20 กรกฎาคม 2560

ผลของอายุเก็บเกี่ยวที่มีต่อผลผลิตและปริมาณแป้งมันสำปะหลัง

โดย วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ และโอภาษ บุญเส็ง

การศึกษาผลของอายุเก็บเกี่ยวที่มีต่อผลผลิตและปริมาณแป้งในหัวสดของมันสำปะหลังที่ปลูกในดินเหนียวสีดำ ชุดลพบุรี

วางแผนการทดลองแบบ Split plot มี 3 ซ้ำ ปัจจัยหลักประกอบด้วยพันธุ์มันสำปะหลัง 4 พันธุ์ คือ ระยอง 5 ระยอง 7 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 ปัจจัยรองประกอบ 6 อายุเก็บเกี่ยว ที่อายุ 8, 10, 12, 14, 16 และ 18 เดือน ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ในปี พ.ศ. 2547-2549 โดยปลูกมันสำปะหลังในช่วงต้นและปลายฤดูฝนปี พ.ศ. 2547 และต้นฤดูฝนปี พ.ศ. 2548 ระยะปลูก 1.0x1.0 ม.

ผลการทดลอง พบว่า ผลผลิตของมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บเกี่ยว และการปลูกต้นฤดูฝนให้ผลผลิตสูงกว่าปลายฤดูฝน  การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุเก็บเกี่ยว 18 เดือน ทั้งในช่วงต้นและปลายฤดูฝน ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าการเก็บเกี่ยวที่อายุ 10 เดือน ถึง 123 และ 105 % ตามลำดับ  โดยพันธุ์   ห้วยบง 60 ให้ผลผลิตสูงที่สุดเมื่อปลูกต้นฤดูฝน พันธุ์ระยอง 7 ให้ผลผลิตสูงที่สุดเมื่อปลูกปลายฤดูฝน

ในส่วนของปริมาณแป้งในหัวสด พบว่า ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมขณะที่ทำการเก็บเกี่ยว และระยะการเจริญเติบโต โดยมีปริมาณแป้งเฉลี่ยสูงที่สุดในช่วงเดือนมกราคม ปริมาณแป้งเริ่มลดในเดือนมีนาคม และมีปริมาณต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นปริมาณแป้งจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น แม้ในช่วงเดือนกันยายนที่มีฝนตกหนัก ยังมีปริมาณแป้งสูงถึง 25 % และปริมาณจะขึ้นสูงสุดที่เดือนมกราคมอีกครั้ง

ฝนตกชุก โรคกาบและใบไหม้ในข้าวโพด ระบาดรุนแรง

การระบาดขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม  ในสภาพที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน ส่งผลให้ความชื้นสูง มักพบการระบาดของโรคกาบและใบไหม้ (banded leaf and sheath blight) ในข้าวโพด ค่อนข้างรุนแรง

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani Kuhn.

ลักษณะอาการ
กาบหุ้มที่โคนต้นมีรอยฉ่ำน้ำสีเขียวอมเทา เน่ากลายเป็นสีน้ำตาล ลุกลามไปยังกาบของลำต้นที่อยู่สูงขึ้นไป และขยายไปสู่โคนใบ ทำให้ใบไหม้ขยายไปตามทางยาวของใบ เมื่อแสงแดดจัด ความชื้นน้อยเชื้อราก็จะหยุดการเจริญ จึงเห็นเป็นแผลแห้งเหมือนแดดเผา มีขอบสีน้ำตาลขวางตามใบเป็นชั้น ๆ เมื่อถึงเวลากลางคืนอากาศเย็นความชื้นสูง แผลก็ขยายไหม้ลามต่อไปตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา จึงเห็นใบข้าวโพดที่เป็นโรคนี้เป็นลายคราบตามขวางของใบเป็นชั้นคล้ายคราบงู จะพบเส้นใยของเชื้อราบนส่วนที่เป็นโรค

การแพร่ระบาด
สาเหตุของการเกิดโรคและแพร่ระบาดคือเม็ดสเคลอโรเทีย (sclerotia) ของเชื้อซึ่งอยู่ในดินและซากหญ้า พืชอาศัยที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียงข้าวโพด การระบาดของโรคไปยังต้นอื่นๆ โดยการสัมผัสของใบที่เป็นโรคกับส่วนต่าง ๆ ของต้นปกติ
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ พบการเกิดโรคน้อย

การป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์และปราศจากโรค
2. หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอในระยะต้นข้าวโพดอายุได้ 40-50 วัน เมื่อพบโรคระบาดให้ถอนและเผาทำลาย ในระยะออกฝัก หากพบฝักเป็นโรคมีเม็ดเชื้อราสาเหตุลักษณะคล้ายเม็ดผักกาด เมื่อเก็บไปทำลายพยายามอย่าให้เม็ดเชื้อราร่วงหล่นในแปลงเพราะจะแพร่โรคต่อไป
3. ทำลายเศษเหลือของต้นข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว ก่อนปลูกฤดูต่อไปให้ไถพลิกดินขึ้นมาตากแดดหลาย ๆ ครั้ง เติมอินทรีย์วัตถุในแปลงปลูก เตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี
4. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่น  วางแนวของแถวปลูกทิศทางเดียวกับลม เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
5. ลดการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง
ุ6. ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัย พืชอาศัยของโรคนี้ได้แก่ ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วต่าง ๆ และอ้อย
7. เพิ่มอินทรีย์วัตถุในแปลงปลูกและเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น Trichoderma harzianum จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถเจริญแข่งขันและย่อยสลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคนี้ได้


เชื้อสาเหตุ : Rhizoctonia solani






การระบาดของโรคสู่ต้นข้างเคียง โดยใบจากต้นเป็นโรคสัมผัสกับใบของต้นปกติ





ในสภาพที่ความชื้นสูง จะพบเส้นใยของเชื้อสาเหตุบนส่วนของพืชที่เป็นโรค แล้วพัฒนาเป็น sclerotia ซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อ

ลักษณะ sclerotia ของเชื้อสาเหตุ

- - - - -
ข้อมูล:เอกสารวิชาการโรคข้าวโพด กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร

เนื้อหา