4 มีนาคม 2554

เตือนภัย การระบาดของไรแดงในมันสำปะหลัง

ไรแดง เป็นศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลัง ที่มักระบาดในฤดูแล้ง หรือ เมื่อฝนทิ้งช่วง โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้สูญเสียคลอโรฟิลล์ หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น ทำให้ผิวใบด้านบนเป็นจุดด่างประสีเหลืองซีด ยอดไหม้ ใบเหี่ยวแห้ง และร่วง หากเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดไรได้ทัน ก็จะสามารถยับยั้งการระบาดได้
ในสภาพธรรมชาติ แปลงมันสำปะหลังจะมีศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายแมลงศัตรูพืชอยู่มาก แต่ระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย จึงมีการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง ไรแดง และแมลงหวี่ขาว รุนแรงมากขึ้น

กรณีที่ไรแดงระบาดรุนแรง กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำชนิดและอัตราสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ดังนี้
- สาร pyridaben 20% WP อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ
- สาร fenbutatin oxide 55% SC อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือ
- สาร spiromesifen 24% SC อัตรา 6 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือ
- สาร tetradifon 7.25% EC อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
และที่สำคัญ การใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานสารฆ่าไร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา โทร.0 2579 4128

ภาพลักษณะการทำลายของไรแดง




ข้อมูล:กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา