18 ธันวาคม 2552

เตือนภัยโรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพดหวาน

ในสภาพที่อากาศเย็นและมีความชื้นสูง มักพบการระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพดหวานที่ปลูกในหลายพื้นที่ รวมทั้งพบการระบาดในจังหวัดนครสวรรค์โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดติดต่อกันหลายฤดู สามารถพบการระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่ตั้งแต่ต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมในปีที่ฝนตกชุก

เมื่อข้าวโพดเป็นโรคใบจะเกิดแผลขนาดใหญ่สีเทา หรือสีน้ำตาล แผลมีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย แผลจะเกิดที่ใบล่างก่อนแล้วลามขึ้นสู่ใบบน ข้าวโพดหวานพันธุ์อ่อนแอจะแสดงอาการของโรคอย่างรุนแรงโดยแผลขยายรวมกันมีขนาดใหญ่ ทำให้ใบไหม้และแห้งตายในที่สุด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแผลที่กาบใบ ลำต้น และฝักได้ด้วย ต้นข้าวโพดหวานที่เป็นโรคใบไหม้แผลใหญ่อย่างรุนแรงจะทำให้การติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ ฝักบิดเบี้ยว








การป้องกันกำจัด
เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ ตั้งแต่ระยะที่ข้าวโพดยังเล็ก ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงเมื่อพบข้าวโพดเริ่มแสดงอาการให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้

- โพรพิโคนาโซล (propiconazole) อัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
- อะซอกซี่สะโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล (azoxystrobin+difenoconazole) อัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
- คาร์เบนดาซิม +อีพอกซี่โคนาโซล (carbendazim+epoxyconazole) อัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

โดยพ่น 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค โดยไม่มีสารตกค้างในผลผลิต ข้าวโพดหวานให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 2,675-3,040 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตฝักสดปอกเปลือกมาตรฐาน 1,399-1507 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตฝักสดปอกเปลือกมาตรฐานสูงกว่าการไม่ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชถึง 89 เปอร์เซ็นต์

โดยมีต้นทุนสารป้องกันกำจัดโรคพืช 173-369 บาทต่อไร่ รายได้ 10,700 บาทต่อไร่ รายได้สุทธิ 7,251-8,913 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตามในการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้แผลใหญ่เกษตรกรควรใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน หรือใช้พันธุ์ต้านทาน เพื่อให้การปลูกข้าวโพดหวานมีความยั่งยืน

เนื้อหา