23 เมษายน 2558

เสียงเกษตรกร : เกษตรกรได้อะไรจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง

ความเป็นมา
โครงการหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม นครสวรรค์ 3 ระยะที่ 2 ปี 2556-2558 ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 (ปี 2553-2556 สนับสนุนโดย RDA สาธารณรัฐเกาหลี)

ได้รับการสนับสนุนจากเงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง

ดำเนินการใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ตาก และสุโขทัย มีเกษตรกร 43-97 ราย  ใน 28-40 หมู่บ้าน

ผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ 150-320 ไร่ ได้เมล็ดพันธุ์รวม 97 ตัน มูลค่า 6.8 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 3.3 ล้านบาท ลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 40

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ได้จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง “เกษตรกรได้อะไร...จากการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง” เรามาฟังเสียงเกษตรกรต้นแบบทั้ง 4 ท่านในวันนั้นว่า ท่านมีความคิดเห็นกันอย่างไร

คุณสีมูล  ติ๊บวงศ์ เกษตรกรต้นแบบจังหวัดตาก
  “ปีแรกได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์น้อย แต่ได้พัฒนาเทคนิคจนได้ผลผลิตสูงขึ้น กระผมได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเอง มั่นใจในคุณภาพช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ขณะนี้รวมกลุ่มกันได้ 15 คน จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่กาษาโพธิ์เงิน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนครสวรรค์ 3 เพื่อใช้ในกลุ่ม จะใช้เครื่องหมายการค้า ตราน้ำพุ”

คุณธานินทร์  เครือขวัญ เกษตรกรต้นแบบจังหวัดเพชรบูรณ์ 
“ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีใช้และลดต้นทุนมั่นใจในคุณภาพเมล็ดพันธุ์มากเพราะทำเอง ผมภูมิใจที่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบเพราะจบชั้น ป.4 แต่สามารถถ่ายทอดความรู้เป็นวิทยากรให้ สปก.และแก้ปัญหาให้กับเพื่อบ้านที่สนใจ ขณะนี้ได้ใบอนุญาตเป็นผู้รวบรวมเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายแล้ว จะใช้เครื่องหมายการค้า ตรามะขาม”

คุณสุวรรณ  นิ่มสวน  เกษตรกรต้นแบบจังหวัดนครสวรรค์
  “เมื่อเริ่มโครงการใหม่ ๆ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแต่ผมไม่เคยท้อ จนขณะนี้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ และได้เป็นเกษตรกรต้นแบบแนะนำการปลูกแก่เพื่อนบ้าน และพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งผู้ที่มาดูงานจากประเทศลาว กัมพูชา และภูฏาน จึงนับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง”

คุณสุกฤษฏิ์  ใจพรมเมือง  เกษตรกรต้นแบบจังหวัดตาก
 “ ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ยังไม่สูงนัก จึงเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อและจำหน่าย บางที่ปลูกต่อ 12 ไร่ ได้ข้าวโพดถึง 13 ตัน เพื่อนบ้านจึงสนใจขนาดสั่งจองเมล็ดพันธุ์ ข้อดีคือ ได้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเองไว้ใช้ ได้ความรู้ และประสบการณ์ ที่สำคัญคือ ความภาคภูมิใจในการเป็นผู้ให้ทั้งความรู้และอาชีพแก่เพื่อนบ้านและเกษตรกรที่สนใจ”

ติดต่อรายละเอียดได้ที่ :
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0 2579 3930-2 โทรสาร : 0 2579 0604
E-mail:fcri@doa.in.th
สนับสนุนโครงการโดย  เงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร และศูนย์โคเปีย ประจำประเทศไทย

เนื้อหา