20 พฤษภาคม 2553

ผลกระทบจากการใช้สารกำจัดวัชพืช

สารกำจัดวัชพืช หรือ ยาฆ่าหญ้า หมายถึง สารที่ใช้ฆ่าวัชพืชที่ขึ้นในแปลงปลูกทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อไม่ให้ไปแก่งแย่งปัจจัยการเจริญเติบโตจากพืชที่เราปลูก ไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหาร น้ำ แสงแดด และพื้นที่

การกำจัดวัชพืชทำได้หลายวิธี เช่น การใช้แรงงานคนในการขุด ดาย ถอน และ การใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็กในการกำจัด การใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติกันมาก เนื่องจากให้ผลรวดเร็ว สะดวก ไม่ต้องใช้แรงงานมาก สารกำจัดวัชพืชมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการเข้าทำลายพืชต่าง ๆ กัน

การใช้สารกำจัดวัชพืชให้ถูกชนิดและใช้ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำ จะทำให้สารมีประสิทธิภาพในการกำจัดได้ดี และไม่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก พืชในพื้นที่ข้างเคียง สิ่งแวดล้อม หรือต่อผู้ใช้เอง

ปัญหาการใช้สารกำจัดวัชพืชแล้วส่งผลกระทบต่อพืชปลูกของเกษตรกรเอง และต่อพืชปลูกของเพื่อนบ้านในพื้นที่ข้างเคียงเกิดขึ้นเสมอ
ที่พบบ่อยครั้งคือกรณีการใช้สารกำจัดวัชพืชในไร่อ้อยแล้วละอองสารปลิวไปทำความเสียหายให้กับพืชชนิดอื่นๆ ในแปลงข้างเคียง ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรทั้งสองฝ่าย เป็นกรณีพิพาทถึงขั้นฟ้องร้องกันก็มี

คำแนะนำในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เกษตรกรที่จะใช้สารกำจัดวัชพืช ควรศึกษาวิธีการใช้สารโดยอ่านจากฉลากอย่างละเอียด
หากยังไม่เข้าใจสามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกใกล้เคียงกันควรพูดคุยทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการปลูกพืชซึ่งเป็นพืชต่างชนิดกันในพื้นที่ใกล้กัน หรือก่อนที่จะมีการพ่นสารกำจัดวัชพืช เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรด้วยกัน

ตัวอย่างอาการผิดปกติของพืชจากการใช้สารกำจัดวัชพืชไม่ถูกต้อง

เมื่อมันสำปะหลังแตกใบแล้ว มีการพ่นไดยูรอนเพื่อควบคุมวัชพืชในแปลงมันสำปะหลัง
มีผลทำให้มันสำปะหลังแสดงอาการใบเหลืองซีดจนถึงใบไหม้


การพ่นไดยูรอนในอัตราที่สูงเพื่อควบคุมวัชพืชในแปลงมันสำปะหลัง ทำให้มีการตกค้างของสารไดยูรอนอยู่ในดินเป็นเวลานานหลายเดือน
ไดยูรอนจะถูกดูดซึมขึ้นไปทางราก มีผลทำให้มันสำปะหลังใบไหม้ ต้นแห้งตาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณสารที่ตกค้าง


พริกของเกษตรกร มีอาการใบเรียวเล็ก (ใบยอด)เกิดจากการได้รับสาร 2,4-D ที่ปลิวมาจากการใช้ในไร่อ้อยข้างเคียง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิษของสารกำจัดวัชพืช...ในจดหมายข่าวศูนย์ฯ เดือนพฤษภาคม 2008 http://nsfcrc-news.blogspot.com/2008/05/blog-post_26.html

ข้อจำกัดของการปลูกมันสำปะหลังในดินด่าง

พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้เพิ่มมากขึ้น บางครั้งเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังโดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของมันสำปะหลัง
ดินที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง พบทั่วไปในหลายจังหวัด รวมเนื้อที่ทั้งหมดกว่าล้านไร่ โดย 85 เปอร์เซ็นต์กระจายอยู่ในสี่จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ปราจีนบุรี กาญจนบุรี และลพบุรี

ดินด่างเกิดจากการสลายตัวของหินปูนและหินอัคนีเนื้อละเอียด และเกิดจากมาร์ล เป็นดินตื้นถึงตื้นมาก มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง พบเศษหินปูนหรือก้อนปูนปะปนอยู่กับเนื้อดิน และเป็นชิ้นหนา ยากในการที่รากพืชจะชอนไชไปหาอาหาร
ดินที่มีความเป็นด่างจัด ทำให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชบางชนิดถูกตรึงอยู่ในรูปที่ไม่ละลายมาเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส และจุลธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง สังกะสี และโบรอน

มันสำปะหลังพันธุ์ที่ไม่ทนต่อดินด่างจะแสดงอาการใบเหลืองซีด ใบไหม้ แคระแกรน ทรงพุ่มเล็ก ต้นตาย จำนวนต้นต่อพื้นที่ลดลง ต้นมันสำปะหลังที่เหลืออยู่ไม่สามารถแข่งขันกับวัชพืชที่ขึ้นอย่างหนาแน่นได้ การกำจัดวัชพืชต้องทำบ่อยครั้งขึ้น ไม่คุ้มกับผลผลิตที่จะได้

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรยังต้องการปลูกมันสำปะหลังในดินด่าง ควรเลือกดินที่มีหน้าดินหนากว่า 15 ซ.ม. ไม่มีก้อนปูนหรือเศษหินปะปนอยู่มาก มีการใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการเพิ่มผลผลิตหัวสด

การปรับปรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อเพาะปลูกไปนาน ๆ ความอุดมสมบูรณ์ย่อมลดลง ควรมีการปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ปอเทือง นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยให้ดินร่วนซุยมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อลดความเสียหายของผลผลิต เกษตรกรควรพิจารณาเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่เป็นด่างมาปลูก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โทร. 0-5624-1019
ข้อมูลดิน: กรมพัฒนาที่ดิน

เนื้อหา