20 ธันวาคม 2551

คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ จ.นครสวรรค์

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้เปิดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ ในพระราชานุเคราะห์ฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2552 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 ณ โรงเรียนบ้านหนองดู่ ม. 5 ต.ทุ่งทอง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา (วันที่ 9 ธันวาคม)

นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ซึ่งรับผิดชอบคลินิกพืช ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านพันธุ์พืช ได้แก่ มันสำปะหลังพันธุ์ดี ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวพันธุ์นครสวรรค์ 3 และนิทรรศการด้านพืชชนิดอีกหลายชนิด เช่น ข้าวโพดหวาน การปลูกพืชผัก โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่มาขอรับการปรึกษาปัญหาการผลิตพืช ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการใช้พันธุ์มันสำปะหลังไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ผลผลิตข้าวโพดคุณภาพต่ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ผลการดำเนินงาน มีเกษตรกรเข้าร่วมงานทั้งสิ้นประมาณ 800 ราย เข้ารับคำปรึกษาปัญหาด้านการผลิตพืชในคลินิกพืช จำนวน 55 ราย











2 ธันวาคม 2551

เตือนภัย...การระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพดหวาน

โรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพดหวาน มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Exserohilum turcicum โรคนี้ระบาดทั่วไปโดยเฉพาะในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพดหวานติดต่อกันหลายปี เช่น ในจังหวัดทางภาคเหนือ และจังหวัดอื่นๆ เช่น กาญจนบุรี ตาก และในอีกหลายพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ ปัจจัยที่เอื้อให้การระบาดมีความรุนแรง ได้แก่ สภาพอากาศที่หนาวเย็น มีน้ำค้างแรงในตอนกลางคืน เมื่อข้าวโพดหวานเป็นโรคใบไหม้แผลใหญ่จะกระทบต่อผลผลิตและคุณภาพอย่างมาก




ลักษณะของเชื้อราสาเหตุ Exerohilum turcicum
ลักษณะอาการ
เกิดโรคได้กับทุกส่วน โดยเฉพาะบนใบ นอกจากนี้พบที่กาบใบ ลำต้น และฝัก โดยเกิดเป็นแผลมีขนาดใหญ่สีเทา หรือสีน้ำตาล มีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย อาการจะเกิดกับใบล่าง ๆ ก่อน แผลมีขนาดยาว 2.5-15 ซม. ใบที่มีอาการรุนแรงแผลจะขยายตัวรวมกันเป็นแผลใหญ่ทำให้ใบไหม้และแห้งตายในที่สุด
แผลรูปกระสวย ยาวตามเส้นใบ พันธุ์อ่อนแอต่อโรคแผลลามติดกันทำให้ใบไหม้ทั้งใบ
โรคใบไหม้แผลใหญ่ทำให้ผลผลิตเสียหายมากกว่า 50 % ในด้านคุณภาพพบว่าทำให้ฝักข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ฝักบิดเบี้ยว การติดเมล็ดไม่เต็ม

การแพร่ระบาดเชื้อราจะสร้างสปอร์บนแผล และสปอร์ก็จะแพร่ไปโดยลม ฝน เมื่อมีความชื้นสปอร์จะงอกเข้าทำลายใบข้าวโพดและแสดงอาการของโรคในส่วนอื่น ๆ ต่อไป เชื้อจะสร้างสปอร์จำนวนมากในสภาพความชื้นสูง และมีอุณหภูมิระหว่าง 18-27 องศาเซลเซียส ถ้าข้าวโพดเกิดโรคก่อนออกไหมทำให้ผลผลิตลดได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูในเศษซากข้าวโพด

การป้องกันกำจัด1. หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอ ตั้งแต่ระยะกล้า เมื่อพบโรคในระยะเริ่มแรก ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้
· โพรพิโคนาโซล อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
· คาร์เบนดาซิม + อีพอกซี่โคนาโซล อัตรา 25 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
· โพรพิโคนาโซล + ไดฟีโนโคนาโซล อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
การพ่นด้วยสารกำจัดโรคพืชให้พ่น 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน ไม่ควรใช้สารชนิดเดียวกันเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้เชื้อสาเหตุเกิดการดื้อต่อสารป้องกันกำจัดโรค

*** การควบคุมโรคด้วยสารเคมีกำจัดโรคพืชจะให้ผลดีเมื่อพ่นในระยะที่ข้าวโพดเริ่มแสดงอาการ ***

2. ทำลายข้าวโพดที่เป็นโรคและเศษซากของข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว เพราะเชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูบนเศษซากข้าวโพดได้

3. หลีกเลี่ยงฤดูปลูกให้ไม่ตรงกับช่วงที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการระบาดของโรค

เนื้อหา