6 มีนาคม 2561

การจัดการวันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวน บางปีฝนมักจะมาล่าช้ากว่าปกติ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 98% ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน เมื่อกระทบแล้งย่อมมีผลต่อการให้ผลผลิตซึ่งความเสียหายขึ้นกับระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพดในช่วงที่ขาดน้ำ

เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดที่ปลูกต้นฤดูฝน  มักได้รับความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน   โดยเฉพาะหากฝนทิ้งช่วงขณะข้าวโพดอยู่ในระยะออกดอกและสะสมน้ำหนักเมล็ด (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) จะเกิดความเสียหายมาก


ข้าวโพดที่ปลูกต้นฤดูฝน ปี 2557 (ปลูกต้นเดือนพฤษภาคม) ณ บ้านซับตะเคียน ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ได้รับความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ช่วงข้าวโพดอยู่ในระยะออกดอกและสะสมน้ำหนักเมล็ด

ปี 2562 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ผลของการขาดน้ำในแต่ละระยะการเจริญเติบโต
Arnon (1974)  พบว่า
  • หากข้าวโพดขาดน้ำในช่วงระยะเจริญเติบโตทางลำต้นและใบก่อนที่จะออกดอกตัวผู้  ผลผลิตจะลดลง 25 %
  • หากข้าวโพดขาดน้ำในช่วงตั้งแต่ออกดอกตัวผู้  จนกระทั่งเริ่มสร้างเมล็ด  ผลผลิตจะลดลง 50 %
  • หากข้าวโพดขาดน้ำในช่วงหลังจากระยะสร้างเมล็ดสมบูรณ์ ผลผลิตจะลดลง 21 %
Grudloyma et al. (2005) รายงานว่า
  • หากข้าวโพดขาดน้ำในช่วงออกดอก  เป็นระยะเวลานาน 2 สัปดาห์ ผลผลิตจะลดลง 53 %

“ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในช่วงวันปลูกที่เหมาะสม สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ”

วิเคราะห์ช่วงวันปลูกที่เหมาะสมเพื่อวางแผนการผลิตได้อย่างไร ?
 ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์และการคำนวณ
  • ค่าสัมประสิทธิ์พืช (Kc) ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (1)
  • ข้อมูลสภาพภูมิอากาศในแหล่งปลูก (2)
  • คำนวณปริมาณการใช้น้ำของพืชโดยอาศัยข้อมูลภูมิอากาศ (3)
ปริมาณการใช้น้ำของข้าวโพดในแต่ระยะการเจริญเติบโต

กรณีศึกษา : การวิเคราะห์ช่วงวันปลูกที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จากข้อมูลน้ำฝนและปริมาณความต้องการน้ำของข้าวโพดในแต่ละระยะการเจริญเติบโต






คำแนะนำช่วงวันปลูกที่เหมาะสมในพื้นที่ จ.นครสวรรค์
ปลูกปลายฤดูฝน (ปลายเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม)
ข้าวโพดได้รับน้ำฝนเพียงพอแก่ความต้องการตลอดฤดูปลูก แต่ให้ระวังน้ำท่วมขัง ควรทำร่องระบายน้ำ และระวังต้น  หักล้ม  เนื่องจากพายุลมแรง ควรเลือกใช้พันธุ์ที่มีลำต้นแข็งแรง

ปลูกต้นฤดูฝน
มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคมและปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอตลอดฤดูปลูก ส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตอย่างรุนแรง  กรณีที่ี่ฝนทิ้งช่วงยาวนานอาจต้องไถทิ้งและปลูกใหม่


(1) ส่วนการใช้น้ำชลประทาน สำนักอุทุกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน (2554)
(2) สถานีอุตุนิยมวิทยานครสวรรค์ (ตากฟ้า)
(3) Blaney-Criddle (FAO, 1992)

เอกสารอ้างอิง
Arnon, L.  1974.  Mineral Nutrition on Maize.  International Potash Institute. Werder AG, Switzerland, 452 P.
Grudloyma, P., N. Kumlar, and S. Prasitwatanaseri.  2005. Performance of Promising Tropical
Late Yellow Maize Hybrids under Drought and Low Nitrogen Conditions. Pages 112116. In : Maize Adaptation to Marginal Environments. March 6-9, 2005, Pak Chong, Nakhon Ratchasima, Thailand

แหล่งข้อมูล : ดร.ศุภกาญจน์ ล้วนมณี (2559) ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์  สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  เป็นพืชไร่ที่มีศักยภาพที่จะปลูกในพื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี  เนื่องจากมีอายุสั้น  ประมาณ 100-110 วัน  ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา ช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูในนาข้าว

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ

การเลือกพื้นที่ปลูก
ควรเลือกพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลปลูก หลีกเลี่ยงพื้นที่ ราบลุ่มต่ำและระบายน้ำยาก

วันปลูก
ควรกำหนดวันปลูกข้าวโดยการกำหนดวันปลูกข้าวโพดไว้ล่วงหน้า เช่น หากต้องการปลูกข้าวโพดในเดือนตุลาคม    จะต้องปลูกข้าวในเดือนมิถุนายน  หรือ  ถ้าปลูกล่าช้า  เกษตรกรจะต้องเก็บเกี่ยวข้าวให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน  หากเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม  จะทำให้ปลูกข้าวโพดล่าช้าถึงเดือนมกราคม  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวโพด

วันปลูกที่เหมาะสมของข้าวโพดในฤดูแล้ง คือ เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ซึ่งหากปลูกได้เร็วจะทำให้ต้นข้าวโพดมีการเจริญเติบโตดี  และระยะออกดอกไม่ตรงกับช่วงที่อุณหภูมิสูง การปลูกข้าวโพดในช่วงนี้ ในปีที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ จะทำให้ข้าวโพดงอกช้ากว่าปกติ  หรือแสดงอาการใบสีม่วงคล้ายขาดปุ๋ยฟอสฟอรัสในระยะต้นกล้า

อุณหภูมิต่ำระยะกล้า ทำให้ข้าวโพดมีอาการใบม่วง 


การเลือกเมล็ดพันธุ์
เลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี มีความงอกมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และมีความแข็งแรงสูง  เนื่องจากการปลูกข้าวโพดฤดูแล้ง   อาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่หลังเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งมีค่อนข้างจำกัด

ลักษณะดิน
ดินนาที่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ได้แก่  ดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนทราย  เนื่องจากมีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร

ควรหลีกเลี่ยง การปลูกข้าวโพดในดินนาที่เป็นดินเหนียวจัด เนื่องจากระบายน้ำไม่ดี และหลีกเลี่ยงดินกรดถึงกรดจัด (pH ต่ำกว่า 5.0)

วิธีการเตรียมดิน
- ไถดะ  โดยใช้รถไถผาล 7 หรือ รถไถเดินตาม  หลังเก็บเกี่ยวข้าวพร้อมคราดเพื่อย่อยดินและเก็บความชื้น  ทิ้งแปลงตากแดดไว้ 5-7  วัน เพื่อกำจัดวัชพืช  จากนั้นไถแปรพร้อมกับคราด 2-3 ครั้ง  เพื่อเก็บความชื้นและย่อยดินให้ร่วนซุย

- พื้นที่นาที่พื้นดินไม่สม่ำเสมอ  ต้องปรับพื้นที่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ไม่มีแอ่ง หรือส่วนที่เป็นโคกและที่ดอน  เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำออกจากแปลง



- ควรทำร่องส่งน้ำเข้าแปลงและร่องระบายน้ำออกจากแปลงรอบๆ แปลงนา แปลงนาที่มีขนาดใหญ่หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 3-5 ไร่ขึ้นไป ควรทำร่องส่งน้ำและระบายน้ำกลางแปลงเพิ่มเติมทุกๆ  20-40 แถว  โดยทิศทางของร่องให้ขนานกับแถวปลูกเพื่อส่งน้ำเข้าแปลงได้อย่างทั่วถึง

 

วิธีการปลูก
- การปลูกแบบเป็นแถว โดยใช้รถไถเดินตามขนาดเล็ก พร้อมกับการใส่ปุ๋ยรองพื้น ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ ระยะระหว่างแถว 70-75 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร จำนวน 1 ต้นต่อหลุม

- อัตราเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม คือ 2.5-3.0 กิโลกรัมต่อไร่ หากจำเป็นต้องมีการปลูกซ่อม ควรปลูกซ่อมในช่วง 7-10 วันหลังปลูก

การใส่ปุ๋ย
1. การใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้น  ควรใช้ตามค่าวิเคราะห์ดิน  สูตร 15-15-15  16-16-8  16-8-8 หรือ 20-10-5 เป็นต้น  การปลูกโดยใช้เครื่องปลูก ใส่ปุ๋ยพร้อมปลูก

   2. การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 และพูนโคน   เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 3 สัปดาห์หลังปลูก โดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร  46-0-0  อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวปลูก  แล้วพูนโคนกลบ

   3. การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดเริ่มออกช่อดอกตัวผู้และออกไหม โดยใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0  อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างร่องน้ำ หลังจากให้น้ำแล้ว




การให้น้ำ
การปลูกข้าวโพดโดยอาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่หลังเก็บเกี่ยวข้าว  ควรมีการตรวจสอบความชื้นของดินหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว 
  • หากความชื้นของดินไม่เพียงพอสำหรับการงอกและการเจริญเติบโตในระยะแรก (1-2 สัปดาห์) ควรมีการให้น้ำก่อนปลูก โดยไถดะพร้อมกับปล่อยน้ำเข้าแปลงนา ทิ้งไว้จนความชื้นพอเหมาะสำหรับการไถพรวน
  • แต่ถ้าดินมีความชื้นเพียงพอ ให้ไถดะพร้อมคราดเพื่อเก็บรักษาความชื้น
ควรให้น้ำครั้งแรกหลังจากการพรวนดินพูนโคน เมื่อข้าวโพดอายุได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้น   อาจจะสังเกตอาการเหี่ยวชั่วคราวของใบข้าวโพดที่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายในการให้น้ำครั้งแรกและครั้งต่อไป หลังจากนั้นให้น้ำอีกประมาณ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของดินและสภาพภูมิอากาศ


ข้อควรระวังในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา
1. หลีกเลี่ยงพื้นที่ราบลุ่มต่ำ และน้ำท่วมขัง
2. ไถเตรียมดินเมื่อความชื้นพอเหมาะโดยเฉพาะดินเหนียว   หากไถในสภาพที่ดินมีความชื้นสูง  จะทำให้ดินเป็นก้อนโต   หากไถดินในสภาพที่ดินแห้งเกินไป จะทำให้ไถเตรียมดินยาก และไถได้ไม่ลึก
3. หลีกเลี่ยงดินเหนียวถึงเหนียวจัด ระบายน้ำไม่ดี  และหลีกเลี่ยงดินกรดถึงกรดจัด 
4. ไม่ควรปลูกหลังเดือนธันวาคม จะทำให้ผลผลิตต่ำ
 5. อย่าให้ขาดน้ำในระยะออกดอก ซึ่งเป็นระยะวิกฤตของพืช จะทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก หรือให้น้ำมากเกินไปในระยะแรกจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง
 6. เมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

ที่มา:
ดร.สมชาย บุญประดับ เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพ เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตรระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นหลัก 15 กุมภาพันธุ์ -10 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมบ้านสวนรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จัดทำโดย สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

เนื้อหา