4 มีนาคม 2554

ศวร.นครสวรรค์ ร่วมจัดนิทรรศการงานบึงบอระเพ็ดเกษตรแฟร์

เมื่อวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 54 จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกับ หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดงานบึงบอระเพ็ดเกษตรแฟร์ ณ บึงบอระเพ็ด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ โดยมี นายชัยโรจน์ มีแดง ผวจ.นครสวรรค์ เดินทางมาเปิดงาน ในส่วนของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ร่วมจัดนิทรรศการโดยได้นำเทคโนโลยี ด้านการจัดการศัตรูพืชในมันสำปะหลังโดยใช้แตนเบียน เทคโนโลยีด้านพันธุ์พืช ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นครสวรรค์ 3 ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 84-4 ฝ้ายตากฟ้า 3 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 9 และ ระยอง 11 และผลงานวิจัยด้านอื่นของกรมวิชาการเกษตรไปจัดแสดง เช่น การใช้ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซา ไส้เดือนฝอยกำจัดปลวก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงานเป็นอย่างดี









เตือนภัย การระบาดของไรแดงในมันสำปะหลัง

ไรแดง เป็นศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลัง ที่มักระบาดในฤดูแล้ง หรือ เมื่อฝนทิ้งช่วง โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้สูญเสียคลอโรฟิลล์ หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น ทำให้ผิวใบด้านบนเป็นจุดด่างประสีเหลืองซีด ยอดไหม้ ใบเหี่ยวแห้ง และร่วง หากเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดไรได้ทัน ก็จะสามารถยับยั้งการระบาดได้
ในสภาพธรรมชาติ แปลงมันสำปะหลังจะมีศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายแมลงศัตรูพืชอยู่มาก แต่ระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย จึงมีการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง ไรแดง และแมลงหวี่ขาว รุนแรงมากขึ้น

กรณีที่ไรแดงระบาดรุนแรง กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำชนิดและอัตราสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ดังนี้
- สาร pyridaben 20% WP อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ
- สาร fenbutatin oxide 55% SC อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือ
- สาร spiromesifen 24% SC อัตรา 6 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือ
- สาร tetradifon 7.25% EC อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
และที่สำคัญ การใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานสารฆ่าไร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา โทร.0 2579 4128

ภาพลักษณะการทำลายของไรแดง




ข้อมูล:กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

1 มีนาคม 2554

การประชุมแถลงผลงานวิจัยปี 53

เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เป็นประธานเปิดการประชุมแถลงผลงานวิจัยประจำปี ๒๕๕๓ เรื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฝ้าย และพืชเศรษฐกิจอื่น ณ ห้องประชุมอาคารเอนกประสงค์ ซึ่งจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๒ มีนาคม ๒๕๕๔ วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้าและสรุปผลการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิจัยด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น งานวิจัยปี ๒๕๕๓ ของศูนย์ฯ ที่นำเสนอมีจำนวน ๕๗ เรื่อง ภายใต้ ๑๑ โครงการวิจัย ครอบคลุมสาขาปรับปรุงพันธุ์พืช เขตกรรม ดินปุ๋ย อารักขาพืช และ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช นอกจากนี้ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ศูนย์ฯ ได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ ทองศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ในการบรรยายพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดี




ศวร.นครสวรรค์ ร่วมกิจกรรมกีฬาสามัคคี 6 หน่วยงาน

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 54 ศุนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ร่วมการแข่งขันกีฬา 6 หน่วยงาน ณ สนามกีฬาโรงเรียนตากฟ้าวิชาประสิทธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสามัคคี

เนื้อหา