16 สิงหาคม 2553

จากพันธุ์ฝ้ายสู่เส้นด้ายและผืนผ้า

โดย ปริญญา สีบุญเรือง

พื้นที่ปลูกฝ้ายหายวับไปกับตามาหลายปีแล้ว
....... กลับมาพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ฝ้ายกันเถิด

อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากจะเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ที่มีความรับผิดชอบในเรื่องเรื่องงานวิจัยฝ้ายแล้ว ยังเคยเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายแหล่งใหญ่ของประเทศ

ฝ้าย...พืชต้นเล็กๆ แต่ปลูกและดูแลรักษายาก ต้องการความเอาใจใส่จากเจ้าของมากกว่าพืชชนิดอื่น จนมีคำกล่าวกันว่าหากเกษตรกรคนไหนเคยปลูกฝ้ายมาแล้ว ก็จะสามารถปลูกพืชได้ทุกชนิด ดังนั้น พื้นที่การปลูกฝ้ายของประเทศที่มีนับแสนไร่ ในช่วงปี 2540-2545 จึงค่อยๆเลือนหายไป จนเหลือเพียงไม่ถึงหมื่นไร่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากราคาฝ้ายที่ไม่แน่นอน และมีพืชแข่งขันชนิดใหม่ ๆ ที่ดูแลง่ายกว่า แต่ทำรายได้ที่ดีกว่า

ไทยจึงเป็นประเทศผู้นำเข้าฝ้ายมากอันดับที่ 6 ของโลก ฉะนั้นผู้ที่เคยปลูกฝ้ายมาแล้วควรภูมิใจ ที่ได้ช่วยประเทศในการรักษาเงินตรา มิให้รั่วไหลไปกับการซื้อปุยฝ้ายจากต่างประเทศ เพื่อผลิตเครื่องนุ่งห่มของเรา โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มที่อยู่ในวิถีการผลิตจากหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย แต่กลับไม่ได้ใช้ปุยฝ้ายที่ผลิตมาจากชุมชนของตนเอง

ในความจริงแล้ว เรายังมีฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 3 ซึ่งคัดเลือกมาจาก ฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่ง่ายต่อการปลูก และดูแลรักษา เนื่องจากมีลักษณะต้นขนไปขน และต่อมพิษที่มีจำนวนมาก ทำให้สามารถป้องกันแมลงศัตรูบางชนิดได้ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงตลอดฤดูปลูกเหมือนการปลูกฝ้ายทั่วไป จึงเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ปลูกฝ้าย และกลุ่มผู้ปั่นด้าย เพื่อผลิตวัตถุดิบให้แก่กลุ่มผู้ทอผ้าในหมู่บ้านเดียวกันหรือต่างหมู่บ้าน

จากวิกฤตการณ์โลกร้อน ซึ่งร้อนจนสามารถสัมผัสได้ถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติในชีวิตประจำวัน ผ้าฝ้ายคือวัสดุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำวัน ทั้งนี้เพราะผ้าฝ้ายสามารถดูดซับเหงื่อได้ดี และสามารถระบายความร้อนออกจากเส้นใยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดการหมักหมมที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองผิวหนังผู้สวมใส่ อีกทั้งผ้าฝ้ายที่ย้อมด้วยคราม หรือต้นฮ่อมจนเป็นสีน้ำเงิน สามารถปกป้องรังสียูวีจากแสงแดดได้ดีที่สุด

เกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใด สนใจที่จะปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 3 สามารถติดต่อสอบถามและเยี่ยมชมแปลงฝ้าย พร้อมกระบวนการปั่นด้าย ทอผ้า ได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา