26 พฤษภาคม 2551

พิษของสารกำจัดวัชพืชบางชนิดต่อมันสำปะหลัง

โดย ศิวิไล ลาภบรรจบ

การปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชจากแหล่งที่มีการพ่นสารไปสู่พื้นที่ข้างเคียง ที่พบเป็นปัญหามากเป็นการปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชจากไร่อ้อย และจากการใช้สารกำจัดวัชพืชในไร่ข้าวโพด แล้วปลิวไปสู่แปลงที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดปัญหากับพืชใบกว้างชนิดอื่นๆ มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ได้รับผลกระทบ และได้รับความเสียหายมาก

สารกำจัดวัชพืชที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่อมันสำปะหลังและพืชใบกว้างชนิดอื่น และมีผลต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง มีดังต่อไปนี้

2,4-ดี
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ทำให้มันสำปะหลังใบยอดไม่เจริญ ใบเหลือง ใบไหม้ กิ่งบวม กิ่งแตก ยอดแห้งตาย ระดับความเสียหายขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ อาการผิดปกติในมันสำปะหลังที่มีรูปแบบจำเพาะ (Typical symptom) ที่เป็นผลมาจาก 2,4-ดี และสารกำจัดวัชพืชในกลุ่ม growth regulator คือ ก้านใบบิดทำให้ใบพลิกหงายขึ้น มุมระหว่างก้านใบกับลำต้นแคบลงกว่าปกติทำให้ก้านใบลู่ลงเกือบแนบลำต้น ส่วนยอดโค้ง กิ่งบวม และมีรอยแตกตามยาวลำต้น


ภาพที่ 1 : (2,4-ดี) ทำให้ยอดบิด โค้งงอ



ภาพที่ 2: (2,4-ดี) ใบยอดไม่คลี่


ภาพที่ 3: (2,4-ดี) ใบเหลือง ใบไหม้ ร่วง ก้านใบลู่ลง


ภาพที่ 4: (2,4-ดี) ยอดไหม้ กิ่งบวม มีรอยแตกตามยาวของกิ่ง หรือลำต้น

อามีทริน
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง จนถึงใบไหม้ โดยอาการเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ ถ้าได้รับสารปริมาณมากทำให้ใบไหม้เป็นสีน้ำตาลแดง ต้นตายได้ มันสำปะหลังจะอ่อนแอต่อสารอามีทรินในระยะที่แตกใบหลังงอกจนอายุประมาณสองถึงสามเดือน มันสำปะหลังต้นโตหากได้รับละอองสารในปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้ ใบร่วงทั้งต้น แต่สามารถแตกใบใหม่ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน ดินที่มีละอองสารอามีทรีนปกคลุมอยู่ในปริมาณมาก เมื่อฝนตกลงมาสารจะซึมลงดิน รากจะดูดซึมขึ้นมา ทำให้มันสำปะหลังเกิดอาการใบไหม้โดยเริ่มจากใบล่างขึ้นมาใบบน


ภาพที่ 5 (อามีทริน) ทำให้ใบเหลืองซีด


ภาพที่ 6 : (อามีทริน) ถ้ามันสำปะหลังได้รับสารปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้จากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ



ภาพที่ 7: (อามีทริน) มันสำปะหลังได้รับสารอามีทรินในปริมาณมาก ทำให้ใบไหม้

อทราซีน
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
มีผลทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง จนถึงใบไหม้ โดยอาการเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาเส้นกลางใบ ถ้าได้รับปริมาณมากจะทำให้ใบไหม้ ต้นตาย มันสำปะหลังจะอ่อนแอต่อสารอทราซีนในระยะที่แตกใบหลังงอกจนอายุประมาณสองถึงสามเดือน


ภาพที่ 8: (อทราซีน) ทำให้ใบมันสำปะหลังเหลืองซีด ถ้าได้รับปริมาณมากทำให้ใบไหม้ ลักษณะคล้ายกับอาการที่เกิดจากการได้รับสารอามีทริน

ไกลโฟเซท
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
ต้นมันสำปะหลังที่ได้รับสาร ทำให้ใบมีขนาดเล็กลงมาก แผ่นใบแต่ละหยักจะแคบลง มีลักษณะเรียวเล็กเป็นเส้น และบิด ต้นแคระแกร็น โตไม่ทันต้นอื่น


ภาพที่ 9: (ไกลโฟเซท) ทำให้ใบเรียวเล็ก คล้ายเชือก


ภาพที่ 10: (ไกลโฟเซท) ต้นมันสำปะหลังแคระแกร็น (ต้นด้านซ้ายมือ) โตไม่ทันต้นอื่น


ภาพที่ 11 (ไกลโฟเซท) หยักใบเรียวเล็ก

พาราควอท
ความเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง
การได้รับสารพาราควอทในอัตราเข้มข้น มีผลทำให้มันสำปะหลังเกิดจุดตาย (necrotic) บนใบ หากพ่นโดนส่วนยอดเจริญทำให้ยอดและใบแห้งตาย การใช้สารพาราควอทในไร่มันสำปะหลังควรพ่นเมื่อลมสงบ กดหัวพ่นให้ต่ำ การใช้เครื่องพ่นแบบแรงดันมีผลทำให้สารฟุ้งกระจายสัมผัสส่วนต่างๆ ของพืชได้มาก


ภาพที่ 12 (พาราควอท) การใช้พาราควอทในไร่เกษตรกรโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม ในขณะทีลมแรง ทำให้มันสำปะหลังใบแห้งตาย



ภาพที่ 13 (พาราควอท) ส่วนของพืชที่ได้รับสารแสดงอาการไหม้


ภาพที่ 14 (พาราควอท) มันสำปะหลังกำลังแตกยอดใหม่ จากส่วนโคนของกิ่งที่แห้งตาย

1 ความคิดเห็น:

เนื้อหา