26 กรกฎาคม 2554

เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ตากฟ้า...อธิบดีกรมวิชาการเกษตรปลูกต้นไม้ถวายในหลวง

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 นายจิรากร โกสัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายดำรง จิระสุทัศน์ และ นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงานของกรมวิชาการเกษตรปลูกต้นไม้ ในโครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 พร้อมทั้งมอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนที่ร่วมปลูกต้นไม้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ เป้าหมายในการปลูกต้นไม้ของโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 99,999 ต้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2554 สิ้นสุด วันที่ 31 ธันวาคม 2554 พื้นที่ดำเนินการได้แก่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรทุกหน่วยงานในส่วนภูมิภาคและพื้นที่ของชุมชน วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน รวมทั้งอนุรักษ์พันธุ์ไม้ไทยให้คงอยู่สืบไป


พ่อเมืองนครสวรรค์นำปลูกฝ้ายจุลกฐิน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยนางอมรรัตน์ มีแดง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในพิธีปลูกฝ้ายประเพณีมหาบุญจุลกฐิน ประจำปี 2554 ณ แปลงปลูกฝ้ายวัดประชาสรรค์ ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า โดยมีนายมานิต อนรรฆมาศ นายอำเภอตากฟ้า กล่าวรายงาน ซึ่งงานจุลกฐินนี้อำเภอตากฟ้าร่วมกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และพ่อค้าประชาชน จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนาให้เป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอตากฟ้าเป็นประจำทุกปี ปีนี้ได้กำหนดจัดงานจุลกฐินทอดถวายวัดประชาสรรค์ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2554
ในการนี้ นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 4 ซึ่งเป็นฝ้ายพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร เพื่อใช้ในพิธีปลูก และให้คำแนะนำในการดูแลรักษาต้นฝ้ายตลอดฤดูปลูกเพื่อให้ได้ปุยฝ้ายสำหรับทอและตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวรใช้ในงานจุลกฐินต่อไป พร้อมกันนี้ได้นำข้าราชการร่วมปลูกฝ้ายโดยพร้อมเพรียงกัน

1 กรกฎาคม 2554

ปลูกข้าวโพดต่อเนื่องทั้งปี มีปัญหาโรคระบาด

การปลูกพืชชนิดเดียว ต่อเนื่องกัน ไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดใดตาม โดยไม่มีการปลูกพืชอื่นสลับ นานเข้าทำให้มีปัญหาการระบาดของโรคพืชที่ยากต่อการป้องกันหรือกำจัด ในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เกษตรกรสามารถขุดเจาะบ่อบาดาล ทำให้สามารถปลูกพืชได้ทั้งปีโดยไม่อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ที่ตำบลพุกร่าง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาการระบาดของโรค เกษตรกรจะปลูกข้าวโพดหวานติดต่อกันทั้งปี ในพื้นที่เราสามารถพบต้นข้าวโพดที่อายุต่างๆ กัน ทั้งข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

โดยธรรมชาติข้าวโพดหวานมักจะอ่อนแอต่อโรค เช่น โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบไหม้แผลใหญ่ ในพื้นที่นั้นจึงมีข้าวโพดเป็นโรคราน้ำค้าง บางแปลงเป็นโรคใบไหม้แผลใหญ่ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อ (source of inoculum) ไปสู่ต้นข้าวโพดที่ปลูกใหม่ได้เป็นอย่างดี จึงเกิดปัญหาการระบาดทั้งในข้าวโพดหวาน รวมทั้งในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแหล่งปลูกเดียวกับข้าวโพดหวานที่มีการปลูกติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้มีการสะสมและมีแหล่งของเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดได้ตลอดเวลา จึงพบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นโรคราน้ำค้างเกินร้อยละห้าสิบ โดยเฉพาะหากเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์อ่อนแอต่อโรคจะไม่สามารถให้ผลผลิต แม้ว่าเกษตรกรมีการตัดต้นเป็นโรคในแปลงของตนออก แต่เชื้อสามารถแพร่ระบาดมาจากไร่ของเกษตรกรรายอื่นได้ การป้องกันกำจัดโดยการคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา และการตัดต้นเป็นโรคออก จึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาการระบาดของโรคในพื้นที่ได้ การปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรของโรค ร่วมกับการเลือกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ต้านทาน เป็นทางออกหนึ่งที่จะลดความเสียหายจากการระบาดของโรค

เนื้อหา