17 มกราคม 2554

หยุดเผาอ้อย รักษาคุณภาพ ลดโลกร้อน

สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานและความต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อย ชาวไร่อ้อยจึงเลือกใช้แนวทางการเผาอ้อยก่อนตัดซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีการผลิต 2553/54 คิดเป็น 61.07 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณอ้อย 21.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของฤดูการผลิตที่ผ่านมา ซึ่งโดยเฉลี่ยมีอ้อยไฟไหม้ 60.70 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณอ้อย 19.28 ล้านตัน ภาคที่มีปริมาณอ้อยไฟไหม้มากที่สุด คือ ภาคเหนือ มีสัดส่วนสูงถึง 73.89 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นภาคตะวันออก 69.06 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลาง 64.16 เปอร์เซ็นต์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50.69 เปอร์เซ็นต์

การเผาอ้อยก่อนตัดทำให้สูญเสียน้ำหนักและคุณภาพความหวาน ซึ่งหากตัดทิ้งไว้ในไร่นาน ๆ คุณภาพความหวานจะยิ่งลดต่ำลง และยังถูกตัดราคาตามประกาศของโรงงานและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนมาก เพราะอ้อยเผาจะมีน้ำตาลเยิ้มออกมาที่ลำอ้อยหากตัดวางสัมผัสกับพื้นดินก็จะมีเศษหิน ดิน ทราย ปนเข้ามา ทำให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงอย่างมาก อีกทั้งยังสร้างความเสียหายแก่เครื่องจักรในขบวนการผลิตน้ำตาล

การเผาอ้อยยังทำให้ความอุดมสมบรูณ์ของดินและโครงสร้างของดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นเพราะไม่มีเศษซากอ้อยต่าง ๆ คลุมดิน เกิดวัชพืชขึ้นง่าย ส่งผลต่อต้นทุนการกำจัดวัชพืช
อีกทั้งการเผาจะทำให้ตออ้อยถูกทำลาย อ้อยงอกช้ากว่าปกติหรืออาจไม่งอก การเจริญเติบโตช้า ไว้ตอไม่ดี

การเผาอ้อยยังทำลายแมลงที่มีประโยชน์ที่ช่วยควบคุมและกำจัดแมลงศัตรู เกิดการระบาดของแมลงศัตรูอ้อยได้ง่าย เช่น หนอนกอ

ตลอดจนส่งผลต่อตลาดน้ำตาลเนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วอาจจะนำมาเป็นข้ออ้างงดซื้อน้ำตาลจากประเทศไทยได้ เนื่องจากการเผาอ้อยก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์กระจายสู่บรรยากาศ ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ส่งผลให้อุณหภูมิบริเวณผิวโลกสูงขึ้น หรือการเกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งหลาย ๆ ท่านคงได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ผลกระทบดังกล่าวทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายเร็วขึ้นส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก ดังเช่น การเกิดสภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม พายุถล่ม และสภาพอากาศหนาวอย่างผิดปกติ

ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต และสร้างแรงจูงใจ รณรงค์ลดการเผาอ้อย เพื่อลดความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระยะยาวต่อไป อีกทั้งร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลาน ลดโลกร้อน ด้วยการการตัดอ้อยสด ไม่เผาอ้อยให้เกิดมลพิษทางอากาศ และเป็นการรักษาความอุดมสมบรูณ์ของดินอีกด้วย

เรียบเรียง : สุทัศนีย์ วงศ์ศุปไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา