23 มิถุนายน 2551

การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายสีธรรมชาติเพื่อหัตถกรรมสิ่งทอ

ปริญญา สีบุญเรือง

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ผ้าฝ้ายทอมือตากฟ้า
ผลแห่งความสำเร็จจากงานวิจัย ของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ในปี 2544 ส่งผลให้ฝ้ายพันธุ์ใหม่ ที่มีเส้นใยยาวในชื่อว่า “ตากฟ้า 2” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
แต่กลับไม่ได้รับการต้อนรับที่ดี เมื่อราคารับซื้อฝ้ายในปีนั้นต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีแนวความคิดที่สอดคล้องกันจากบุคคลหลายฝ่ายที่จะนำฝ้ายพันธุ์ใหม่นี้ มาปั่นเป็นเส้นด้ายด้วยมือและนำไปทอเป็นผืนผ้า เพื่อยกระดับมูลค่าของผลผลิต โดยได้รับความช่วยเหลือและร่วมมือร่วมใจกันจากสมาคมอุตสาหกรรมฝ้ายไทย พัฒนาชุมชนอำเภอตากฟ้า และโครงการฝ้ายแกมไหมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เกิดกระบวนการผลิต “ผ้าฝ้ายทอมือตากฟ้า” ขึ้นมา โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของการปลูกฝ้าย การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวปุยฝ้าย จนกระทั่งการนำปุยฝ้ายไปหีบเพื่อแยกปุยออกจากเมล็ด
จากนั้นจึงนำปุยฝ้ายที่ได้ไปทำการปั่นเป็นเส้นด้ายด้วยเครื่องเมเดลรีจักราที่พัฒนาโดยโครงการฝ้ายแกมไหม จากเส้นด้ายนำไปสู่กระบวนการทอเป็นผืนผ้า เป็นการสร้างงานให้กับชุมชนในหลายหมู่บ้านของหลายอำเภอ ในจังหวัดนครสวรรค์
จากการผลิตที่ชุมชนมีส่วนร่วม และด้วยความสวยงามของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผ้าฝ้ายทอมือตากฟ้า ได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว ประจำจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นกระบวนการปั่นเส้นด้ายจากพันธุ์ฝ้ายเส้นใยยาว “ตากฟ้า 2“ โดยเครื่องเมเดลรีจักราก็เป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับ และแพร่หลายจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหลายหมู่บ้าน หลายตำบล หลายอำเภอ และหลายจังหวัด แต่พื้นที่การปลูกฝ้ายพันธุ์นี้กลับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ความต้องการเส้นใยจากฝ้าย
ถึงแม้ว่าฝ้ายจะยังคงเป็นพืชเส้นใยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการใช้เป็นวัตถุดิบหลัก สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในประเทศ ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันสิ่งทอจากเส้นใยประดิษฐ์จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่สิ่งทอจากฝ้ายซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดเช่นเดิม และยังขยายไปสู่หัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้านที่ทำรายได้ให้แก่ชุมชนในรูปของหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แต่พื้นที่การปลูกฝ้ายของประเทศกลับลดลงมาโดยตลอด ส่งผลให้ผลผลิตฝ้ายของประเทศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ภายในประเทศ ทำให้ไทยติดลำดับหนึ่งในสิบของประเทศผู้นำเข้าฝ้ายมากที่สุดเของโลก โดยในปี 2550 มีการนำเข้าฝ้ายถึง 398,840 ตัน คิดเป็นมูลค่า 18.86 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาสำคัญคือแมลง โดยเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้าย ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เข่น อ้อย และ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่ายกว่า แต่ให้
ผลตอบแทนที่สูงกว่า

เพิ่มคุณค่าฝ้ายไทย...การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายสีธรรมชาติ
ดังนั้นสิ่งที่จะจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกฝ้ายจึงควรมุ่งไปที่การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หรือหัตถกรรมสิ่งทอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงาม และมีความทันสมัยดึงดูดใจผู้บริโภค
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์จึงได้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ฝ้ายของไทยให้มีคุณภาพเส้นใยที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่สีตามธรรมชาติของเส้นใย สำหรับเป็นทางเลือกใหม่ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตฝ้ายให้แก่เกษตรกร และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลอดจนยกระดับหัตถกรรมสิ่งทอของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการลดมลภาวะน้ำเสียที่เกิดจากการฟอกย้อม โดยทำการผสมพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 2 กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว เป็นคู่ผสมที่1 และทำการผสมพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 2 กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาล เป็นคู่ผสมที่ 2 ในปี 2543 และทำการผสมกลับ 4-5 ชั่ว ระหว่างปี 2545-2546 โดยในการผสมกลับแต่ละครั้งจะทำการเก็บเกี่ยวเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียวในคู่ผสมแรก และ ให้เส้นใยสีน้ำตาลในคู่ผสมที่ 2 จากนั้นทำการปลูกคัดเลือกเพื่อให้ได้ฝ้ายสายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะเหมือนพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่โดดเด่นกว่า คือมีเส้นใยสีเขียว 1 พันธุ์ และสีน้ำตาลอีก 1 พันธุ์ เพื่อนำไปประเมินผลผลิต และการยอมรับของเกษตรกรตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแนะนำและเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรต่อไป

ในระหว่างที่ขั้นตอนการพัฒนาพันธุ์ยังไม่สิ้นสุด กระบวนการทดสอบความต้องการของตลาด และการยอมรับในฝ้ายเส้นใยสีเขียว และสีน้ำตาล สำหรับหัตถกรรมสิ่งทอก็ได้ดำเนินการควบคู่กันไปกับการพัฒนาพันธุ์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับกลับมาปรับปรุงแก้ไข สำหรับพัฒนาพันธุ์ฝ้ายให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ด้วยการนำผลผลิตฝ้ายที่ได้มาจากการคัดเลือกปีแล้วปีเล่า ทั้งฝ้ายเส้นใยเขียว และฝ้ายเส้นใยน้ำตาลไปมอบให้แก่กลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอ เพื่อนำไปทดลองปั่นเป็นเส้นด้าย และนำเส้นด้ายไปทอเป็นลวดลาย หรือเป็นผืนผ้าต่อไป

เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือด้วยการออกร้านเดินสายทั่วประเทศในรูปของ OTOP ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มผู้ทอผ้ามีความตื่นตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร แต่ในขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม ทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์แห่งความเป็นผ้าฝ้ายทอมือตามธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่เสน่ห์จากการปั่นเส้นด้ายหรือการเข็นฝ้ายที่ยังคงสืบทอดประเพณีอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน การแลกเปลี่ยนความรู้ในขบวนการอิ้ว เพื่อแยกเอาปุยฝ้ายออกจากเมล็ด จากนั้นนำปุยฝ้ายไปผึ่งแดด แล้วจึงดีดปุยฝ้ายให้ฟูด้วยไม้ธนู และนำมาม้วนเป็นลูกหลี เพื่อส่งให้ฝ่ายเข็นฝ้ายทำหน้าที่เข็นด้วยเครื่องมือโบราณที่เรียกว่า“ ไน “ ให้ปุยฝ้ายจากก้อนลูกหลีกลายเป็นเส้นด้ายที่เรียบ ละเอียด สวยงาม ก่อนที่จะนำมาทอเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายงดงาม

ในช่วงที่ผ้าฝ้ายทอมือกำลังได้รับความนิยม จึงเป็นโอกาสอันดีที่ฝ้ายเส้นใยเขียว และฝ้ายเส้นใยน้ำตาลจะสามารถเข้ามาสร้างสีสรรที่เป็นเสน่ห์แห่งสีของเส้นใยฝ้ายที่ได้ตามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีในการฟอกย้อม ให้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือจากเส้นใยฝ้ายสีธรรมชาติ ทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอ เปอร์เซ็นต์การตอบรับของผู้ผลิตจึงค่อนข้างดี เนื่องจากปัญหาของกลุ่มผู้ผลิตคือไม่สามารถผลิตผ้าทอจากฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ ได้เนื่องมาจากประการแรก ขาดแคลนเส้นใยฝ้ายเพราะขาดผู้ปลูกฝ้าย และประการที่สองไม่มีเมล็ดพันธุ์ฝ้าย ดังนั้นเมื่อมีการนำเส้นใยฝ้ายสีธรรมชาติมาเสนอถึงแหล่งที่ต้องการ ผู้ใช้ก็ย่อมพอใจเป็นธรรมดา และนักวิจัยก็ปลื้มใจที่ผลงานได้รับการต้อนรับ เนื่องจากผู้ใช้กำลังขาดแคลนวัตถุดิบพอดี เมื่อความต้องการของทั้งสองฝ่ายมาพ้องกัน จากเหตุอันจะนำไปสู่ผล จึงทำให้ได้แนวคิดและแนวทางการพัฒนาพันธุ์ฝ้าย ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคที่มักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เนื่องจากมีกลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอจำนวนมาก จึงมีการแข่งขันกันสูงตามไปด้วย
ฝ้ายในวันนี้อาจเป็นพืชที่ดูแลรักษายากเกินไปเมื่อปลูกในพื้นที่มากกว่า 5 ไร่ และให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพืชไร่ชนิดอื่น แต่ในอนาคตการปลูกฝ้ายแปลงเล็กๆ เพียงไม่กี่ไร่ของกลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอ แต่ละกลุ่ม สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าฝ้ายทอมือสีธรรมชาติ อันมีลวดลายสดสวย งดงาม ที่มีสีเขียวของเส้นใยฝ้ายจากธรรมชาติ สอดสลับกับสีน้ำตาลธรรมชาติ น่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกฝ้ายกันอีกครั้งด้วยจุดประสงค์และมุมมองที่เปลี่ยนไป

19 มิถุนายน 2551

ฝ้ายเส้นใยสั้น

นัฐภัทร์ คำหล้า



ที่เรียกว่าฝ้ายเส้นใยสั้นนั้น เรียกกันตามความยาวของเส้นใยฝ้ายนั่นเอง โดยที่ ฝ้ายเส้นใยสั้น หมายถึง ฝ้ายที่มีความยาวของเส้นใยประมาณ 1 นิ้ว หรือ ต่ำกว่า 1 นิ้ว

การนำไปใช้ประโยชน์
เหมาะแก่การนำไปผลิตเป็นผ้าทอมือ เนื่องจากสะดวก และ ง่ายต่อการดีดให้ฟู แล้วปั่นเป็นเส้นด้าย ในกรณีที่ไม่มีเครื่องจักร

พันธุ์ฝ้ายเส้นใยสั้น
มีด้วยกันหลายพันธุ์ แต่ที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ตุ่นน้ำตาล ตุ่นขาว ตุ่นนวล พวงมะไฟ และพันธุ์พื้นเมือง เป็นต้น ซึ่งพันธุ์เหล่านี้มีอายุค่อนข้างยาว สามารถทะยอยเก็บผลผลิตปุยได้นานถึง 8 เดือน

ลักษณะที่ดีของฝ้ายเส้นใยสั้น
คุณสมบัติที่น่าสนใจของพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสั้น คือ ที่ใบมักจะมีขน จึงทำให้ทนต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง โดยเฉพาะแมลงจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยจักจั่น นอกจากนี้ยังทนต่อสภาพการฉ่ำน้ำของดินทราย

ในด้านการดูแลรักษาค่อนข้างง่าย มีการดูแลน้อยกว่าฝ้ายเส้นใยยาว หรือ ฝ้ายที่เส้นใยยาวปานกลาง ( เช่น ฝ้ายพันธุ์ศรีสำโรง 60 ศรีสำโรง 2 และ ตากฟ้า 2)

อย่างไรก็ตามผลลิตของฝ้ายเส้นใยสั้นมักจะไม่สูงนัก ผลผลิตจะต่ำกว่าฝ้ายเส้นใยยาวปานกลาง หรือ ฝ้ายเส้นใยยาว

การปลูกฝ้าย
โดยทั่วไป ชาวบ้านนิยมปลูกกันตามหัวไร่ ปลายนา ในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ถ้าหากจะปลูกเป็นแปลงใหญ่ อาจจะมีปัญหาการระบาดของแมลง จึงต้องมีอุปกรณ์ และแรงงานเพียงพอสำหรับการพ่นสารกำจัดแมลง โดยเฉพาะแมลงหวี่ขาว

