1 พฤษภาคม 2551

บั่ว...แมลงศัตรูข้าว

ข้าวนาปีที่ปลูกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักเกิดการระบาดของแมลงบั่วช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวกำลังแตกกอเต็มที่ และสภาพอากาศมีความชื้นสูง เหมาะแก่การฟักไข่เป็นตัวหนอนของแมลงบั่ว โดยหนอนจะเข้ากัดกินยอดเจริญของข้าว ทำให้ข้าวแตกกอเป็นกอข้าวที่เป็นหลอดคล้ายหลอดหอมจำนวนมากแต่ไม่ให้รวงข้าว เกษตรกรจึงเก็บผลผลิตไม่ได้ ทำความเสียหายและสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรจำนวนไม่น้อยในแต่ละปีที่มีการระบาด
แหล่งระบาด
แมลงบั่วที่เป็นสาเหตุของปัญหา เป็นแมลงศัตรูข้าวที่เกิดระบาดเฉพาะบางประเทศในทวีปเอเชีย เช่น อินโดนีเชีย ศรีลังกา อินเดีย และไทย สำหรับการระบาดของประเทศไทยมักเกิดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระบาดในภาคกลางและภาคตะวันออกบ้างเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหมาะต่อการเพิ่มปริมาณของแมลงบั่ว ที่ต้องการความชื้นสูง และมีพื้นที่เป็นเขาหรือเชิงเขาล้อมรอบ แมลงบั่วจึงมักระบาดในช่วงฤดูฝนและจะระบาดในช่วงที่ข้าวกำลังแตกกอ

ลักษณะของบั่ว
ลักษณะโดยทั่วไปของแมลงบั่ว ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายยุงแต่ลำตัวมีสีส้ม ยาวประมาณ 3- 4 มิลลิเมตร หนวดและขามีสีดำไข่มีลักษณะคล้ายกล้วยหอม สีชมพูอ่อน ยาวประมาณ 0.45 มิลลิเมตร
ระยะไข่ประมาณ 3-4 วัน ระยะตัวเต็มวัยนาน 2-3 วัน ระยะที่ทำให้ข้าวกลายเป็นหลอดหอมนั้นเป็นระยะตัวหนอนที่ข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนไว้ และฤดูหนึ่ง ๆ แมลงบั่วสามารถขยายพันธุ์ได้ 6-7 ชั่วอายุที่ 2, 3 และ 4 จะเป็นชั่วอายุที่สามารถทำความเสียให้ข้าวได้มากที่สุด
วิธีการป้องกันกำจัด
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของแมลงบั่ว ดร. เฉลิม สินธุเสก นักกีฎวิทยา 8 ว สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำไว้ว่า ปกติแมลงบั่วจะไม่ค่อยระบาดในฤดูแล้ง เพราะสภาพอากาศไม่เหมาะที่แมลงบั่วจะฟักไข่เป็นตัวหนอน ช่วงที่จะเกิดการระบาดคือช่วงฤดูฝน ที่สภาพอากาศมีเมฆฝนและแดดอ่อน ๆ เกษตรกรควรจะเฝ้าระวังในช่วงนี้โดยการสังเกตแมลงที่มาเล่นแสงไฟตอนกลางคืนว่า มีลักษณะคล้ายยุง แต่มีลำตัวเป็นสีส้มหรือไม่ เพราะนั่นเป็นตัวเต็มวัยของแมลงบั่ว ให้เกษตรกรกำจัดโดยใช้กับดักไฟหรือใช้วิธีอื่น ๆ จะช่วยลดปริมาณของแมลงบั่วบ้าง และควรปฎิบัติร่วมกับแนวทางการป้องกัน ดังนี้

  • กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของแมลงบั่ว เช่น ข่าวป่า หญ้าไซ หญ้าปล้อง เป็นต้น
  • ใช้วิธีเขตกรรมร่วมด้วย โดยการเลื่อนระยะเวลาการปลูกหรือปักดำ เป็นช่วงต้น ๆ ของฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน เพื่อให้ข้าวแตกกอเต็มที่ก่อนเดือนกันยายน เพราะหลังข้าวแตกกอเต็มที่แล้ว แมลงบั่วจะไม่เข้าทำลายข้าว
  • การหว่านหรือปักดำ ไม่ควรหว่านหรือปักดำถี่จนข้าวขึ้นแน่นเพราะจะทำให้ความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการฟักของไข่และการเจริญเติบโตของหนอนแมลงบั่ว
  • ดร. เฉลิมยังให้คำแนะนำอีกว่า การใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานการระบาดของแมลงบั่วก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสียหายได้พันธุ์ข้าวที่แนะนำ ได้แก่ กข9 ขาวดอกมะลิ 105 พิษณุโลก 3 และพันธุ์ข้าวเหนียว ได้แก่ เหนียวสันป่าตอง เหมยนอง 62 และ กข6 เป็นต้น แต่การเปลี่ยนจากพันธุ์ที่เกษตรกรเคยใช้มาเป็นพันธุ์ต้านทาน คงต้องพิจารณาจากความต้องการและความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้วย ส่วนหากพื้นที่ใดที่เกิดการระบาดแล้ว สังเกตจากลักษณะของต้นข้าวที่ถูกทำลายจะแคระแกร็นเตี้ยลำต้นกลมสีเขียวเข้ม การแก้ไขในเบื้องต้นควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดดูดซึม เช่น คาร์โบฟูแรน หว่านในนาข้าวที่กำลังแตกกอ เพื่อป้องกันและกำจัดหนอนแมลงบั่วในต้นข้าวได้
  • การระบาดของแมลงบั่วขึ้นกับสภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศ การวางแผนการเพาะปลูกล่วงหน้าในแต่ละปีเป็นสิ่งที่เกษตรกรควรกระทำ ทั้งการเลือกพันธุ์ข้าวและการเลือกระยะการเพาะปลูก การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงบั่วควรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เกษตรกรจะปฏิบัติได้เพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเพื่อแนะนำเกษตรกรให้นำไปปฎิบัติ

เกษตรกรท่านใดต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยงานเกษตรใกล้บ้าน หรือติดต่อ
กลุ่มกีฎและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-5651

ที่มา:จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร ปีที่ 10 ฉบับที่ 11 เดือน ธันวาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา