15 ตุลาคม 2553

โรคแอนแทรคโนส ในมันสำปะหลัง

โดย รังษี เจริญสถาพร และ อมรรัชฏ์ คิดใจเดียว
สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร

ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง เนื่องจากฝนตกชุกติดต่อกันเช่นนี้ นอกจากจะพบการระบาดของโรคใบไหม้ และโรคใบจุดในมันสำปะหลัง แล้ว
อาจพบการระบาดของโรคแอนแทรคโนสในบางพื้นที่ด้วย

โรคแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides f.sp.manihotis

ลักษณะอาการโรค : มีอาการหลายแบบ ขึ้นอยู่กับพันธุ์มันสำปะหลัง สภาพแวดล้อม ได้แก่ ความชื้นหรือปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และส่วนของพืชที่เป็นโรค

ลักษณะอาการทั่วๆ ไป มีดังนี้ ลำต้นแก่ เป็นแผลที่มีขอบเขตแน่นอน สีน้ำตาลหรือสีดำ ถ้ามีปริมาณน้ำฝนมากหรือความชื้นสูงๆ แผลจะขยายตัว ลามขึ้นสู่ส่วนยอด

ลำต้นอ่อน แผลมีขอบเขตไม่แน่นอน สีน้ำตาลอ่อน เมื่อมีความชื้นสูงจะขยายตัวสู่ส่วนยอด ทำให้ยอดตายอย่างรวดเร็ว

ก้านใบ เป็นรอยไหม้ที่โคนก้านใบติดกับลำต้น และก้านใบส่วนที่ติดกับตัวใบหักลู่ลง ในที่สุดจะหลุดร่วงทั้งต้น

ใบ มีอาการไหม้ที่ขอบใบและปลายใบ ขยายตัวเข้าสู่กลางใบ ในที่สุดตัวใบจะไหม้หมด และหลุดร่วง

ถ้าเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอมาก จะยืนต้นตาย ส่วนพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรค ยอดจะหัก แต่สามารถแตกกิ่งหรือยอดใหม่ขึ้นมาทดแทนได้
บางพันธุ์จะพบโคนลำต้นที่ติดกับพื้นดิน มีลักษณะบวมพอง เปลือกลำต้นแตกเป็นริ้วๆ เมื่อเวลาลมพัดจะเปราะหักลงได้ง่าย

ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรครุนแรง :
ต้นมันสำปะหลังที่ขาดธาตุอาหาร โดยเฉพาะธาตุโปแตสเซียม และการให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากๆ ในช่วงฤดูที่มีปริมาณน้ำฝนสูงๆ

ช่วงเวลาที่พบโรค :
โรคจะบาดและมีอาการโรครุนแรงในช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน

การแพร่ระบาด :
ติดไปกับท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ ฝน ลม แมลง และอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ

ความเสียหายทางเศรษฐกิจ :
สายพันธุ์หรือพันธุ์มันสำปะหลังที่อ่อนแอต่อโรค และมันสำปะหลังที่เป็นโรคหลังจากมีอายุ 5 เดือน จะยืนต้นตาย ทำให้เสียหายมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

ส่วนสายพันธุ์หรือพันธุ์มันสำปะหลังที่ค่อนข้างทนทานต่อโรค ยอดจะเน่าตาย จะมีการเจริญเติบโตของกิ่งและยอดใหม่ ทำให้น้ำหนักของผลผลิตลดลงหรือการเก็บเกี่ยวล่าช้า ผลผลิตเสียหาย 30-40 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังมีผลต่อการนำไปเป็นท่อนพันธุ์ เนื่องจากท่อนพันธุ์จากต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคแอนแทรคโนส แตกหน่อใหม่เพียง 40-60 เปอร์เซ็นต์ และระยะเวลาการแตกหน่อจะช้ากว่าปกติ 7-8 วัน ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดจากต้นที่เป็นโรคจะงอกเพียง 20-40 เปอร์เซ็นต์

แนวทางการป้องกันกำจัด :
- การใช้พันธุ์ต้านทานโรค เป็นวิธีการป้องกันกำจัดที่ดีที่สุดและมีค่าใช้จ่ายต่ำสุด เท่าที่มีรายงานจากเอกสารต่างๆ พบว่า สายพันธุ์ TME 30001, 30211, 91/00684 และ 91/00313 สามารถต้านทานต่อโรคนี้ได้

ส่วนในประเทศไทย การปลูกมันสำปะหลังที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคแอนแทรคโนสอย่างรุนแรง จึงยังมิได้ดำเนินการคัดพันธุ์ต้านทานต่อโรคนี้ แต่เท่าที่มีรายงานการระบาดของโรคแอนแทรคโนสอย่างรุนแรงในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน พันธุ์มันสำปะหลังที่แสดงอาการโรครุนแรง คือ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ระยอง 72 และ ระยอง 11(CMR 35-22-196 หรือ เขียวปลดหนี้)
จึงต้องควรเฝ้าระวังการระบาดของโรคในพันธุ์หรือสายพันธุ์ดังกล่าว รวมทั้งพันธุ์หรือสายพันธุ์ที่มีความใกล้ชิดกัน

- การจัดการด้านเขตกรรม (Cultural control) ได้แก่ การปลูกพืชหมุนเวียน การไถกลบฝังลึกๆ เศษซากมันสำปะหลังที่ติดเชื้อ และการใช้ท่อนพันธุ์ปลอดโรค ช่วยลดปริมาณเชื้อราสาเหตุในดินและลดการแพร่กระจายของโรคได้

การเลื่อนฤดูการเพาะปลูกมันสำปะหลัง เพื่อมิให้ระยะการเจริญเติบโตที่อ่อนแอต่อโรคตรงกับช่วงที่มีปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคสูงมากๆ คือ ช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำฝนมาก

ในประเทศไทย ควรปลูกมันสำปะหลังข้ามฤดูแล้ง เมื่อถึงช่วงที่มีการระบาดของโรคสูงๆ เดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมาก มันสำปะหลังที่ปลูกข้ามฤดูแล้ง จะมีอายุเกินระยะการเจริญเติบโตที่อ่อนแอต่อโรค ประมาณ 6 เดือนหลังปลูก แม้ว่าอายุการเจริญเติบโตช่วงนี้ จะมีการติดเชื้อโรคบ้าง แต่ไม่มีผลเสียหายต่อผลผลิตถึงระดับเศรษฐกิจ และที่ควรระวัง ต้องไม่นำต้นมันสำปะหลังที่ติดเชื้อโรคนี้ไปเป็นท่อนพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูถัดไป

- การใช้สารเคมี (Chemical control) ต้องใช้ในกรณีที่ไม่มีวิธีการใดสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว หรือโรคเกิดการระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ใช้สารเคมีประเภทที่มีองค์ประกอบของทองแดง (copper fungicide)
การใช้สารธรรมชาติทดแทนสารเคมี มีเอกสารต่างประเทศรายงานว่า การใช้สารสกัดจากสะเดา (Neem) กับท่อนพันธุ์ก่อนปลูก สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้

อาการบนใบ








อาการบนก้านใบ



อาการบนลำต้น


อาการที่ยอด



อาการยืนต้นตาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา