22 เมษายน 2552

เตือนภัย... การระบาดของเพลี้ยแป้ง

นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในช่วงฤดูแล้ง พบการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในมันสำปะหลังต้นโตที่ยังไม่มีการเก็บเกี่ยว สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดได้แก่สภาพที่อากาศแห้งแล้ง หากฝนยังทิ้งช่วงต่อไปอาจมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งเข้าทำลายมันสำปะหลังที่ปลูกใหม่ ตลอดจนพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด งา เพลี้ยแป้งเป็นแมลงจำพวกปากดูด จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด ตา ทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีข้อถี่ ใบแตกพุ่ม ยอดเป็นกระจุก ต้นแห้งตาย ถ้าเข้าทำลายขณะมันสำปะหลังยังเล็กจะมีผลต่อการลงหัว
นางสาวศิวิไล ลาภบรรจบ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เปิดเผยถึงแนวทางในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง ว่า ในมันสำปะหลังต้นโตที่มีการระบาดให้เกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายไปยังแปลงอื่น จากนั้นทำความสะอาดแปลง เก็บเศษซากพืชออกหลังเก็บเกี่ยว ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบเพลี้ยแป้งระบาด สำหรับแปลงที่ปลูกใหม่หากพบการทำลายของเพลี้ยแป้ง ให้ถอนต้นหรือตัดส่วนที่พบเพลี้ยแป้งมากๆ ใส่ถุง แล้วเผาทำลายนอกแปลง หากมีการระบาดในวงกว้างและจำเป็นต้องใช้สารเคมี ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงไทอะมีโทแซม 25% ดับเบิลยูจี หรือโปรไทโอฟอส 50% อีซี อัตรา 4 กรัม หรือ 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งดังกล่าวลดอัตราลงครึ่งหนึ่งผสมกับไวท์ออยล์ อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร โดยผสมไวท์ออยล์ในน้ำเพียงเล็กน้อยใช้ไม้กวนให้เข้ากัน เติมสารฆ่าแมลงแล้วเติมน้ำให้ครบที่กำหนด


เนื้อหา