21 กันยายน 2553

อบรมการเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง และการผลิตท่อนพันธุ์มันสะอาด

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้จัดให้มีการฝึกอบรม เรื่อง “การจัดการพันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมกับพื้นที่โดยการใช้ท่อนพันธุ์มันฯ สะอาด” ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โดยมี นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผอ. ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เป็นประธานในการเปิดการฝึกอบรม

วัตถุประสงค์ของการอบรมเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีความรู้ในการเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ปลูกของตน เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และเรียนรู้วิธีการสำรวจและการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งเพื่อไม่ให้มีการระบาดในแปลงปลูก ทำให้เกษตรกรมีท่อนพันธุ์ที่ปราศจากเพลี้ยแป้งสำหรับปลูกและเป็นแหล่งกระจายท่อนพันธุ์ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ

มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจากจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง เข้ารับการอบรม จำนวน 120 ราย การอบรมครั้งนี้นอกจากจะให้ความรู้ด้านการเลือกพันธุ์มันสำปะหลังแล้ว นางสาวอมรา ไตรศิริ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

1 กันยายน 2553

เห็ดโคน...หนึ่งปีมีหนเดียว

เห็ดโคน Termite mushroom (Termitomyces fuliginosus Heim)
เป็นเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อมีความชื้นและอุณหภูมิที่พอเหมาะ เห็ดโคนมีขนาด และสีของหมวกเห็ดที่แตกต่างกัน เช่น สีน้ำตาล น้ำตาลแดง ขาว และสีออกชมพู ขึ้นกับสภาพแวดล้อม และแหล่งที่พบ เห็ดโคน มีกลิ่นและรสชาดเฉพาะตัว

เห็ดโคนมีความสัมพันธ์กับปลวก มักเกิดตามที่ที่มีปลวกอาศัยอยู่ ในพื้นที่แถบจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน เป็นช่วงที่เราสามารถพบเห็ดโคน

นักเก็บเห็ดโคนจะรู้ดีว่า วันเวลาไหน ตลอดจนสถานที่แห่งใด ที่จะสามารถพบเห็ดโคน เห็ดโคนมักจะขึ้นที่เดิม ใกล้เคียงกับสถานที่เดิม หรือจะมีการย้ายที่ใหม่ขึ้นอยู่กับปลวก  และมักพบในระยะเวลาใกล้เคียงกันในแต่ละปี

สำหรับที่ที่เคยพบเห็ดโคน เมื่อถึงฤดูเห็ดโคน อย่าลืมสำรวจให้ดี ในตอนเช้าและเย็น ไม่แน่ เราอาจพบเห็ดโคนขึ้นละลานตา ที่ริมรั้ว หรือสนามหญ้าหน้าบ้าน โดยที่ไม่ต้องเดินป่า หรือออกไปหาไกล แค่นี้ ก็ทำเอานักเก็บเห็ดมือสมัครเล่นตื่นเต้นไปหลายวัน

วันนี้คุณพบและกินเห็ดโคน หรือยัง?









เนื้อหา