27 มีนาคม 2552

คลินิกเกษตรเคลื่อนที่..อ.โกรกพระ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เข้าร่วมให้บริการคลินิกพืช ในการจัดงานกิจฏรรมคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ณ วัดบางประมุง หมู่ที่ 5 ต.บางประมุง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ โดยมี นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ผวจ.นครสวรรค์ เป็นประธานในการเปิดงาน กิจกรรมการที่ให้บริการในคลินิกพืช มีดังนี้
1. จัดนิทรรศการด้านพืช พันธุ์พืช และ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
2. ให้คำแนะนำด้านการผลิตพืช และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร
3. แจกเอกสารวิชาการแก่เกษตรกร และผู้สนใจ
4. แนะนำพันธุ์มันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 9 และ CMR35-22-196
5. สนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังแก่เกษตรกร 4 พันธุ์ จำนวน 200 ต้น และ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมนครสวรรค์ 3 จำนวน 20 ถุง ๆ ละ 3 กิโลกรัม
ผลการให้บริการในภาพรวมดังนี้
1) จำนวนเกษตรกรที่ลงทะเบียนตามแบบคลินิก 01 = 500 ราย
2) จำนวนเกษตรกรที่เข้ารับบริการในคลินิกพืช = 87 ราย
3) จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการแล้วเสร็จในวันเปิดคลินิก = 87 ราย


19 มีนาคม 2552

ข้อเท็จจริงกรณีมันสำปะหลังเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายมานิต อนรรฑมาศ นายอำเภอตากฟ้า ได้เชิญพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ หน่วยราชการในพื้นที่ ผู้ประกอบการลานมันสำปะหลัง และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จาก ต.หนองหลวง อ.ท่าตะโก และ ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า เพื่อร่วมหารือปัญหามันสำปะหลังเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ลานมันไม่รับซื้อ เกษตรกรขายหัวมันสำปะหลังไม่ได้ราคา ต้องขอให้หน่วยงานราชการเร่งช่วยเหลือ

สาเหตุที่ผู้ประกอบการลานมันไม่ต้องการรับซื้อหัวมันสำปะหลังในเขตพื้นที่ปลูกดังกล่าว เนื่องจากมันสำปะหลังมีเนื้อแป้งสีเหลืองฉ่ำน้ำ เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ เยื่อใยสูง โดยมาตรฐานการรับซื้อหัวมันสำปะหลังของลานมันที่ตั้งไว้ต้องมีแป้งไม่ต่ำกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทราบถึงปัญหา นายอำเภอตากฟ้า และพาณิชย์จังหวัด ได้ขอความร่วมมือให้ลานมันช่วยซื้อหัวมันสำปะหลังของเกษตรกรที่มีแป้งไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายหัวมันสำปะหลังได้ ด้วยราคาตันละ 900 บาท และราคาเพิ่มขึ้นลดลงตามเปอร์เซ็นต์แป้ง

นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้มอบหมายให้คณะนักวิชาการเกษตรของศูนย์ฯ เข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่และพันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรเรียกว่า ระยอง 90 ในพื้นที่ ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า พบว่า มีเปอร์เซ็นต์แป้งของหัวมันสำปะหลังที่ทำการสุ่มวัดสูงสุด 26 เปอร์เซ็นต์ และต่ำสุด 19.85 เปอร์เซ็นต์ โดยพันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูก มีเนื้อแป้งสีเหลือง ไส้กลวง ฉ่ำน้ำ หัวใหญ่ ผลผลิตดี ทนแล้ง ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง เก็บต้นไว้ทำพันธุ์ได้ดี ลักษณะดินที่ปลูกเป็นดินทราย และ ดินร่วนปนทราย ผลการตรวจสอบพันธุ์มันสำปะหลังโดยคณะนักวิชาการเกษตรจากศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง พบว่า พันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูกไม่ใช่พันธุ์ระยอง 90 แต่เป็นพันธุ์ที่นักวิชาการเกษตรได้เคยนำมาทำการทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกร ซึ่งมีลักษณะทางเกษตรบางอย่างไม่ดี จึงไม่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร แต่เกษตรกรชอบเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง หัวใหญ่ ทนแล้ง เก็บต้นไว้ทำพันธุ์ได้ดี จึงปลูกเก็บไว้ทำพันธุ์กันต่อมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี โดยลักษณะของพันธุ์ที่เกษตรกรเรียกว่าระยอง 90 เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับพันธุ์ระยอง 9 แต่เนื้อแป้งมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ไม่เป็นที่ต้องการของโรงแป้ง ประกอบกับการปฏิบัติดูแลรักษาในการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากดินที่ปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กก./ไร่ เท่านั้น ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินแต่อย่างไร

นายดาวรุ่ง คงเทียน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางในการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพแป้งของมันสำปะหลัง โดยแนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์ระยอง 9 ที่มีลักษณะของพันธุ์ใกล้เคียงกับพันธุ์เดิมที่เกษตรกรปลูก แต่มีเนื้อแป้งสีขาว ให้แป้ง 24 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝน และให้แป้ง 28-31 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูแล้ง ผลผลิตประมาณ 4.9 ตัน/ไร่ ดินที่ปลูกเป็นดินทราย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ จึงแนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-7-18 อัตรา 100 กก./ไร่ และเพื่อให้การผลิตมันสำปะหลังมีความยั่งยืน เกษตรกรควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 1-2 ตันไร่ หรือร่วมกับการไถกลบซากต้นใบมันสำปะหลังสด 3 ตัน/ไร่ หรือร่วมกับปุ๋ยคอก 500 กก./ไร่

เนื้อหา