2 พฤศจิกายน 2552

กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวังวัตถุอันตราย 2 ชนิด

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังติดตามและเฝ้าระวังวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไดโครโตฟอส และ สารทู, โฟร์-ดี เนื่องจากเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและต่อสิ่งแวดล้อม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรเฝ้าติดตามและตรวจสอบสารไดโครโตฟอส และสารทู, โฟร์-ดี อย่างเข้มงวดทั้งในโรงงานผลิต ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งในแปลงของเกษตรกรซึ่งมีการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตรยังได้เร่งศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาประกาศให้สารเคมีทั้ง 2 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และห้ามมีไว้ในครอบครอง เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสารเคมีต้องห้ามตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายจำนวน 96 ชนิด

สารไดโครโตฟอส เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้กำจัดเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยกระโดด หนอนม้วนใบ หนอนกระทู้กล้า หนอนกอ หนอนเจาะลำต้น หนอนใยผัก บั่ว มวนเขียว ด้วงเจาะสมอและไรชนิดต่างๆ ซึ่งภายหลังจากการใช้สารนี้ 8 ชั่วโมง สารจะถูกดูดซึมเข้าไปในต้นพืชมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และสามารถออกฤทธิ์อยู่ได้นานถึง 7-21 วัน รวมทั้งหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างปนเปื้อนในผลผลิต

สารทู, โฟร์-ดีเป็นสารในกลุ่มเดียวกับสารทู, โฟร์, ไฟว์-ดี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ในสงครามเวียดนามหรือที่เรียกว่าฝนเหลือง ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์แล้วยังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานมาก เกษตรกรนำไปใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย หน่อไม่ฝรั่ง และบริเวณที่ไม่ได้ทำการเกษตร ซึ่งจากรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพบว่าเป็นสารที่มีพิษค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงต้องรวบรวมข้อมูลให้คระกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกและออกประกาศห้ามใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ย้ำในตอนท้ายอีกว่า นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรใหม่ โดยบริษัทต้องดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพกับพืชที่ปลูกในไร่นาว่าเป็นไปตามคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้หรือไม่ และยังต้องมีข้อมูลการทดสอบด้านพิษวิทยามาประกอบการขึ้นทะเบียน ห้ามใช้ข้อมูลของบริษัทอื่นมาอ้างอิงโดยเด็ดขาด

ที่มา : จดหมายข่าวเพื่อนเกษตร ปีที่ 5 ฉบับที่ 55 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหา