31 ตุลาคม 2561

แมลงหวี่ขาวยาสูบ พาหะโรคใบด่างมันสำปะหลัง

แมลงหวี่ขาวยาสูบ
🔹ชื่อสามัญ Tobacco whitefly
🔸ชื่อวิทยาศาสตร์ Bemisia tabaci (Gennadius)
🔹อันดับ Hemiptera วงศ์ Aleyrodidae

ตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบมีขนาดความยาว 1 มม. ปีกสีขาวและลำตัวสีเหลืองอ่อน มักพบเกาะตามใต้ใบมันสำปะหลัง วางไข่และฟักเป็นตัวอ่อนพัฒนาเป็นดักแด้และตัวเต็มวัย จนครบวงจรชีวิต หนึ่งรอบวงจรชีวิตใช้เวลาประมาณ 30 - 40 วัน ในหนึ่งปีมี 10 - 12 รุ่น เพศเมีย 1 ตัววางไข่ได้เฉลี่ย 200 ฟอง ตัวเต็มวัยเคลื่อนที่ด้วยการบิน แมลงหวี่ขาวยาสูบสามารถบินได้เป็นระยะทางประมาณ 2 - 7 กิโลเมตร/วัน ขึ้นกับแรงลม

การป้องกันกำจัด
- การใช้สารฆ่าแมลง พ่นด้วย
อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
หรือ บูโพรเฟซีน 40% SC อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 16)
- การใช้ชีววิธี
แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าตัวห้ำ มวนโอเรียส (Orius sp.) แตนเบียนเอ็นคาเซีย (Encarsia sp.)
- การเขตกรรม
ทำความสะอาดแปลงและบริเวณรอบๆแปลงเพื่อไม่ให้มีแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
ฝังกลบเศษซากพืชที่ตกค้างในแปลงหรือต้นที่เป็นโรคในหลุมลึกเพื่อไม่ให้ต้นงอกออกมาเป็นแหล่งของไวรัสในแปลงปลูก
พืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
แมลงหวี่ขาวยาสูบมีพืชอาศัยมากกว่า 900 ชนิด เช่น ละหุ่ง สบู่ดำ หม่อน พืชผักสวนครัว พืชวงศ์ถั่ว วงศ์แตง วงศ์มะเขือ และวัชพืชอีกหลายชนิด

การตรวจติดตามโรคใบด่างมันสำปะหลังและแมลงพาหะ หลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้ว
หมั่นสังเกตดูยอดอ่อนและใบมันสำปะหลังทุกสัปดาห์ว่ามีอาการของโรคหรือไม่
ตรวจดูใต้ใบว่ามีไข่ ตัวอ่อน หรือตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบหรือไม่
หากพบแมลงหวี่ขาวยาสูบ 5 - 20 ตัว บนพืช 10-20 ต้นต่อแปลง #ให้ดำเนินการป้องกันกำจัดทันที

ข้อควรรู้
แมลงหวี่ขาวยาสูบจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแปลงที่มีพืชอาศัยต่างๆ ตลอดทั้งปี หากในแปลงมีต้นที่เป็นโรคเพียงต้นเดียวแมลงหวี่ขาวยาสูบสามารถแพร่กระจายโรคไปยังต้นอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคระบาดเป็นวงกว้าง 
ดังนั้นการสำรวจติดตามและป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
02-5799588 หรือ 02-5798516

ข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร

โรคใบด่างมันสำปะหลัง

 โรคใบด่างมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไวรัส ในวงศ์ Geminiridae สกุล Begomovirus ปัจจุบันมีรายงานทั้งหมด 10ชนิด พบในทวีปแอฟริกา 8 ชนิด และในทวีปเอเชีย 2 ชนิด ได้แก่ Indian cassava mosaic virus (ICMV) พบในประเทศอินเดีย และ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) พบในประเทศศรีลังกา อินเดีย เวียดนาม และกัมพูชา
ลักษณะอาการของโรค
ใบด่างและใบหงิก เสียรูปทรง อาการด่างมีหลายแบบ เช่น ด่างเขียวซีดสลับเขียวเข้ม ด่างเหลือสลับเขียว ใบหงิก หรือ หงิกเหลือง ใบย่อยบิดเบี้ยวหงิกงอ โค้งเสียรูปทรง ใบอ่อนและใบที่เจริญใหม่มีขนาดเล็กลง ยอดหงิก ต้นแคระแกร็น




แมลงพาหะ
แมลงหวี่ขาวยาสูบ (tobacco whitefly)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bemisia tabaci (Gennadius)


พืชอาศัยของเชื้อไวรัสสาเหตุโรค
•มันสำปะหลัง ละหุ่ง สบู่ดำ
•พืชวงศ์เปล้า Euphorbiaceae

พืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
•พืชวงศ์ถั่ว
•พืชวงศ์แตง
•พืชวงศ์ Solanaceae เช่น มะเขือ พริก ยาสูบ
•กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ แมงลัก ยี่หร่า

เฝ้าระวังและป้องกันท่อนพันธุ์ติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง
- ห้ามใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เก็บจากต้นที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูกใหม่ จะทำให้เกิดโรคใบด่างระบาดอย่างรุนแรงในแปลงตั้งแต่ระยะ 2 เดือนแรก ต้นมันสำปะหลังแคระแกร็น ใบด่างหงิกงอ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 80-100 %

- หมั่นเดินตรวจแปลงตั้งแต่เริ่มปลูกทุกๆ 2 สัปดาห์ 
หากพบอาการต้องสงสัย เช่น ใบหงิก ใบด่าง  ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร หรือ กรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่มาวินิจฉัยโรค เจ้าหน้าที่จะขุดถอนทำลายต้นต้องสงสัยออกจากแปลง นำไปฝังกลบ พ่นต้นที่เหลือในแปลงและแปลงข้างเคียงด้วยสารฆ่าแมลงเพื่อทำลายแมลงหวี่ขาวยาสูบ 

- ติดตามการเกิดโรคใบด่างในแปลงอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์

สายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง 
กลุ่มงานเฝ้าระวังศัตรูพืชกักกัน กลุ่มวิจัยการกักกันพืช
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
โทร. 0–2579–8516 หรือ 061–415–2517
อีเมล์ ppspq@doa.in.th

ข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร

เนื้อหา