23 เมษายน 2558

เสียงเกษตรกร : เกษตรกรได้อะไรจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง

ความเป็นมา
โครงการหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม นครสวรรค์ 3 ระยะที่ 2 ปี 2556-2558 ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 (ปี 2553-2556 สนับสนุนโดย RDA สาธารณรัฐเกาหลี)

ได้รับการสนับสนุนจากเงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง

ดำเนินการใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ตาก และสุโขทัย มีเกษตรกร 43-97 ราย  ใน 28-40 หมู่บ้าน

ผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ 150-320 ไร่ ได้เมล็ดพันธุ์รวม 97 ตัน มูลค่า 6.8 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 3.3 ล้านบาท ลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 40

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ได้จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง “เกษตรกรได้อะไร...จากการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง” เรามาฟังเสียงเกษตรกรต้นแบบทั้ง 4 ท่านในวันนั้นว่า ท่านมีความคิดเห็นกันอย่างไร

คุณสีมูล  ติ๊บวงศ์ เกษตรกรต้นแบบจังหวัดตาก
  “ปีแรกได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์น้อย แต่ได้พัฒนาเทคนิคจนได้ผลผลิตสูงขึ้น กระผมได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเอง มั่นใจในคุณภาพช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ขณะนี้รวมกลุ่มกันได้ 15 คน จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่กาษาโพธิ์เงิน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนครสวรรค์ 3 เพื่อใช้ในกลุ่ม จะใช้เครื่องหมายการค้า ตราน้ำพุ”

คุณธานินทร์  เครือขวัญ เกษตรกรต้นแบบจังหวัดเพชรบูรณ์ 
“ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีใช้และลดต้นทุนมั่นใจในคุณภาพเมล็ดพันธุ์มากเพราะทำเอง ผมภูมิใจที่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบเพราะจบชั้น ป.4 แต่สามารถถ่ายทอดความรู้เป็นวิทยากรให้ สปก.และแก้ปัญหาให้กับเพื่อบ้านที่สนใจ ขณะนี้ได้ใบอนุญาตเป็นผู้รวบรวมเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายแล้ว จะใช้เครื่องหมายการค้า ตรามะขาม”

คุณสุวรรณ  นิ่มสวน  เกษตรกรต้นแบบจังหวัดนครสวรรค์
  “เมื่อเริ่มโครงการใหม่ ๆ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแต่ผมไม่เคยท้อ จนขณะนี้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ และได้เป็นเกษตรกรต้นแบบแนะนำการปลูกแก่เพื่อนบ้าน และพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งผู้ที่มาดูงานจากประเทศลาว กัมพูชา และภูฏาน จึงนับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง”

คุณสุกฤษฏิ์  ใจพรมเมือง  เกษตรกรต้นแบบจังหวัดตาก
 “ ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ยังไม่สูงนัก จึงเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อและจำหน่าย บางที่ปลูกต่อ 12 ไร่ ได้ข้าวโพดถึง 13 ตัน เพื่อนบ้านจึงสนใจขนาดสั่งจองเมล็ดพันธุ์ ข้อดีคือ ได้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเองไว้ใช้ ได้ความรู้ และประสบการณ์ ที่สำคัญคือ ความภาคภูมิใจในการเป็นผู้ให้ทั้งความรู้และอาชีพแก่เพื่อนบ้านและเกษตรกรที่สนใจ”

ติดต่อรายละเอียดได้ที่ :
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0 2579 3930-2 โทรสาร : 0 2579 0604
E-mail:fcri@doa.in.th
สนับสนุนโครงการโดย  เงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร และศูนย์โคเปีย ประจำประเทศไทย

21 เมษายน 2558

เตือนภัย...การระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

ช่วงฤดูแล้ง หรือในระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เกษตรกรควรหมั่นสังเกตพืชในแปลงปลูกของตน  เมื่อพบการระบาดจะได้ป้องกันกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม

ลักษณะของเพลี้ยแป้งและการทำลาย
เพลี้ยแป้งเป็นแมลงจำพวกปากดูด มีลักษณะเด่นคือ ลำตัวมีสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม  ไม่มีปีก จะเกาะกลุ่มดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด ตา  ทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่  ลำต้นมีข้อถี่ ใบแตกพุ่ม ยอดเป็นกระจุก ต้นแห้งตาย  ถ้าเข้าทำลายขณะมันสำปะหลังยังเล็กจะมีผลต่อการลงหัว

การแพร่ระบาด
เพลี้ยแป้งพบได้ทั่วไป  ทำลายพืชได้หลายชนิด  แพร่กระจายโดยลม  ฝน  มดและติดไปกับท่อนพันธุ์  การระบาดของเพลี้ยแป้งจะรุนแรงมากเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้งและมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70%   เพลี้ยแป้งสามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว  ดังนั้น การป้องกันกำจัดต้องทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ให้เพลี้ยแป้งเพิ่มปริมาณแพร่ระบาดขยายออกไปในวงกว้างซึ่งยากต่อการกำจัด

แนวทางในการป้องกันกำจัด
1.วิธีเขตกรรม
- ควรไถพรวนหลายๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 14 วัน
- เลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบเพลี้ยแป้งระบาด
- ถอนต้น หรือตัดส่วนที่พบเพลี้ยแป้งมากๆ ใส่ถุง แล้วเผาทำลายนอกแปลง
- ทำความสะอาดแปลง เก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังการเก็บเกี่ยว

2.ใช้ชีววิธี
ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง ได้แก่ ด้วงเต่า แมลงช้างปีกใส แตนเบียน
- การใช้แตนเบียน Anagyrus lopezi ในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู เมื่อพบการระบาดให้ปล่อยแตนเบียน อัตรา 50 คู่ต่อไร่ พื้นที่ระบาดรุนแรงให้ปล่อย 200 คู่ต่อไร่ งดใช้สารฆ่าแมลงหลังปล่อยแตนเบียน 

*** เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สามารถติดต่อขอรับแตนเบียนได้ สอบถามเพิ่มเติม โทร.056-241019 ในวัน/เวลาราชการ ***

3.การใช้สารฆ่าแมลง
- ชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลง ไทอะมีโทแซม 25% WG หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG
   อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์
- พ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้
             - ไทอะมีโทแซม  25% WG    อัตรา   4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 
             - โปรไทโอฟอส   50% EC     อัตรา  50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
             - พิริมิฟอสเมทิล 50% EC      อัตรา  50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
             - ไดโนทีฟูแรน    10% WP     อัตรา  20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
    หรือใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งลดอัตราลงครึ่งหนึ่งผสมกับไวท์ออยล์ อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร โดยผสมไวท์ออยล์ในน้ำเพียงเล็กน้อยใช้ไม้กวนให้เข้ากัน  เติมสารฆ่าแมลงแล้วเติมน้ำให้ครบที่กำหนด

ภาพที่ 1 เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
ภาพที่ 2 ลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้ง
ภาพที่ 3 ศัตรูธรรมชาติ: ไข่ของแมลงช้างปีกใส
ภาพที่ 4 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวเต็มวัยแมลงช้างปีกใส
ภาพที่ 5 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวอ่อนด้วงเต่า
ภาพที่ 6 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวเต็มวัยด้วงเต่า
ภาพที่ 7 ศัตรูธรรมชาติ: แตนเบียน Anagyrus lopezi

ภาพแมลงศัตรูธรรมชาติ : ดร.อัมพร วิโนทัย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

เตือนภัย...การระบาดของไรแดงในมันสำปะหลัง

ช่วงนี้ของทุกๆ ปี มีสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เหมาะสมต่อการระบาดของไรแดง ซึ่งเริ่มพบแล้วในหลายพื้นที่ เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการทำลายของไรแดงตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ป้องกันกำจัดทันก่อนที่จะมีการระบาดรุนแรงซึ่งสามารถทำความเสียหายต่อผลผลิต

ไรแดง เป็นศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลัง ที่มักระบาดในฤดูแล้ง หรือ เมื่อฝนทิ้งช่วง โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้สูญเสียคลอโรฟิลล์ หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น ทำให้ผิวใบด้านบนเป็นจุดด่างประสีเหลืองซีด ยอดไหม้ ใบเหี่ยวแห้ง และร่วง หากเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดไรได้ทัน ก็จะสามารถยับยั้งการระบาดได้

ในสภาพธรรมชาติ แปลงมันสำปะหลังจะมีศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายแมลงศัตรูพืชอยู่มาก แต่ระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย ประกอบกับปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการระบาด จึงมีการทำลายของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง ไรแดง และแมลงหวี่ขาว รุนแรงมากขึ้น

กรณีที่ไรแดงระบาดรุนแรง กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำชนิดและอัตราของสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการกำจัด ดังนี้

- ไพริดาเบน (pyridaben) 20% ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

- เฟนบูทาติน ออกไซด์ (fenbutatin oxide) 55% เอสซี อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

- สไปโรมีซิเฟน (spiromesifen) 24% เอสซี อัตรา 6 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

- เตตราไดฟอน (tetradifon) 7.25% อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
- อามีทราซ (amitraz) 20% อีซี อัตรา 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

ในการใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานต่อสาร

ลักษณะการทำลายของไรแดง

ภาพที่ 1 อาการเริ่มแรกที่เกิดจากการทำลายของไรแดง ใบเกิดจุดประสีขาวโดยเฉพาะตามแนวเส้นกลางใบ

ภาพที่ 2 พลิกดูใต้ใบจะเห็นตัวไรแดง ลักษณะเป็นจุดแดงขนาดเล็ก

ภาพที่ 3 ไรแดงทำลายอย่างรุนแรง ใบเริ่มเป็นสีน้ำตาล

ภาพที่ 4 หากไม่มีการป้องกันกำจัดไรแดงที่เหมาะสม ทำให้มันสำปะหลังใบไหม้ แห้ง ต้นตาย

ข้อมูล:กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

เนื้อหา