด้วยเส้นใยที่มีสีน้ำตาลคล้ายสีกลัก สามารถทำอังสะและสบงถวายพระ และทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้สวยงาม มีเอกลักษณ์




พันธุ์ตากฟ้า 6 เส้นใยสีน้ำตาลเข้ม เทียบกับพันธุ์ตากฟ้า 86-5 ที่มีเส้นใยสีเขียว  และพันธุ์ตากฟ้า 3 เส้นใยสีน้ำตาล





เส้นใยของฝ้ายพันธุ์ต่าง เมื่อนำมาทอ
ผืนบนตากฟ้า 86-5 ผืนกลางตากฟ้า 3 และผืนล่างตากฟ้า 6

6 มีนาคม 2561

การจัดการวันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวน บางปีฝนมักจะมาล่าช้ากว่าปกติ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 98% ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน เมื่อกระทบแล้งย่อมมีผลต่อการให้ผลผลิตซึ่งความเสียหายขึ้นกับระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพดในช่วงที่ขาดน้ำ

เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดที่ปลูกต้นฤดูฝน  มักได้รับความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน   โดยเฉพาะหากฝนทิ้งช่วงขณะข้าวโพดอยู่ในระยะออกดอกและสะสมน้ำหนักเมล็ด (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) จะเกิดความเสียหายมาก


ข้าวโพดที่ปลูกต้นฤดูฝน ปี 2557 (ปลูกต้นเดือนพฤษภาคม) ณ บ้านซับตะเคียน ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ได้รับความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ช่วงข้าวโพดอยู่ในระยะออกดอกและสะสมน้ำหนักเมล็ด

ปี 2562 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ผลของการขาดน้ำในแต่ละระยะการเจริญเติบโต
Arnon (1974)  พบว่า
  • หากข้าวโพดขาดน้ำในช่วงระยะเจริญเติบโตทางลำต้นและใบก่อนที่จะออกดอกตัวผู้  ผลผลิตจะลดลง 25 %
  • หากข้าวโพดขาดน้ำในช่วงตั้งแต่ออกดอกตัวผู้  จนกระทั่งเริ่มสร้างเมล็ด  ผลผลิตจะลดลง 50 %
  • หากข้าวโพดขาดน้ำในช่วงหลังจากระยะสร้างเมล็ดสมบูรณ์ ผลผลิตจะลดลง 21 %
Grudloyma et al. (2005) รายงานว่า
  • หากข้าวโพดขาดน้ำในช่วงออกดอก  เป็นระยะเวลานาน 2 สัปดาห์ ผลผลิตจะลดลง 53 %

“ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในช่วงวันปลูกที่เหมาะสม สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ”

วิเคราะห์ช่วงวันปลูกที่เหมาะสมเพื่อวางแผนการผลิตได้อย่างไร ?
 ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์และการคำนวณ
  • ค่าสัมประสิทธิ์พืช (Kc) ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (1)
  • ข้อมูลสภาพภูมิอากาศในแหล่งปลูก (2)
  • คำนวณปริมาณการใช้น้ำของพืชโดยอาศัยข้อมูลภูมิอากาศ (3)
ปริมาณการใช้น้ำของข้าวโพดในแต่ระยะการเจริญเติบโต

กรณีศึกษา : การวิเคราะห์ช่วงวันปลูกที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จากข้อมูลน้ำฝนและปริมาณความต้องการน้ำของข้าวโพดในแต่ละระยะการเจริญเติบโต






คำแนะนำช่วงวันปลูกที่เหมาะสมในพื้นที่ จ.นครสวรรค์
ปลูกปลายฤดูฝน (ปลายเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม)
ข้าวโพดได้รับน้ำฝนเพียงพอแก่ความต้องการตลอดฤดูปลูก แต่ให้ระวังน้ำท่วมขัง ควรทำร่องระบายน้ำ และระวังต้น  หักล้ม  เนื่องจากพายุลมแรง ควรเลือกใช้พันธุ์ที่มีลำต้นแข็งแรง

ปลูกต้นฤดูฝน
มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคมและปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอตลอดฤดูปลูก ส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตอย่างรุนแรง  กรณีที่ี่ฝนทิ้งช่วงยาวนานอาจต้องไถทิ้งและปลูกใหม่


(1) ส่วนการใช้น้ำชลประทาน สำนักอุทุกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน (2554)
(2) สถานีอุตุนิยมวิทยานครสวรรค์ (ตากฟ้า)
(3) Blaney-Criddle (FAO, 1992)

เอกสารอ้างอิง
Arnon, L.  1974.  Mineral Nutrition on Maize.  International Potash Institute. Werder AG, Switzerland, 452 P.
Grudloyma, P., N. Kumlar, and S. Prasitwatanaseri.  2005. Performance of Promising Tropical
Late Yellow Maize Hybrids under Drought and Low Nitrogen Conditions. Pages 112116. In : Maize Adaptation to Marginal Environments. March 6-9, 2005, Pak Chong, Nakhon Ratchasima, Thailand

แหล่งข้อมูล : ดร.ศุภกาญจน์ ล้วนมณี (2559) ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์  สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

เนื้อหา