20 พฤศจิกายน 2558

มารู้จัก...โรคใบจุดข้าวโพด

โรคใบจุด (leaf spot) แพร่ระบาดทั่วไปในแหล่งปลูกข้าวโพด ในสภาพที่มีความชื้นสูง   ยังไม่มีรายงานว่ามีผลกระทบต่อผลผลิต

ลักษณะอาการ
อาการส่วนใหญ่เกิดบนใบ ระยะแรกเกิดจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็ก ต่อมาตรงกลางจุดจะแห้ง มีสีน้ำตาลหรือซีด ขอบแผลสีน้ำตาลแดง มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ สภาพที่มีความชื้นสูง จะเกิดจุดแผล จำนวนมากกระจายทั่วใบข้าวโพด


เชื้อสาเหตุ
เชื้อรา Curvularia lunata
เชื้อสาเหตุสร้างสปอร์สีน้ำตาลอ่อน ปลายเรียว  รูปร่างโค้ง สปอร์มี 4 เซล โดยเซลที่อยู่ตรงกลางมีขนาดใหญ่สุด และมีสีน้ำตาลเข้มกว่าเซลหัวท้าย

การแพร่ระบาด
แพร่โดยลม ฝน หรือติดไปกับเมล็ด

การป้องกันกำจัด
หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่น ใช้ระยะปลูกที่เหมาะสม  ไม่ใส่ปุ่ยไนโตรเจนในปริมาณมากเกินไป ควรใส่ในอัตราที่เหมาะสมกับความต้องการของพืช  ข้าวโพดที่มีการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ จะทำให้เป็นโรคมากขึ้น
ภาพที 1 ลักษณะของเชื้อรา Curvularia lunata

ภาพที่ 2 -6 ลักษณะอาการบนข้าวโพดหวานพันธุ์การค้า
ภาพที่ 3

ภาพที่ 4

ภาพที่ 5


ภาพที่ 6


19 พฤศจิกายน 2558

เตือนภัยการเกษตร การระบาดของแมลงศัตรูทานตะวัน

ช่วงฤดูแล้ง ทานตะวันอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของแมลงศัตรูพืช  ระยะการเจริญเติบโตของทานตะวันที่ควรมีการเฝ้าระวังได้แก่ ทานตะวันที่ปลูกใหม่อายุไม่เกิน 45 วัน และทานตะวันที่อยู่ในระยะดอกเริ่มบาน


  • ทานตะวันปลูกใหม่อายุไม่เกิน 45 วัน
ปัญหาที่ควรระวัง
การระบาดของเพลี้ยไฟ และเพลี้ยจักจั่น

ข้อสังเกตลักษณะ/อาการที่อาจพบ
ใบหงิกงอ ขอบใบสีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเหี่ยวแห้ง หลุดร่วง

แนวทางการป้องกัน/แก้ไข
      ถ้าพบเพลี้ยไฟ หรือ ตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นมากกว่า 2 ตัว / ใบ ควรเลือกใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ 
อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 2 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 2 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ
อะเซททามิพริด 20% SP อัตรา 4 กรัม / น้ำ 20 ลิตร ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ และเพลี้ยจักจั่น
ส่วนไดโนทีฟูแรน 10% WG อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ บูโพรเฟซิน 25% WP 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร มีประสิทธิภาพป้องกันเพลี้ยจักจั่น


  • ทานตะวันระยะดอกเริ่มบาน
ปัญหาที่ควรระวัง
การระบาดของหนอนเจาะสมอฝ้าย

ข้อสังเกตลักษณะ/อาการที่อาจพบ : พบหนอนเจาะสมอฝ้ายฝังตัวกัดกินเมล็ดที่กำลังพัฒนาอยู่บริเวณส่วนกลางของจานดอก ถ้าระบาดรุนแรง จะทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากหนอนกัดกินกลีบดอก และ กลีบเลี้ยง ทำให้ไม่สามารถดึงดูดแมลงในการผสมเกสรการติดเมล็ดไม่ดี มีเมล็ดลีบจำนวนมาก

แนวทางการป้องกัน/แก้ไข
     1. กำจัดวัชพืชซึ่งเป็นพืชอาศัยของหนอนเจาะสมอฝ้ายบริเวณรอบแปลงทานตะวัน
     2. เก็บหนอนที่มีขนาดใหญ่มาทำลาย เนื่องจากหนอนขนาดใหญ่ใช้สารเคมีไม่ได้ผล
     3. ถ้ามีการระบาดรุนแรง และจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ อิมาเม็กตินเบนโซเอท 1.92% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร /น้ำ 20 ลิตร ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร /น้ำ 20 ลิตร คลอร์ฟลูอาซูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร /น้ำ 20 ลิตร หรือ เมท็อกซี่ฟีโนไซดื 24% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร โดยพ่นที่บริเวณจานดอก









ที่มา: แจ้งเตือนภัยการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

13 พฤศจิกายน 2558

โรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพด

ในสภาพที่มีความชื้นสูงและอากาศเย็นลง มักพบการระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่รุนแรงในข้าวโพดหวานที่ปลูกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดติดต่อกันหลายฤดู  เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดหวาน ควรหมั่นสังเกตุอาการผิดปกติหลังจากที่พืชงอกขึ้นมา

เมื่อข้าวโพดเป็นโรคใบจะเกิดแผลขนาดใหญ่สีเทา หรือสีน้ำตาล แผลมีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย แผลจะเกิดที่ใบล่างก่อนแล้วลามขึ้นสู่ใบบน ข้าวโพดหวานพันธุ์อ่อนแอจะแสดงอาการของโรคอย่างรุนแรงโดยแผลขยายรวมกันมีขนาดใหญ่ ทำให้ใบไหม้และแห้งตายในที่สุด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแผลที่กาบใบ ลำต้น และฝักได้ด้วย ต้นข้าวโพดหวานที่เป็นโรคใบไหม้แผลใหญ่อย่างรุนแรงจะทำให้การติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ ฝักมีขนาดเล็ก บิดเบี้ยว
ภาพที่ 1 เชื้อราสาเหตุโรคใบไหม้แผลใหญ่ Exserohilum turcicum

ภาพที่ 2 อาการเริ่มแรกของโรค เกิดแผลฉ่ำน้ำสีเทา

ภาพที่ 3 ระยะต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล 

ภาพที่ 4 ข้าวโพดพันธุ์อ่อนแอ แผลขยายใหญ่ลามติดกัน ทำให้ใบไหม้


ภาพที่ 5 ต้นข้าวโพดที่เป็นโรคใบไหม้แผลใหญ่


ภาพที่ 6 ข้าวโพดที่เริ่มเป็นโรคตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญเติบโต ทำให้ฝักไม่สมบูรณ์



การป้องกันกำจัด
เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ ตั้งแต่ระยะที่ข้าวโพดยังเล็ก ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงเมื่อพบข้าวโพดเริ่มแสดงอาการให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้

- โพรพิโคนาโซล (propiconazole) อัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
- อะซอกซี่สะโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล (azoxystrobin+difenoconazole) ซึ่งเป็นสารผสมสำเร็จรูปแล้ว อัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
- คาร์เบนดาซิม +อีพอกซี่โคนาโซล (carbendazim+epoxyconazole) ซึ่งเป็นสารผสมสำเร็จรูปแล้วอัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

โดยพ่น 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค โดยไม่มีสารตกค้างในผลผลิต ข้าวโพดหวานให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 2,675-3,040 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตฝักสดปอกเปลือกมาตรฐาน 1,399-1507 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตฝักสดปอกเปลือกมาตรฐานสูงกว่าการไม่ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชถึง 89 เปอร์เซ็นต์

โดยมีต้นทุนสารป้องกันกำจัดโรคพืช 173-369 บาทต่อไร่ รายได้ 10,700 บาทต่อไร่ รายได้สุทธิ 7,251-8,913 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตามในการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้แผลใหญ่เกษตรกรควรใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน หรือใช้พันธุ์ต้านทาน เพื่อให้การปลูกข้าวโพดหวานมีความยั่งยืน

10 พฤศจิกายน 2558

อ้อยพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร

ในปี  2559  การลดต้นทุนการผลิต  เป็นวาระของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่ทุกคนต้องดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น  มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  การใช้พืชพันธุ์ดีในการเพาะปลูก  จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 14 และ พันธุ์อู่ทอง 15 ได้รับการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร  ดำเนินการวิจัยโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร

อ้อยเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย  สามารถใช้ผลิตน้ำตาลและเอทานอลได้  พื้นที่ปลูกอ้อยทั้งประเทศมีประมาณ  9.5 ล้านไร่  เกษตรกรสามารถผลิตอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลได้มากกว่า  100 ล้านตัน (เฉลี่ย 10.54 ตัน/ไร่)  มีความหวานเฉลี่ย 11.64  ซีซีเอส  สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้  100.28  กิโลกรัมน้ำตาล/ตันอ้อย  โดยมีการผลิตจากภาคเหนือ  25ภาคกลาง  30%  ภาคตะวันออก 5%  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  40%

โดยเฉลี่ยในภาคเหนือ  ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  ยังมีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ต่ำ  เนื่องจากขาดการจัดการที่ดีในไร่อ้อยและขาดพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น  พันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์เกษตรกรสามารถใช้ปลูกได้ประมาณ  6-10  ปี  เพราะโรคและแมลงศัตรูอ้อยมีมาก งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับแหล่งปลูกในภาคเหนือ  ภาคกลางและตะวันออก จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

พันธุ์อ้อยที่เกษตรกรใช้ปลูกกันในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่พันธุ์  แต่ละพันธุ์ไม่มีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ปลูก  เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกัน  ทั้งสภาพดิน  สภาพอากาศหรือแหล่งน้ำ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรีตระหนักว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี  2537  จนได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกอ้อยของแต่ละภูมิภาค

            อ้อยพันธุ์อู่ทอง  14
หากพิจารณาในด้านสภาพดิน  สภาพดินด่างเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก  ซึ่งการปลูกอ้อยที่ไม่เหมาะสมกับดินด่างจะทำให้พันธุ์อ้อยมีการเจริญเติบโตต่ำ  จึงได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ดี  ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพความหวานสูงในพื้นที่ดังกล่าว

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 14  (94-2-106)  เป็นลูกผสมของพันธุ์แม่  84-2-646  กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 3  ดำเนินการผสมพันธุ์ตั้งแต่ปี 2537  ทำการคัดเลือกปลูกเปรียบเทียบ  ทดสอบพันธุ์อย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งได้อ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  ในปี  2556




ลักษณะเด่น  สามารถเจริญเติบโตได้ดีพื้นที่ดินด่างที่มีค่า  pH 7.5-8.1  ปลูกได้ผลผลิตดีในเขตน้ำฝน  มีความต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงปานกลาง

จากผลการทดสอบพันธุ์เมื่อปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  ในพื้นที่ดินด่างที่มีค่า pH 7.8 จะให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 21.19 ตัน/ไร่ ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 3.34 ตันซีซีเอส/ไร่

หากปลูกในชุดดินตาคลีที่มีค่า pH 8.1 อ้อยพันธุ์อู่ทอง 14 จะให้ผลผลิตน้ำหนัก  17.1  ตัน/ไร่ในอ้อยปลูก  และ  11   ตัน/ไร่ในอ้อยตอ 1  สำหรับการปลูกในดินชุดลำนารายณ์ที่มีค่า  pH 8.0  ในกรณีที่ไม่มีการปรับปรุงดินจะให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 27.32 ตัน/ไร่ แต่หากมีการปรับปรุงดินด้วยการใส่กำมะถันผงในอ้อยปลูก  จะให้ผลผลิตน้ำหนัก  28.64  ตัน/ไร่

ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยที่อยู่ในชุดดินตาคลี  ซึ่งมีประมาณ  300,000  ไร่  เมื่อเกษตรกรนำอ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  ไปปลูกในพื้นที่ ทำได้ผลผลิตสูงขึ้นประมาณ  2  ตัน/ไร่  ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ  600  ล้านบาทต่อปี

พื้นที่แนะนำ  ควรปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  ในพื้นที่ปลูกปลายฝนเขตน้ำฝน  จังหวัดนครสวรรค์  บุรีรัมย์  ขอนแก่น  และในพื้นที่ต้นฝน  จังหวัดเพชรบูรณ์  ลพบุรี  กาญจนบุรี

            อ้อยพันธุ์อู่ทอง  15
อ้อยพันธุ์อู่ทอง  15  ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตน้ำฝน  ซึ่งหากพิจารณาจากสภาพแหล่งน้ำที่ใช้ในการปลูกอ้อย  สามารถแบ่งออกเป็น  3  สภาพ คือ 
1. การปลูกอ้อยโดยใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว  
2. การปลูกอ้อยโดยมีการใช้น้ำบนดินและใต้ดินเสริม  
3.  การปลูกอ้อยในเขตชลประทาน
ซึ่งปลูกอ้อยที่ใช้ปลูกในสภาพพื้นที่แตกต่างกันย่อมต้องเป็นพันธุ์ที่แตกต่างกันด้วย

พื้นที่ปลูกอ้อยของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝน  80%  โดยสภาพทั่วไปของอ้อยที่ปลูกในเขตอาศัยน้ำฝน ต้นอ้อยจะเตี้ยมีการพัฒนาอ้อยให้เป็นลำเก็บเกี่ยวต่ำ  ไม่สามารถไว้ตอได้

จากการดำเนินการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่ผ่านมาของสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน  ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี  ได้แนะนำพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่เขตใช้น้ำฝนหลายพันธุ์  เช่น  ขอนแก่น 1 ขอนแก่น  80  ขอนแก่น  3  อู่ทอง  5  สุพรรณบุรี  80  อู่ทอง  13  แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของอ้อยในแต่ละแหล่งยังไม่คงที่และต่ำอยู่

การปลูกอ้อยในสภาพใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียวจะต้องเป็นพันธุ์อ้อยที่มีการย่างปล้องและยืดปล้องเร็ว  เพื่อให้มีจำนวนลำอ้อยเก็บเกี่ยวได้และไว้ตอได้

อ้อยพันธุ์อู่ทอง  15  (94-2-254) เป็นลูกผสมตัวเองของพันธุ์อู่ทอง  2  เมื่อปี  2537  จากนั้นดำเนินการคัดเลือก  ปลูกเปรียบเทียบ  ทดสอบพันธุ์อย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งได้อ้อยพันธุ์อู่ทอง  15  ในปี  2557




ลักษณะเด่น  ให้ผลผลิตสูง  ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย  16.97  ตัน/ไร่  ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย  2.47 ตันซีซีเอส/ไร่  แต่หากปลูกในฤดูปลายฝนเขตน้ำฝนจะได้ผลผลิตสูงกว่าประมาณ  1  ตัน/ไร่  โดยจะได้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย  17.91  ตัน/ไร่  แต่ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง  และระวังโรคเหี่ยวเน่าแดงระบาด

พื้นที่แนะนำ  ควรปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง  15  ในดินร่วนปนทราย  จังหวัดเพชรบุรี  กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  หรือในฤดูปลายฝนเขตน้ำฝน  จังหวัดบุรีรัมย์  ขอนแก่น  นครราชสีมา  ชลบุรี  หรือในฤดูต้นฝนเขตน้ำฝน  จังหวัดลพบุรี  กาญจนบุรี

การปรับปรุงพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตร  นักวิจัยยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งพืชหลายชนิดจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลานานในการปรับปรุงพันธุ์  เพื่อให้เหมาะสมตรงตามความต้องการของเกษตรกร  การใช้พันธุ์พืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต  เนื่องจากช่วยเพิ่มผลผลิต  และลดโอกาสในการสูญเสียผลผลิตจากการเจริญเติบโตด้วยปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย

สอบถามรายละเอียด :  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี
โทร. 035-551543,  035-551433
ที่มา: น.ส.พ. กสิกร ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2558 หน้า 38-40

23 เมษายน 2558

เสียงเกษตรกร : เกษตรกรได้อะไรจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง

ความเป็นมา
โครงการหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม นครสวรรค์ 3 ระยะที่ 2 ปี 2556-2558 ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 (ปี 2553-2556 สนับสนุนโดย RDA สาธารณรัฐเกาหลี)

ได้รับการสนับสนุนจากเงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง

ดำเนินการใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ตาก และสุโขทัย มีเกษตรกร 43-97 ราย  ใน 28-40 หมู่บ้าน

ผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ 150-320 ไร่ ได้เมล็ดพันธุ์รวม 97 ตัน มูลค่า 6.8 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 3.3 ล้านบาท ลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 40

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ได้จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง “เกษตรกรได้อะไร...จากการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง” เรามาฟังเสียงเกษตรกรต้นแบบทั้ง 4 ท่านในวันนั้นว่า ท่านมีความคิดเห็นกันอย่างไร

คุณสีมูล  ติ๊บวงศ์ เกษตรกรต้นแบบจังหวัดตาก
  “ปีแรกได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์น้อย แต่ได้พัฒนาเทคนิคจนได้ผลผลิตสูงขึ้น กระผมได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเอง มั่นใจในคุณภาพช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ขณะนี้รวมกลุ่มกันได้ 15 คน จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่กาษาโพธิ์เงิน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนครสวรรค์ 3 เพื่อใช้ในกลุ่ม จะใช้เครื่องหมายการค้า ตราน้ำพุ”

คุณธานินทร์  เครือขวัญ เกษตรกรต้นแบบจังหวัดเพชรบูรณ์ 
“ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีใช้และลดต้นทุนมั่นใจในคุณภาพเมล็ดพันธุ์มากเพราะทำเอง ผมภูมิใจที่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบเพราะจบชั้น ป.4 แต่สามารถถ่ายทอดความรู้เป็นวิทยากรให้ สปก.และแก้ปัญหาให้กับเพื่อบ้านที่สนใจ ขณะนี้ได้ใบอนุญาตเป็นผู้รวบรวมเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายแล้ว จะใช้เครื่องหมายการค้า ตรามะขาม”

คุณสุวรรณ  นิ่มสวน  เกษตรกรต้นแบบจังหวัดนครสวรรค์
  “เมื่อเริ่มโครงการใหม่ ๆ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแต่ผมไม่เคยท้อ จนขณะนี้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ และได้เป็นเกษตรกรต้นแบบแนะนำการปลูกแก่เพื่อนบ้าน และพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งผู้ที่มาดูงานจากประเทศลาว กัมพูชา และภูฏาน จึงนับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง”

คุณสุกฤษฏิ์  ใจพรมเมือง  เกษตรกรต้นแบบจังหวัดตาก
 “ ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ยังไม่สูงนัก จึงเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อและจำหน่าย บางที่ปลูกต่อ 12 ไร่ ได้ข้าวโพดถึง 13 ตัน เพื่อนบ้านจึงสนใจขนาดสั่งจองเมล็ดพันธุ์ ข้อดีคือ ได้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเองไว้ใช้ ได้ความรู้ และประสบการณ์ ที่สำคัญคือ ความภาคภูมิใจในการเป็นผู้ให้ทั้งความรู้และอาชีพแก่เพื่อนบ้านและเกษตรกรที่สนใจ”

ติดต่อรายละเอียดได้ที่ :
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0 2579 3930-2 โทรสาร : 0 2579 0604
E-mail:fcri@doa.in.th
สนับสนุนโครงการโดย  เงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร และศูนย์โคเปีย ประจำประเทศไทย

21 เมษายน 2558

เตือนภัย...การระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

ช่วงฤดูแล้ง หรือในระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เกษตรกรควรหมั่นสังเกตพืชในแปลงปลูกของตน  เมื่อพบการระบาดจะได้ป้องกันกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม

ลักษณะของเพลี้ยแป้งและการทำลาย
เพลี้ยแป้งเป็นแมลงจำพวกปากดูด มีลักษณะเด่นคือ ลำตัวมีสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม  ไม่มีปีก จะเกาะกลุ่มดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด ตา  ทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่  ลำต้นมีข้อถี่ ใบแตกพุ่ม ยอดเป็นกระจุก ต้นแห้งตาย  ถ้าเข้าทำลายขณะมันสำปะหลังยังเล็กจะมีผลต่อการลงหัว

การแพร่ระบาด
เพลี้ยแป้งพบได้ทั่วไป  ทำลายพืชได้หลายชนิด  แพร่กระจายโดยลม  ฝน  มดและติดไปกับท่อนพันธุ์  การระบาดของเพลี้ยแป้งจะรุนแรงมากเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้งและมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70%   เพลี้ยแป้งสามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว  ดังนั้น การป้องกันกำจัดต้องทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ให้เพลี้ยแป้งเพิ่มปริมาณแพร่ระบาดขยายออกไปในวงกว้างซึ่งยากต่อการกำจัด

แนวทางในการป้องกันกำจัด
1.วิธีเขตกรรม
- ควรไถพรวนหลายๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 14 วัน
- เลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบเพลี้ยแป้งระบาด
- ถอนต้น หรือตัดส่วนที่พบเพลี้ยแป้งมากๆ ใส่ถุง แล้วเผาทำลายนอกแปลง
- ทำความสะอาดแปลง เก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังการเก็บเกี่ยว

2.ใช้ชีววิธี
ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง ได้แก่ ด้วงเต่า แมลงช้างปีกใส แตนเบียน
- การใช้แตนเบียน Anagyrus lopezi ในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู เมื่อพบการระบาดให้ปล่อยแตนเบียน อัตรา 50 คู่ต่อไร่ พื้นที่ระบาดรุนแรงให้ปล่อย 200 คู่ต่อไร่ งดใช้สารฆ่าแมลงหลังปล่อยแตนเบียน 

*** เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สามารถติดต่อขอรับแตนเบียนได้ สอบถามเพิ่มเติม โทร.056-241019 ในวัน/เวลาราชการ ***

3.การใช้สารฆ่าแมลง
- ชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลง ไทอะมีโทแซม 25% WG หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG
   อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์
- พ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้
             - ไทอะมีโทแซม  25% WG    อัตรา   4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 
             - โปรไทโอฟอส   50% EC     อัตรา  50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
             - พิริมิฟอสเมทิล 50% EC      อัตรา  50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
             - ไดโนทีฟูแรน    10% WP     อัตรา  20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
    หรือใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งลดอัตราลงครึ่งหนึ่งผสมกับไวท์ออยล์ อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร โดยผสมไวท์ออยล์ในน้ำเพียงเล็กน้อยใช้ไม้กวนให้เข้ากัน  เติมสารฆ่าแมลงแล้วเติมน้ำให้ครบที่กำหนด

ภาพที่ 1 เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
ภาพที่ 2 ลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้ง
ภาพที่ 3 ศัตรูธรรมชาติ: ไข่ของแมลงช้างปีกใส
ภาพที่ 4 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวเต็มวัยแมลงช้างปีกใส
ภาพที่ 5 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวอ่อนด้วงเต่า
ภาพที่ 6 ศัตรูธรรมชาติ: ตัวเต็มวัยด้วงเต่า
ภาพที่ 7 ศัตรูธรรมชาติ: แตนเบียน Anagyrus lopezi

ภาพแมลงศัตรูธรรมชาติ : ดร.อัมพร วิโนทัย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

เตือนภัย...การระบาดของไรแดงในมันสำปะหลัง

ช่วงนี้ของทุกๆ ปี มีสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เหมาะสมต่อการระบาดของไรแดง ซึ่งเริ่มพบแล้วในหลายพื้นที่ เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการทำลายของไรแดงตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ป้องกันกำจัดทันก่อนที่จะมีการระบาดรุนแรงซึ่งสามารถทำความเสียหายต่อผลผลิต

ไรแดง เป็นศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลัง ที่มักระบาดในฤดูแล้ง หรือ เมื่อฝนทิ้งช่วง โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้สูญเสียคลอโรฟิลล์ หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น ทำให้ผิวใบด้านบนเป็นจุดด่างประสีเหลืองซีด ยอดไหม้ ใบเหี่ยวแห้ง และร่วง หากเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดไรได้ทัน ก็จะสามารถยับยั้งการระบาดได้

ในสภาพธรรมชาติ แปลงมันสำปะหลังจะมีศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายแมลงศัตรูพืชอยู่มาก แต่ระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย ประกอบกับปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการระบาด จึงมีการทำลายของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง ไรแดง และแมลงหวี่ขาว รุนแรงมากขึ้น

กรณีที่ไรแดงระบาดรุนแรง กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำชนิดและอัตราของสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการกำจัด ดังนี้

- ไพริดาเบน (pyridaben) 20% ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

- เฟนบูทาติน ออกไซด์ (fenbutatin oxide) 55% เอสซี อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

- สไปโรมีซิเฟน (spiromesifen) 24% เอสซี อัตรา 6 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

- เตตราไดฟอน (tetradifon) 7.25% อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
- อามีทราซ (amitraz) 20% อีซี อัตรา 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

ในการใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานต่อสาร

ลักษณะการทำลายของไรแดง

ภาพที่ 1 อาการเริ่มแรกที่เกิดจากการทำลายของไรแดง ใบเกิดจุดประสีขาวโดยเฉพาะตามแนวเส้นกลางใบ

ภาพที่ 2 พลิกดูใต้ใบจะเห็นตัวไรแดง ลักษณะเป็นจุดแดงขนาดเล็ก

ภาพที่ 3 ไรแดงทำลายอย่างรุนแรง ใบเริ่มเป็นสีน้ำตาล

ภาพที่ 4 หากไม่มีการป้องกันกำจัดไรแดงที่เหมาะสม ทำให้มันสำปะหลังใบไหม้ แห้ง ต้นตาย

ข้อมูล:กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

เนื้อหา