ฤดูปลูกที่เหมาะสม
อยู่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม- กรกฎาคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝน เก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

วิธีการปลูก
ควรปลูกเป็นแถวเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา เนื่องจากฝ้ายเส้นใยสั้นมีทรงพุ่มที่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีระยะปลูกระหว่างหลุมประมาณ 80 ซ.ม. ระยะระหว่างแถว 150 ซ.ม. หยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด (ใช้เมล็ด 1.5 ก.ก ต่อไร่)

หลังจากงอกได้ 20 วัน ถอนแยกให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม เมื่อฝ้ายอายุครบ 1 เดือน จึงถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม

ในระยะแรกของการปลูกจะมีปัญหาเรื่องวัชพืชมาก จึงต้องกำจัดวัชพืชในช่วงแรก

การใส่ปุ๋ย
ใส่เมื่อฝ้ายมีอายุ 1 เดือน อาจใช้ปุ๋ยเคมี (สูตร 15-15-15 อัตรา 50 ก.ก. ต่อไร่) ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ก็ได้ ใส่เพียงครั้งเดียว หากใส่มากจะทำให้ลำต้นฝ้ายอวบ แมลงเข้าทำลายได้ง่าย

การกำจัดวัชพืช
กำจัดในช่วงแรกของการเจริญเติบโต โดยใช้แรงคนดายด้วยจอบ หลังจากนั้นจึงใส่ปุ๋ย
ภาพการปลูกฝ้ายเส้นใยสั้น และการนำไปใช้ประโยชน์
การปลูกฝ้ายเส้นใยสั้น ที่ จ.เลย
ปุยฝ้าย
ปั่นเป็นเส้นด้าย...ชาวบ้านได้ทำงานที่บ้าน
พอใจกับผลงาน
ทอเป็นผืนผ้า
หลากหลายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ

17 มิถุนายน 2551

การปลูกมันสำปะหลังข้ามปี

วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ

การเพิ่มผลผลิตและปริมาณแป้งโดยการปลูกมันสำปะหลังข้ามปี

  • ปลูกมันสำปะหลังข้ามปีเพิ่มผลผลิตได้อย่างไร

การปลูกมันสำปะหลังในช่วงต้นฤดูฝน แล้วมาเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง มันสำปะหลังมีโอกาสได้รับน้ำฝนเพียง 5-6 เดือนเท่านั้น ทำให้ผลผลิตไม่สูงเท่าที่ควร ถ้ามีการจัดระบบการผลิตใหม่ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยปล่อยไว้ในแปลงข้ามปีทั้งช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนของปีถัดไป มันสำปะหลังจะได้รับปริมาณน้ำฝนมากขึ้นอีกประมาณ 8 เดือน ผลผลิตจะสูงกว่าการปลูกมันสำปะหลังปีเดียวถึง 2.5 เท่าเป็นอย่างต่ำ

การผลิตมันสำปะหลังข้ามปีโดยทำการเก็บเกี่ยวที่อายุ 16-18 เดือน นอกจากจะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกมันสำปะหลังปีเดียวแล้วที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนการเตรียมดิน การปลูก การกำจัดวัชพืชในปีที่ 2 ได้อีกด้วย



ภาพที่ 1 ก. และ ข. หัวมันสำปะหลังที่อายุ 18 เดือน

  • ปริมาณแป้งในหัวมันสำปะหลังที่ปลูกข้ามปี

ในส่วนของปริมาณแป้งในหัวสดจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเดือนที่เก็บเกี่ยว โดยมีปริมาณแป้งสูงที่สุดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ในเดือนมีนาคมมันสำปะหลังเริ่มแตกยอดทำให้ปริมาณแป้งลดลง และมีปริมาณต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นปริมาณแป้งจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น แม้ในช่วงเดือนกันยายนที่มีฝนตกหนัก ยังมีปริมาณแป้งสูงถึง 25 % และปริมาณจะขึ้นสูงสุดที่เดือนกุมภาพันธ์อีกครั้ง



เนื้อหา