18 เมษายน 2551

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 3 (NSX 042029)

โดย...พิเชษฐ์ กรุดลอยมา


  • พัฒนาพันธุ์โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร
  • เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 (Nei 452008) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 452015
  • มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ มีระบบรากแข็งแรง ความสูงฝัก 120 ซม. ความสูงต้น 205 ซม. ลักษณะใบยาว ช่อดอกตัวผู้สีชมพู อายุออกดอกตัวผู้ 53 วัน อายุออกไหม 55 วัน ไหมสีชมพู จำนวนเปลือกหุ้มฝัก 10 ใบ เมล็ดเป็นชนิดหัวแข็งสีส้มเหลือง จำนวนแถวต่อฝัก 12-14 แถว จำนวนเมล็ดต่อแถว 36 เมล็ด น้ำหนัก 100 เมล็ด เท่ากับ 34 กรัม อายุเก็บเกี่ยว 110-115 วัน
  • ลักษณะเด่น
    • ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,150 กก./ไร่
    • มีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง
    • มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก
    • เก็บเกี่ยวได้ง่าย
  • ความก้าวหน้าของข้าวโพดลูกผสมพันธุ์ NSX 042029 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอรับรองพันธุ์ ซึ่งตั้งชื่อพันธุ์ว่า 'นครสวรรค์ 3'

การระบาดของโรคใบด่างแคระข้าวโพด




  • แหล่งระบาด
แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของเกษตรกร บ้านอ่างซับเหล็ก อ.พระพุทธบาท จังหวัดลพบุรี พบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยืนต้นแห้งตาย เมื่อดูที่ฝักพบว่า ฝักมีขนาดเล็ก การติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ เกษตรกรให้ข้อมูลว่าเกิดโรคใบลายระบาดในแปลง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เมื่อตรวจสอบต้นเป็นโรคที่อยู่แปลงข้างเคียงซึ่งมีต้นข้าวโพดอายุประมาณเดือนเศษ และมีต้นที่แสดงอาการของโรค ทำให้สามารถตรวจสอบสาเหตุได้




  • อาการของโรค/การพิสูจน์โรค
เมื่อตรวจดูพบว่าใบข้าวโพดเกิดจุดประ และขีดเล็กๆ สีเหลืองซีดที่ใบ ทำให้ใบด่าง ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคราน้ำค้างในระยะเริ่มแรก บางต้นที่มีอาการใบด่างจะมีอาการต้นเน่าร่วมด้วย จึงได้เก็บใบที่เป็นโรคมาทดสอบปลูกเชื้อกลับไปยังต้นกล้าข้าวโพดหวานโดยการทำแผลแล้วทาด้วยน้ำคั้นที่บดจากใบเป็นโรค พบว่าสามารถทำให้ต้นกล้าข้าวโพดแสดงอาการจุดประสีซีด หลังจากที่มีการปลูกเชื้อ 2-5 วัน จากการเปรียบเทียบลักษณะอาการผิดปกติของข้าวโพดกับเอกสารอ้างอิง สันนิษฐานว่าข้าวโพดเป็นโรคใบด่างแคระ (maize dwarf mosaic) ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส
  • การถ่ายทอดโรค
ด้วยวิธีกลและโดยแมลงพาหะหลายชนิด

  • ความเสียหาย
ปกติข้าวโพดหวานจะอ่อนแอต่อโรคนี้มาก ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดของจังหวัดลพบุรี มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับความเสียหายไม่สามารถเก็บผลผลิตหลายแปลง ในการปลูกพืชของจังหวัดลพบุรีในแหล่งที่มีการระบาดของโรคใบด่างพบว่าเกษตรกรสามารถปลูกพืชเกือบตลอดทั้งปีเพราะมีแหล่งน้ำ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีพืชอาศัยของโรค ทำให้มีการสะสมโรคอยู่ในพื้นที่
  • การป้องกันกำจัด
โรคใบด่างแคระข้าวโพด มีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น ข้าวฟ่าง อ้อย และ หญ้าต่างๆ จากการที่มีการถ่ายทอดโรคโดยแมลงพาหะหลายชนิด ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นตรวจดูข้าวโพดในไร่ และพืชอาศัยที่ขึ้นใกล้ๆ กับแปลงข้าวโพด โดยเฉพาะเมื่อข้าวโพดอายุต่ำกว่าหนึ่งเดือนซึ่งเป็นระยะที่อ่อนแอต่อโรค เมื่อพบต้นที่แสดงอาการผิดปกติ ควรถอนไปทำลายนอกแปลงปลูก นอกจากนี้ ควรสังเกตการระบาดของแมลงจำพวกปากดูดที่อาจจะเป็นพาหะของโรค เช่น เพลี้ยต่างๆ หากพบว่ามีข้าวโพดเป็นโรคและพบการระบาดของเพลี้ยในไร่ ควรกำจัดต้นเป็นโรคและพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ปัญหาการใช้สารกำจัดวัชพืช:ความต่างที่ไม่ลงตัวของอ้อยกับมันสำปะหลัง

โดย...ศิวิไล ลาภบรรจบ


· ความต่างที่ไม่ลงตัว
การใช้สารกำจัดวัชพืชที่ส่งผลกระทบต่อพืชปลูกข้างเคียงเกิดขึ้นมานาน ไม่ว่าจะเป็นฝ้าย หรือพืชชนิดอื่นๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา (2549-2550) มันสำปะหลังเป็นอีกพืชหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาก มันสำปะหลังและอ้อยเป็นพืชที่มีการปลูกกันมากขึ้นในเขตจังหวัดนครสวรรค์และอีกหลายจังหวัดในเขตภาคกลางตอนบน ปี 2549 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ได้รับแจ้งจากเกษตรกร 6 ราย ให้มีการตรวจสอบอาการผิดปกติในมันสำปะหลังที่ปลูกในท้องที่ อ.ตากฟ้า อ.หนองบัว อ.ลาดยาว และ อ.ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ รวมพื้นที่ปลูกประมาณ 500 ไร่ จากเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบเมื่อปี 2549 มาถึงปี 2550 กลายเป็นกลุ่มเกษตรกรทั้งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ และเกิดข้อพิพาทระหว่างเกษตรกรที่ปลูกพืชต่างชนิดกันขึ้น สำหรับพื้นที่ที่เกิดปัญหาในปี 2550 เฉพาะเขตปลูกมันสำปะหลังในอำเภอตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ติดต่อกับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในตำบลหนองหลวง อำเภอท่าตะโก จ.นครสวรรค์ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีมากกว่า 5,000 ไร่ ในพื้นที่ ต. โพธิ์ประสาท อำเภอไพศาลี ประมาณ 200 ไร่ จังหวัดอุทัยธานี ได้แก่ บ้านหนองบ่มกล้วย บ้านหนองจอก อ.บ้านไร่ อ.ห้วยคต อ.เนินขาม จ.ชัยนาท รวมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่เสียหายหลายพันไร่ บ้านมะม่วงเจ็ดต้น อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี อีก 30 กว่าไร่ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2550 โดยการประสานงานของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี โดยมีนักวิชาการจากส่วนกลางและจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ซึ่งได้แก่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทร่วมในการตรวจสอบ ปีนี้พืชที่เสียหายไม่จำกัดเฉพาะมันสำปะหลังเท่านั้น เกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นที่อยู่ติดกับไร่อ้อยก็เกิดปัญหาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมะเขือ มะเขือเทศ พริก แตงไทย ช่วงเวลาที่เกิดปัญหาจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นฤดูปลูกมันสำปะหลัง ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากการปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชที่มาจากไร่อ้อยเป็นหลัก มีเพียงรายเดียวที่เกิดจากการใช้ถังร่วมกันในการกำจัดวัชพืชประเภทใบกว้างและใบแคบเนื่องจากเกษตรกรรายนี้ปลูกพืชหลายชนิดมีทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าว
ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาการปลิวของสารกำจัดวัชพืชแล้วเกิดเป็นพิษต่อพืชข้างเคียงรุนแรงและเกิดปัญหาในหลายท้องที่ในเวลาไร่เรี่ยกันในปี 2550 อาจจะเนื่องมาจากสภาพอากาศที่มีฝนตกติดต่อกันหลายสัปดาห์ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลงปฏิบัติงานไม่ได้ เมื่อมีช่วงเวลาที่ฝนหยุด ฟ้าเปิด เกษตรกรที่ปลูกอ้อยแต่ละรายมีการระดมพ่นสารกำจัดวัชพืชในไร่ของตนเอง จึงทำให้มีการปลิวของละอองสารในอากาศมาก
· ปัญหาของเกษตรกร
เมื่อประสบกับปัญหา ในเบื้องต้นเกษตรกรบางรายที่เดินทางมาปรึกษาที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ไม่ทราบว่ามันสำปะหลังที่ตัวเองปลูกใว้มีความผิดปกติเนื่องมาจากสาเหตุใด ทราบเพียงแต่ว่ามันสำปะหลังเกิดอาการใบเหลืองซีดและใบไหม้ ในรายที่เสียหายมากมันสำปะหลังตายเกือบทั้งแปลง เกษตรกรในเขตอำเภอตากฟ้าและอำเภอท่าตะโกเข้าใจว่าเกิดจากการทำลายของเพลี้ย เกษตรกรบางรายจาก อ.บ้านไร่ เข้าใจว่าเกิดจากแมงกระเบื้อง ทำให้ต้นมันสำปะหลังใบแดง หลากหลายสาเหตุแล้วแต่ใครจะคาดเดากันไป และคำตอบสุดท้ายที่ต้องการจากนักวิชาการเกษตรก็คือจะใช้สารอะไรมาพ่นเพื่อทำให้มันสำปะหลังฟื้น บางรายได้แก้ปัญหาไปแล้วด้วยความเข้าใจผิดดังที่กล่าวมา โดยทางร้านขายเคมีเกษตรจัดสารเคมีมาให้เสร็จสรรพราคาขวดหนึ่งนับพันบาทเลยทีเดียว จากการสอบถามสารที่เกษตรกรเอามาใช้จะเป็นพวกปุ๋ยน้ำ มีเกษตรกรบางรายสงสัยว่าจะเกิดจากไร่อ้อยข้างเคียงพ่นสารกำจัดวัชพืช เพราะมันสำปะหลังงอกมายังเขียวเป็นปกติดี พอไร่ข้างๆ พ่นยาใบแห้งหมดทั้งแปลง เกษตรกรประเภทหลังนี้มักจะเดินทางมาพร้อมกับซองเปล่าหรือกล่องสารกำจัดวัชพืชที่เชื่อว่าจะเป็นต้นเหตุ ถ้าไม่มีหลักฐานมาแสดงก็มักจะจำชื่อมาบอก อามิทริน และ ช้างแดง หรือ 2,4 ดี มักจะเป็นชื่อต้นๆ ที่ถูกกล่าวถึงเสมอ เกษตรกรรายที่ได้รับเสียหายมากต้องการใบรับรองว่าเกิดจากอะไรเพื่อจะได้นำไปเรียกค่าเสียหายกับคู่กรณี เกษตรกรบางรายมาพร้อมกับน้ำตาคลอเบ้า ไม่เหลืออะไรแล้ว ขอร้องให้ช่วยด้วยเถิด เกษตรกรบางรายที่เคยปลูกมันสำปะหลังมาปีนี้เปลี่ยนไปปลูกอ้อยก็มีเพราะไม่อยากผิดใจกับเพื่อนบ้าน ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่คิดว่าเกิดจากเพลี้ยก็ไม่ได้ไปทะเลาะกับใครเพราะไม่มีคู่กรณี ปล่อยให้ปัญหาคลี่คลายไปเองตามกาลเวลา มีเกษตรบางรายไม่ได้เดินทางมาร้องทุกข์เพราะเจ้าของไร่อ้อยยินดีชดใช้ด้วยการให้ปุ๋ยยูเรียมาใช้ จากการติดตามข้อมูลจนถึงปัจจุบันยังมีเกษตรกรอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ทราบสาเหตุของปัญหาและไม่ได้ดำเนินการอะไร
· เรื่องนี้ต้องพิสูจน์
หลังจากที่ได้รับแจ้งจากเกษตรกร ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบว่าเกิดจากสารกำจัดวัชพืชจริงหรือไม่ การวินิจฉัยอาศัยข้อมูลหลายๆ ด้าน ทั้งจากคำบอกเล่าของเกษตรกร จากลักษณะอาการของตัวอย่างพืชที่เกษตรกรนำมา ในบางกรณีการลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบางครั้งตัวอย่างที่เกษตรกรนำมากับสิ่งที่เห็นในไร่เป็นคนละเรื่องเดียวกันก็มี การลงพื้นที่ตรวจสอบอาการของพืชที่ผิดปกติในแปลงที่เสียหาย หรือพืชชนิดเดียวกันที่มีอายุต่างๆ กัน รวมทั้งการตรวจสอบพืชชนิดอื่นที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนั้น จะช่วยให้วินิจฉัยปัญหาได้ง่ายขึ้น ในกรณีพืชผิดปกติที่เกิดจากสารกำจัดวัชพืชถึงแม้ว่าเราจะพอทราบอยู่บ้างแต่เนื่องจากลักษณะอาการบางอย่างที่พบเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นอาการและไม่มีรายงานในเอกสารมาก่อน สารกำจัดวัชพืชชนิดไหนทำให้เกิดอาการอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นคือเกิดขึ้นได้อย่างไร บางแปลงไม่ติดกับไร่อ้อยเลยอยู่ห่างตั้งหลายกิโลเมตร ก็ต้องหาข้อมูลเท่าที่จะหาได้ นอกจากนี้รูปแบบและลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้นในแปลงซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับหลายพันไร่ อาจทำให้เกิดความไม่แน่ใจ หรือสับสนได้เหมือนกัน ต้องอาศัยประสบการณ์มาก การที่ขาดข้อมูลอ้างอิงเราอาจจะโดนคู่กรณีอีกฝ่ายของเกษตรกรไล่ต้อนเอา โดยเฉพาะเจ้าของไร่อ้อยรายใหญ่ที่มีความรู้และมีอิทธิพลในพื้นที่ จะโดนซักในประเด็นที่สามารถแย้งได้ เพราะคงไม่มีใครอยากจะจ่ายเงินกันง่ายๆ ถ้ามีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวไร่มันสำปะหลังหลายรายรวมกันแล้วเป็นเงินไม่น้อยเลย บางครั้งใบรับรองที่เกษตรกรต้องการนี้นำไปใช้ประกอบการฟ้องร้องหากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยดี ในฐานะเป็นตัวแทนของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ซึ่งมีการคาดหวังจากเกษตรกรสูงมากว่าจะเป็นที่พึ่งให้พวกเขาได้ ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานราชการอื่นๆ ก็ฝากความหวังไว้กับเราว่าจะสามารถไขข้อข้องใจให้ได้ เราก็พยายามทำหน้าที่เต็มที่เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนให้แก่เกษตรกร ในส่วนของการออกตรวจสอบพื้นที่จะมีนักวิชาการเกษตรมากกว่าหนึ่งคน เพราะบางครั้งอาจเกิดสถานการณ์ที่ไม่ราบรื่น จะได้ช่วยกัน ถ้าจะให้ดีควรมีคนกลาง หรือหน่วยงานกลางเดินทางเข้าร่วมตรวจสอบด้วยกัน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร หรือแม้แต่ตำรวจ ป้องกันข้อกล่าวหาว่าลำเอียงหรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันระหว่างหน่วยงานราชการในพื้นที่ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ นักวิชาการเกษตรจากกรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง ส่วนเรื่องการไกล่เกลี่ยควรจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หรือคนกลางในพื้นที่ ความสำคัญในการวินิจฉัยสาเหตุของปัญหาอย่างถูกต้องจะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และตระหนักถึงสภาพปัญหาที่อาจจะต้องเกิดขึ้นทุกปีเพื่อการมีส่วนร่วมมือกันของทุกๆ ฝ่าย ในการหาแนวทางในการป้องกันหรือแก้ปัญหาต่อไป อย่างน้อยเมื่อเกษตรกรได้เข้าใจและทราบปัญหาแล้วหากคิดจะทำอะไรต้องใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น
· มันสำปะหลังรับกรรมที่ไม่ได้ก่อ
ในปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้รับแจ้งว่ามันสำปะหลังเกิดความผิดปกติ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้ดำเนินการทดสอบพิษของสารกำจัดวัชพืชบางชนิดต่อมันสำปะหลังอย่างเร่งด่วน และมีการทดสอบเพิ่มเติมในปี 50 โดยเลือกสารกำจัดวัชพืชที่มีข้อมูลจากเกษตรกรว่ามีการใช้กันมากในไร่อ้อย เกษตรกรชาวไร่อ้อยบางรายในเขตอำเภอตากฟ้านิยมใช้สารกำจัดวัชพืชผสมกันในถังเดียวทั้งยาคุมและยาฆ่าเพื่อให้การควบคุมวัชพืชมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ อทราซีน อมิทรีน และ 2,4 ดี ส่วนพฤติกรรมของชาวไร่อ้อยในเขตอำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานีจะนิยมใช้ พาราควอท อทราซีน อมิทรีน 2,4 ดี ไดยูรอน และ ไกลโฟเซท โดยผสมสารดังกล่าวสามถึงสี่ชนิดในถังเดียว ข้อมูลการใช้สารเหล่านี้ได้มาจากการสอบถามคนรับจ้างพ่นยา คนรับจ้างพ่นยาบางคนเคยทำไร่มันสำปะหลัง และบางคนทำไร่อ้อยด้วย เรียกว่า รู้ๆ กันอยู่เหมือนกัน สารกำจัดวัชพืชที่เลือกมาทดสอบความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง ได้แก่ พาราควอท อทราซีน อามีทรีน 2,4-ดี และไกลโฟเซท
ผลของการทดสอบลักษณะอาการที่ผิดปกติที่เกิดกับมันสำปะหลังโดยสรุปมีดังนี้
พาราควอท
มีผลทำให้มันสำปะหลัง ใบเหลือง ใบไหม้ ถ้าพ่นโดนส่วนของยอด อาจทำให้มันสำปะหลังตายได้ มักไม่เป็นปัญหาในการใช้หากไม่พ่นโดนส่วนของยอดเจริญ
อทราซีน มีผลทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง อาการเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ ใบเหลืองซีด ถ้าได้รับปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้ ต้นตาย มันสำปะหลังจะอ่อนแอต่อสารอทราซีนในระยะที่แตกใบหลังงอกจนอายุประมาณสองถึงสามเดือน
อามีทรีน ทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง อาการเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ ใบเหลืองซีด ถ้าได้รับสารปริมาณมากทำให้ใบไหม้สีน้ำตาลแดง ต้นตายได้ มันสำปะหลังจะอ่อนแอต่อสารอามีทรินในระยะที่แตกใบหลังงอกจนอายุประมาณสองถึงสามเดือน มันสำปะหลังต้นโตที่ได้รับละอองสารในปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้ ใบร่วงทั้งต้น แต่สามารถแตกใบใหม่ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน ดินที่มีละอองสารอามีทรีนปกคลุมอยู่ในปริมาณมาก เมื่อฝนตกลงมาสารจะซึมลงดิน รากจะดูดซึมขึ้นมา ทำให้มันสำปะหลังเกิดอาการใบไหม้โดยเริ่มจากใบล่างขึ้นมาใบบน
2,4-ดี ทำให้มันสำปะหลังยอดไม่เจริญ ใบเหลือง ใบไหม้ กิ่งบวม กิ่งแตก ยอดแห้งตาย ระดับความเสียหายขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ อาการผิดปกติในมันสำปะหลังที่มีรูปแบบจำเพาะ (Typical symptom) ที่เป็นผลมาจาก 2,4-ดี และสารกำจัดวัชพืชในกลุ่ม growth regulator คือ ก้านใบบิดทำให้ใบพลิกหงายขึ้น มุมระหว่างก้านใบกับลำต้นแคบลงกว่าปกติทำให้ก้านใบลู่ลงเกือบแนบลำต้น ส่วนยอดโค้ง กิ่งบวมและมีรอยแตกตามยาวลำต้น
ไกลโฟเซท ต้นมันสำปะหลังที่ได้รับสาร ทำให้ใบมีขนาดเล็กลงมาก แผ่นใบแต่ละหยักจะแคบลง มีลักษณะเรียวเล็กเป็นเส้น และบิด ต้นแคระแกร็น โตไม่ทันต้นอื่น
สารกำจัดวัชพืชทั้ง 5 ชนิดนี้ เมื่อมันสำปะหลังได้รับในปริมาณที่ไม่มาก เช่น ในอัตราแนะนำที่ใช้ในการควบคุมวัชพืชในไร่อ้อย (พ่นอัตราแนะนำโดยพ่นให้เกิดละอองทั่วทั้งใบเพียงหนึ่งครั้ง) จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย พาราควอท อทราซีน และ อามีทริน จะแสดงอาการใบเหลืองเพียงอย่างเดียว ไม่มีอาการใบไหม้ร่วมด้วย สามารถเจริญได้เป็นปกติ และใบกลับมามีสีเขียวภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนหลังจากได้รับสาร ส่วนสารกำจัดวัชพืช 2,4 ดี มันสำปะหลังไม่ไวต่อสารนี้เหมือนกับฝ้าย ไอระเหยของ 2 ,4 ดีหรือที่เข้าใจกันว่าแค่เปิดขวดเดินผ่านมีผลต่อฝ้ายทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ ตีนเป็ด ” แต่ในมันสำปะหลังต้องได้รับละอองสารที่ปลิวมาสัมผัสโดยตรงจึงจะแสดงอาการผิดปกติ การพ่นสารไกลโฟเซทคลุมดินหลังจากที่ปลูกเสร็จ หากละอองสารสัมผัสท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ใบที่แตกใหม่จะเกิดความผิดปกติได้ การที่เกษตรกรผสมสารกำจัดวัชพืชมากกว่าหนึ่งชนิดจะมีผลทำให้มันสำปะหลังเกิดความเสียหายมากกว่าการได้รับสารเพียงชนิดเดียว
· ทำไมจึงเกิดความเสียหายมาก
ในสภาพไร่ของเกษตรกร การที่มันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูกได้รับความเสียหายมากเกิดจากการได้รับละอองสารที่ปลิวมากับลมในปริมาณมากเป็นร้อยเท่าหรือมากกว่าของอัตราที่แนะนำให้ใช้ในไร่อ้อย เนื่องจากระยะเวลาที่มีการพ่นสารกำจัดวัชพืชในไร่อ้อยแปลงหนึ่งๆ ใช้เวลาเป็นชั่วโมงจึงจะพ่นเสร็จ ละอองสารกำจัดวัชพืชจึงปลิวมาตกลงบนใบมันสำปะหลังซ้ำๆ ยิ่งถ้าในพื้นที่ข้างเคียงมีไร่อ้อยหลายแปลงและมีการพ่นสารกำจัดวัชพืชในระยะเวลาไล่เลี่ยกันจะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงกับมันสำปะหลังที่เพิ่งงอกจนถึงมันสำปะหลังที่มีอายุสองถึงสามเดือน
· คำถามที่ยังรอคำตอบ
ในแง่ความเสียหายต่อผลผลิตของมันสำปะหลังที่ได้รับสารกำจัดวัชพืชนั้น ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการ ความเสียหายต่อผลผลิตอาจเกิดโดยตรงเนื่องจากต้นมันสำปะหลังตาย หรือจากการที่ใบและลำต้นมีอาการผิดปกติ ส่งผลให้ต้นไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ผลผลิตที่ลดลงนั้นยังเกิดจากการที่ได้รับสารกำจัดวัชพืชแล้วมันสำปะหลังเจริญเติบโตช้ากว่าปกติทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับวัชพืชในแปลงได้ ยังมีคำถามอีกมากที่ยังไม่ทราบคำตอบ มันสำปะหลังได้รับความเสียหายระดับใดถึงจะกระทบต่อผลผลิต ช่วงอายุมันสำปะหลังที่อ่อนแอต่อสารกำจัดวัชพืช จากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงมักมีปัญหาในระยะหลังงอกจนถึงมันสำปะหลังมีอายุประมาณสามเดือนนั้น จะกระทบต่อผลผลิตเช่นใด บางครั้งสารกำจัดวัชพืชที่มีปัญหาก็มีการใช้กำจัดวัชพืชในไร่มันสำปะหลังอยู่แล้ว บางคนก็บอกไม่เห็นเป็นอะไร ฯลฯ ในด้านของอ้อยเช่นกัน วิธีการกำจัดวัชพืชที่ปฏิบัติอยู่เหมาะสมเพียงใด ในสถานการณ์เช่นนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการในการกำจัดวัชพืช รวมถึงชนิดของสารที่ใช้กันหรือไม่ ในฤดูปลูกที่จะใกล้จะมาถึงในปีนี้จะรับมือกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไร คำถามเหล่านี้ล้วนต้องการคำตอบ

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ได้จัดทำโปสเตอร์ที่มีข้อมูลและภาพประกอบลักษณะอาการผิดปกติของมันสำปะหลังที่เกิดจากสารกำจัดวัชพืชเพื่อเผยแพร่และช่วยในการวินิจฉัยปัญหา ผู้ใดสนใจ ติดต่อขอรับได้

เนื้อหา