19 ตุลาคม 2552

เปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร



เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "เปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร" และแสดงความยินดีในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตรปีที่ 37 พร้อมด้วย นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติร่วมงาน โดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวรายงานและนำชมนิทรรศการ ณ บริเวณพื้นที่โดยรอบกรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ ซึ่งประกอบด้วยนิทรรศการผลงานวิจัยหลากหลายสาขาที่นำไปใช้ได้จริงจากหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการเกษตร การสาธิตการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รู้จักกับพืชพันธุ์ดีนานาชนิด ให้คำปรึกษาปัญหาการเกษตรกับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ และเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย ทั้งปัจจัยการผลิต ผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพ
นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยว่าได้นำผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืชเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 3 ที่มีลักษณะดีเด่น คือให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อความแห้งแล้ง ฝ้ายพันธุ์ที่มีเส้นใยสีเขียว และฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาล ซึ่งเป็นฝ้ายคุณภาพดีประเภทเส้นใยยาว ทนต่อโรคใบหงิก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่จำเป็นต้องฟอกย้อม เหมาะที่จะนำไปเพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการปั่นด้าย และการกรอด้าย จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สบู่ข้าวโพด ข้าวเกรียบข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย โดยได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาชมงานจำนวนมาก



15 ตุลาคม 2552

เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
เป็นผลงานเด่นของกรมวิชาการเกษตร ปี 2551 โดยได้รับรางวัลชมเชยประเภทงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ผู้คิดค้นคือนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ซึ่งปัญหาจากการขาดแคลนแรงงานประกอบกับค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวสูง จึงได้มีการพัฒนาเครื่องเกี่ยวนวดข้าวซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยนำมาดัดแปลงให้สามารถเกี่ยวนวดข้าวโพดได้ 2 แบบ คือ แบบตัดทั้งต้น และแบบปลิดเฉพาะฝัก
เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบตัดทั้งต้น ได้พัฒนาชุดหัวเกี่ยวบางส่วน และระบบนวดกะเทาะ จนสามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดทั้งต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอัตราการทำงาน 2-4 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการแตกหักต่ำกว่า 2 % มีสิ่งเจือปนและอัตราการสูญเสียของเมล็ดต่ำกว่า 1 % และสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกระยะห่างของแถวปลูก
เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบปลิดเฉพาะฝัก ได้เปลี่ยนหัวเกี่ยวข้าวที่ใช้ใบมีดตัดเป็นชุดหัวปลิดฝักข้าวโพดขนาด 4 แถว แทน และพัฒนาระบบนวดกะเทาะจนเหมาะสำหรับใช้กับข้าวโพดที่ปลิดเฉพาะฝัก มีอัตราการทำงานมากกว่า 6 ไร่ต่อชั่วโมง และมีอัตราการสูญเสียของเมล็ดและสิ่งเจือปนต่ำกว่า 1% เหมาะสำหรับเก็บเกี่ยวข้าวโพดในแปลงที่มีระยะห่างของแถวปลูก 75 เซนติเมตร
นอกจากนั้นเครื่องทั้งสองแบบยังสามารถทำงานในแปลงที่มีสภาพเปียกแฉะได้ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดได้ในเวลาที่ต้องการ และมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเนื่องจากช่วยลดต้นทุนขั้นตอนการเก็บเกี่ยวได้ไม่น้อยกว่า 20% ผลงานวิจัยนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาหรือดัดแปลงสำหรับใช้กับพืชอื่นๆ หรือปรับให้ใช้ได้ทั้งเก็บเกี่ยวข้าวและข้าวโพด

12 ตุลาคม 2552

มารู้จัก..โรคราสนิมของข้าวโพด

โรคราสนิม (southern corn rust)
โรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อ Puccinia polysora Underw พบครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาโดย Underwood โดยเข้าทำลายพืชที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับข้าวโพดคือ Tripsacum dactyloides ในรัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา ต่อมาพบในพืช Erianthus ซึ่งเป็นพืชตระกูลหญ้าซึ่งมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับอ้อย ส่วนการเข้าทำลายข้าวโพดครั้งแรกรายงานโดย Cummins ( Orian, 1954; Ullstrup, 1950) โรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora ระบาดแพร่หลายในเขตร้อนชื้น (tropical) และกึ่งร้อนชื้น (subtropical) ในปี ค.ศ. 1949 พบการระบาดที่อัฟริกา (Robinson, 1973) ปี 1949 เริ่มระบาดแถบ corn belt หลังจากนั้นเริ่มกระจายออกไปในหลายพื้นที่ปลูก 

สำหรับประเทศไทยโรคราสนิมมีความสำคัญยิ่งโรคหนึ่ง มีรายงานการระบาดของโรคราสนิม ในปี พ.ศ. 2527 โดยสร้างความเสียหายให้กับข้าวโพดในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (อุดม, 2529) นอกจากนี้ยังพบการระบาดในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง เช่น การปลูกข้าวโพดหวานเพื่ออุตสาหกรรม อีกประการหนึ่งคือการกระจายของน้ำฝนไม่สม่ำเสมอ ทำให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีหลายฤดูปลูก จึงมีพืชอาศัยของโรคตลอดทั้งปีเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่ต้นที่ปลูกภายหลัง ปลายฤดูฝน (สิงหาคม-พฤศจิกายน) เป็นช่วงที่เกิดโรครุนแรงที่สุด (ประชุม และคณะ, 2546) การเขตกรรมและพันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกมีผลต่อการระบาดของโรคราสนิม (southern rust) (Futrell, 1975) ปัจจุบันแหล่งที่พบว่ามีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ได้แก่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เลย เชียงใหม่ ตาก และ สงขลา (ชุติมันต์ และเตือนใจ, 2545) 



อาการของโรค ลักษณะอาการของโรคราสนิม (Southern rust) จะเกิดตุ่มนูนของสปอร์ (pustule) ขนาด 0.2-1.3 มิลลิเมตร ตุ่มสปอร์ของโรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora ต่างจากตุ่มสปอร์ที่เกิดจากเชื้อรา P. sorghi ทั้งขนาด รูปร่าง และสี นอกจากนี้ลักษณะแตกต่างที่สำคัญคือโรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora จะมีความรุนแรงมากกว่า สามารถทำให้ข้าวโพดแห้งตายได้ (Rodriguez-Ardon et al., 1980) ตุ่มของสปอร์ของโรคราสนิมเกิดได้ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ แต่จะพบมากด้านบนของใบ โรคราสนิมสามารถเกิดได้ทุกส่วนของพืช ไม่ว่าบนใบ กาบใบ ลำต้น กาบหุ้มฝัก และช่อดอกตัวผู้ ระยะแรกตุ่มสปอร์จะมีสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อตุ่มสปอร์แตกออกจะพบผงสีสนิมเหล็ก เป็นหน่วยสืบพันธุ์ของเชื้อที่เรียกว่า uredospore 

ความเสียหายที่เกิดจากโรคราสนิม เมื่อเชื้อสาเหตุโรคราสนิมเข้าทำลายข้าวโพดจะทำให้พื้นที่ใบสูญเสียการสังเคราะห์แสง เกิดอาการใบซีด (chlorosis) และใบแก่เร็วขึ้นทำให้การสร้างเมล็ดไม่สมบูรณ์จึงมีผลต่อผลผลิต ความเสียหายของผลผลิตมีมากขึ้นเมื่อข้าวโพดถูกทำลายเมื่อข้าวโพดยังเล็กและโรคราสนิมลามขึ้นไปถึงใบที่อยู่เหนือฝัก (Biswanath, 2008) ความเสียหายของผลผลิตข้าวโพดเนื่องมาจากการทำลายของโรคราสนิมนอกจากจะขึ้นกับอาการของโรคแล้ว ยังขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ข้าวโพด ตลอดจนปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเจริญของข้าวโพด เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้นในดิน ซึ่งจะทำให้ข้าวโพดที่เป็นโรคระดับเดียวกันเป็นโรครุนแรงต่างกันได้ Pataky และ Eastburn (1993) รายงานความเสียหายในข้าวโพดหวานที่มีระดับความต้านทานแตกต่างกัน ในข้าวโพดหวานพันธุ์ต้านทานที่เป็นโรคราสนิม 1-20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผลผลิตลดลง 0-12 เปอร์เซ็นต์ พันธุต้านทานปานกลางที่เป็นโรค 8-30 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตจะลดลง 5-18 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์อ่อนแอปานกลางที่เป็นโรครุนแรง 15-40 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตจะลดลง 9-24 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์อ่อนแอที่เป็นโรครุนแรง 25-75 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตลดลง 15-45 เปอร์เซ็นต์ 

การป้องกันกำจัด การจัดการโรคทำได้หลายวิธีการตั้งแต่การใช้พันธุ์ต้านทาน การใช้สารเคมีและการจัดการด้านเขตกรรม ปกติโรคที่เข้าทำลายข้าวโพดในระยะออกดอก หรือหลังออกดอก แนวทางการแก้ไขคือต้องปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานต่อโรคนี้ (ประชุม et al., 2549) ซึ่งจะมีการคัดเลือกเชื้อพันธุกรรมข้าวโพดที่มีลักษณะต้านทานทั้งแบบคุณภาพและปริมาณ (Chavez-Medina et al., 2007) มาใช้เป็นแหล่งในการสร้างพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานต่อโรค ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันโรคนี้ไว้ด้วยสำหรับแก้ปัญหาในระยะสั้น

ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเมื่อพบโรคราสนิมในข้าวโพด มีข้อควรพิจารณาหลายประการ เช่น ความคุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ การใช้สารเคมีควรคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ ควรพ่นเมื่อเริ่มมีอาการของโรคในพันธุ์อ่อนแอที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตและผลตอบแทนคุ้มค่า เช่น ในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม หรือแปลงผลิตสายพันธุ์แท้ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ-แม่ และตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิ และความชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการแพร่ระบาดของโรคด้วย หากมีสภาพแวดล้อมต่อการเกิดโรคเหมาะสม ควรพิจารณาป้องกันกำจัด 

การป้องกันกำจัดให้พ่นด้วยสารกำจัดโรคพืช ไดฟีโนโคนาโซล (difenoconazole) หรือ ไซโปรโคนาโซล (cyproconazole) เมื่อข้าวโพดเริ่มแสดงอาการจึงจะได้ผลดี (สมเกียรติ และดิลก, 2533) นอกจากนี้ยังพบว่า ไดฟีโนโคนาโซล 15% + โพรพิโคนาโซล 15% อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีที่สุดและให้ผลผลิตสูงที่สุด (ประชุม et al., 2549) 

คำแนะนำสำหรับการป้องกันกำจัดโรคราสนิมของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีเนื่องจากเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติและไม่คุ้มต่อการลงทุน ดังนั้นการแนะนำให้เกษตรปลูกพันธุ์ต้านทานต่อโรคเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด (เบญจพรรณ, 2546)

ตุ่มสปอร์ (pustule) บนใบข้าวโพด เมื่อแตกออก จะ เห็น uredospores จำนวนมาก

ลักษณะ uredospore ของเชื้อรา P. polysora

เนื้อหา