ช่วงฤดูแล้ง หรือในระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เกษตรกรควรหมั่นสังเกตพืชในแปลงปลูกของตน เมื่อพบการระบาดจะได้ป้องกันกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม
เพลี้ยแป้งเป็นแมลงจำพวกปากดูด มีลักษณะเด่นคือ ลำตัวมีสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม ไม่มีปีก จะเกาะกลุ่มดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด ตา ทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีข้อถี่ ใบแตกพุ่ม ยอดเป็นกระจุก ต้นแห้งตาย ถ้าเข้าทำลายขณะมันสำปะหลังยังเล็กจะมีผลต่อการลงหัว
การแพร่ระบาด
เพลี้ยแป้งพบได้ทั่วไป ทำลายพืชได้หลายชนิด แพร่กระจายโดยลม ฝน มดและติดไปกับท่อนพันธุ์ การระบาดของเพลี้ยแป้งจะรุนแรงมากเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้งและมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70% เพลี้ยแป้งสามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การป้องกันกำจัดต้องทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ให้เพลี้ยแป้งเพิ่มปริมาณแพร่ระบาดขยายออกไปในวงกว้างซึ่งยากต่อการกำจัด
แนวทางในการป้องกันกำจัด
1.วิธีเขตกรรม
- ควรไถพรวนหลายๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 14 วัน
- เลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบเพลี้ยแป้งระบาด
- ถอนต้น หรือตัดส่วนที่พบเพลี้ยแป้งมากๆ ใส่ถุง แล้วเผาทำลายนอกแปลง
- ทำความสะอาดแปลง เก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังการเก็บเกี่ยว
2.ใช้ชีววิธี
ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง ได้แก่ ด้วงเต่า แมลงช้างปีกใส แตนเบียน
- การใช้แตนเบียน Anagyrus lopezi ในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู เมื่อพบการระบาดให้ปล่อยแตนเบียน อัตรา 50 คู่ต่อไร่ พื้นที่ระบาดรุนแรงให้ปล่อย 200 คู่ต่อไร่ งดใช้สารฆ่าแมลงหลังปล่อยแตนเบียน
*** เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สามารถติดต่อขอรับแตนเบียนได้ สอบถามเพิ่มเติม โทร.056-241019 ในวัน/เวลาราชการ ***
3.การใช้สารฆ่าแมลง
- ชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลง ไทอะมีโทแซม 25% WG หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG
อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์
- พ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้
- ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
- โปรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
- พิริมิฟอสเมทิล 50% EC อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
- ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
หรือใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งลดอัตราลงครึ่งหนึ่งผสมกับไวท์ออยล์ อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร โดยผสมไวท์ออยล์ในน้ำเพียงเล็กน้อยใช้ไม้กวนให้เข้ากัน เติมสารฆ่าแมลงแล้วเติมน้ำให้ครบที่กำหนด
ภาพที่ 1 เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
ภาพที่ 2 ลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้ง
ภาพที่ 3 ศัตรูธรรมชาติ: ไข่ของแมลงช้างปีกใส
ภาพที่ 4 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวเต็มวัยแมลงช้างปีกใส
ภาพที่ 5 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวอ่อนด้วงเต่า
ภาพที่ 6 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวเต็มวัยด้วงเต่า
ภาพที่ 7 ศัตรูธรรมชาติ: แตนเบียน Anagyrus lopezi
ภาพแมลงศัตรูธรรมชาติ : ดร.อัมพร วิโนทัย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร