10 พฤศจิกายน 2558

อ้อยพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร

ในปี  2559  การลดต้นทุนการผลิต  เป็นวาระของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่ทุกคนต้องดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น  มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  การใช้พืชพันธุ์ดีในการเพาะปลูก  จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 14 และ พันธุ์อู่ทอง 15 ได้รับการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร  ดำเนินการวิจัยโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร

อ้อยเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย  สามารถใช้ผลิตน้ำตาลและเอทานอลได้  พื้นที่ปลูกอ้อยทั้งประเทศมีประมาณ  9.5 ล้านไร่  เกษตรกรสามารถผลิตอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลได้มากกว่า  100 ล้านตัน (เฉลี่ย 10.54 ตัน/ไร่)  มีความหวานเฉลี่ย 11.64  ซีซีเอส  สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้  100.28  กิโลกรัมน้ำตาล/ตันอ้อย  โดยมีการผลิตจากภาคเหนือ  25ภาคกลาง  30%  ภาคตะวันออก 5%  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  40%

โดยเฉลี่ยในภาคเหนือ  ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  ยังมีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ต่ำ  เนื่องจากขาดการจัดการที่ดีในไร่อ้อยและขาดพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น  พันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์เกษตรกรสามารถใช้ปลูกได้ประมาณ  6-10  ปี  เพราะโรคและแมลงศัตรูอ้อยมีมาก งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับแหล่งปลูกในภาคเหนือ  ภาคกลางและตะวันออก จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

พันธุ์อ้อยที่เกษตรกรใช้ปลูกกันในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่พันธุ์  แต่ละพันธุ์ไม่มีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ปลูก  เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกัน  ทั้งสภาพดิน  สภาพอากาศหรือแหล่งน้ำ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรีตระหนักว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี  2537  จนได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกอ้อยของแต่ละภูมิภาค

            อ้อยพันธุ์อู่ทอง  14
หากพิจารณาในด้านสภาพดิน  สภาพดินด่างเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก  ซึ่งการปลูกอ้อยที่ไม่เหมาะสมกับดินด่างจะทำให้พันธุ์อ้อยมีการเจริญเติบโตต่ำ  จึงได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ดี  ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพความหวานสูงในพื้นที่ดังกล่าว

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 14  (94-2-106)  เป็นลูกผสมของพันธุ์แม่  84-2-646  กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 3  ดำเนินการผสมพันธุ์ตั้งแต่ปี 2537  ทำการคัดเลือกปลูกเปรียบเทียบ  ทดสอบพันธุ์อย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งได้อ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  ในปี  2556




ลักษณะเด่น  สามารถเจริญเติบโตได้ดีพื้นที่ดินด่างที่มีค่า  pH 7.5-8.1  ปลูกได้ผลผลิตดีในเขตน้ำฝน  มีความต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงปานกลาง

จากผลการทดสอบพันธุ์เมื่อปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  ในพื้นที่ดินด่างที่มีค่า pH 7.8 จะให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 21.19 ตัน/ไร่ ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 3.34 ตันซีซีเอส/ไร่

หากปลูกในชุดดินตาคลีที่มีค่า pH 8.1 อ้อยพันธุ์อู่ทอง 14 จะให้ผลผลิตน้ำหนัก  17.1  ตัน/ไร่ในอ้อยปลูก  และ  11   ตัน/ไร่ในอ้อยตอ 1  สำหรับการปลูกในดินชุดลำนารายณ์ที่มีค่า  pH 8.0  ในกรณีที่ไม่มีการปรับปรุงดินจะให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 27.32 ตัน/ไร่ แต่หากมีการปรับปรุงดินด้วยการใส่กำมะถันผงในอ้อยปลูก  จะให้ผลผลิตน้ำหนัก  28.64  ตัน/ไร่

ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยที่อยู่ในชุดดินตาคลี  ซึ่งมีประมาณ  300,000  ไร่  เมื่อเกษตรกรนำอ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  ไปปลูกในพื้นที่ ทำได้ผลผลิตสูงขึ้นประมาณ  2  ตัน/ไร่  ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ  600  ล้านบาทต่อปี

พื้นที่แนะนำ  ควรปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง  14  ในพื้นที่ปลูกปลายฝนเขตน้ำฝน  จังหวัดนครสวรรค์  บุรีรัมย์  ขอนแก่น  และในพื้นที่ต้นฝน  จังหวัดเพชรบูรณ์  ลพบุรี  กาญจนบุรี

            อ้อยพันธุ์อู่ทอง  15
อ้อยพันธุ์อู่ทอง  15  ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตน้ำฝน  ซึ่งหากพิจารณาจากสภาพแหล่งน้ำที่ใช้ในการปลูกอ้อย  สามารถแบ่งออกเป็น  3  สภาพ คือ 
1. การปลูกอ้อยโดยใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว  
2. การปลูกอ้อยโดยมีการใช้น้ำบนดินและใต้ดินเสริม  
3.  การปลูกอ้อยในเขตชลประทาน
ซึ่งปลูกอ้อยที่ใช้ปลูกในสภาพพื้นที่แตกต่างกันย่อมต้องเป็นพันธุ์ที่แตกต่างกันด้วย

พื้นที่ปลูกอ้อยของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝน  80%  โดยสภาพทั่วไปของอ้อยที่ปลูกในเขตอาศัยน้ำฝน ต้นอ้อยจะเตี้ยมีการพัฒนาอ้อยให้เป็นลำเก็บเกี่ยวต่ำ  ไม่สามารถไว้ตอได้

จากการดำเนินการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่ผ่านมาของสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน  ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี  ได้แนะนำพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่เขตใช้น้ำฝนหลายพันธุ์  เช่น  ขอนแก่น 1 ขอนแก่น  80  ขอนแก่น  3  อู่ทอง  5  สุพรรณบุรี  80  อู่ทอง  13  แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของอ้อยในแต่ละแหล่งยังไม่คงที่และต่ำอยู่

การปลูกอ้อยในสภาพใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียวจะต้องเป็นพันธุ์อ้อยที่มีการย่างปล้องและยืดปล้องเร็ว  เพื่อให้มีจำนวนลำอ้อยเก็บเกี่ยวได้และไว้ตอได้

อ้อยพันธุ์อู่ทอง  15  (94-2-254) เป็นลูกผสมตัวเองของพันธุ์อู่ทอง  2  เมื่อปี  2537  จากนั้นดำเนินการคัดเลือก  ปลูกเปรียบเทียบ  ทดสอบพันธุ์อย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งได้อ้อยพันธุ์อู่ทอง  15  ในปี  2557




ลักษณะเด่น  ให้ผลผลิตสูง  ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย  16.97  ตัน/ไร่  ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย  2.47 ตันซีซีเอส/ไร่  แต่หากปลูกในฤดูปลายฝนเขตน้ำฝนจะได้ผลผลิตสูงกว่าประมาณ  1  ตัน/ไร่  โดยจะได้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย  17.91  ตัน/ไร่  แต่ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง  และระวังโรคเหี่ยวเน่าแดงระบาด

พื้นที่แนะนำ  ควรปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง  15  ในดินร่วนปนทราย  จังหวัดเพชรบุรี  กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  หรือในฤดูปลายฝนเขตน้ำฝน  จังหวัดบุรีรัมย์  ขอนแก่น  นครราชสีมา  ชลบุรี  หรือในฤดูต้นฝนเขตน้ำฝน  จังหวัดลพบุรี  กาญจนบุรี

การปรับปรุงพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตร  นักวิจัยยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งพืชหลายชนิดจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลานานในการปรับปรุงพันธุ์  เพื่อให้เหมาะสมตรงตามความต้องการของเกษตรกร  การใช้พันธุ์พืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต  เนื่องจากช่วยเพิ่มผลผลิต  และลดโอกาสในการสูญเสียผลผลิตจากการเจริญเติบโตด้วยปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย

สอบถามรายละเอียด :  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี
โทร. 035-551543,  035-551433
ที่มา: น.ส.พ. กสิกร ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2558 หน้า 38-40

เนื้อหา