20 พฤษภาคม 2553

ข้อจำกัดของการปลูกมันสำปะหลังในดินด่าง

พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้เพิ่มมากขึ้น บางครั้งเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังโดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของมันสำปะหลัง
ดินที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง พบทั่วไปในหลายจังหวัด รวมเนื้อที่ทั้งหมดกว่าล้านไร่ โดย 85 เปอร์เซ็นต์กระจายอยู่ในสี่จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ปราจีนบุรี กาญจนบุรี และลพบุรี

ดินด่างเกิดจากการสลายตัวของหินปูนและหินอัคนีเนื้อละเอียด และเกิดจากมาร์ล เป็นดินตื้นถึงตื้นมาก มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง พบเศษหินปูนหรือก้อนปูนปะปนอยู่กับเนื้อดิน และเป็นชิ้นหนา ยากในการที่รากพืชจะชอนไชไปหาอาหาร
ดินที่มีความเป็นด่างจัด ทำให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชบางชนิดถูกตรึงอยู่ในรูปที่ไม่ละลายมาเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส และจุลธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง สังกะสี และโบรอน

มันสำปะหลังพันธุ์ที่ไม่ทนต่อดินด่างจะแสดงอาการใบเหลืองซีด ใบไหม้ แคระแกรน ทรงพุ่มเล็ก ต้นตาย จำนวนต้นต่อพื้นที่ลดลง ต้นมันสำปะหลังที่เหลืออยู่ไม่สามารถแข่งขันกับวัชพืชที่ขึ้นอย่างหนาแน่นได้ การกำจัดวัชพืชต้องทำบ่อยครั้งขึ้น ไม่คุ้มกับผลผลิตที่จะได้

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรยังต้องการปลูกมันสำปะหลังในดินด่าง ควรเลือกดินที่มีหน้าดินหนากว่า 15 ซ.ม. ไม่มีก้อนปูนหรือเศษหินปะปนอยู่มาก มีการใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการเพิ่มผลผลิตหัวสด

การปรับปรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อเพาะปลูกไปนาน ๆ ความอุดมสมบูรณ์ย่อมลดลง ควรมีการปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ปอเทือง นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยให้ดินร่วนซุยมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อลดความเสียหายของผลผลิต เกษตรกรควรพิจารณาเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่เป็นด่างมาปลูก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โทร. 0-5624-1019
ข้อมูลดิน: กรมพัฒนาที่ดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา