31 ตุลาคม 2561

แมลงหวี่ขาวยาสูบ พาหะโรคใบด่างมันสำปะหลัง

แมลงหวี่ขาวยาสูบ
🔹ชื่อสามัญ Tobacco whitefly
🔸ชื่อวิทยาศาสตร์ Bemisia tabaci (Gennadius)
🔹อันดับ Hemiptera วงศ์ Aleyrodidae

ตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบมีขนาดความยาว 1 มม. ปีกสีขาวและลำตัวสีเหลืองอ่อน มักพบเกาะตามใต้ใบมันสำปะหลัง วางไข่และฟักเป็นตัวอ่อนพัฒนาเป็นดักแด้และตัวเต็มวัย จนครบวงจรชีวิต หนึ่งรอบวงจรชีวิตใช้เวลาประมาณ 30 - 40 วัน ในหนึ่งปีมี 10 - 12 รุ่น เพศเมีย 1 ตัววางไข่ได้เฉลี่ย 200 ฟอง ตัวเต็มวัยเคลื่อนที่ด้วยการบิน แมลงหวี่ขาวยาสูบสามารถบินได้เป็นระยะทางประมาณ 2 - 7 กิโลเมตร/วัน ขึ้นกับแรงลม

การป้องกันกำจัด
- การใช้สารฆ่าแมลง พ่นด้วย
อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 4)
หรือ บูโพรเฟซีน 40% SC อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร  (กลุ่ม 16)
- การใช้ชีววิธี
แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าตัวห้ำ มวนโอเรียส (Orius sp.) แตนเบียนเอ็นคาเซีย (Encarsia sp.)
- การเขตกรรม
ทำความสะอาดแปลงและบริเวณรอบๆแปลงเพื่อไม่ให้มีแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
ฝังกลบเศษซากพืชที่ตกค้างในแปลงหรือต้นที่เป็นโรคในหลุมลึกเพื่อไม่ให้ต้นงอกออกมาเป็นแหล่งของไวรัสในแปลงปลูก
พืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
แมลงหวี่ขาวยาสูบมีพืชอาศัยมากกว่า 900 ชนิด เช่น ละหุ่ง สบู่ดำ หม่อน พืชผักสวนครัว พืชวงศ์ถั่ว วงศ์แตง วงศ์มะเขือ และวัชพืชอีกหลายชนิด

การตรวจติดตามโรคใบด่างมันสำปะหลังและแมลงพาหะ หลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้ว
หมั่นสังเกตดูยอดอ่อนและใบมันสำปะหลังทุกสัปดาห์ว่ามีอาการของโรคหรือไม่
ตรวจดูใต้ใบว่ามีไข่ ตัวอ่อน หรือตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบหรือไม่
หากพบแมลงหวี่ขาวยาสูบ 5 - 20 ตัว บนพืช 10-20 ต้นต่อแปลง #ให้ดำเนินการป้องกันกำจัดทันที

ข้อควรรู้
แมลงหวี่ขาวยาสูบจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแปลงที่มีพืชอาศัยต่างๆ ตลอดทั้งปี หากในแปลงมีต้นที่เป็นโรคเพียงต้นเดียวแมลงหวี่ขาวยาสูบสามารถแพร่กระจายโรคไปยังต้นอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคระบาดเป็นวงกว้าง 
ดังนั้นการสำรวจติดตามและป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
02-5799588 หรือ 02-5798516

ข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร

เนื้อหา